ก่อนตัดสินใจลงทุนกองทุนรวมทุกครั้ง คุณจะต้องอ่านข้อมูลหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุนรวม หรือเรียกว่า Fund Fact Sheet ซึ่ง Fund Fact Sheet นี้ จะเป็นการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการลงทุน ลักษณะผลตอบแทน ความเสี่ยงเงื่อนไขต่างๆของกองทุนรวม และข้อมูลสำคัญที่ควรทราบทั้งหมดในกองทุนรวม
วันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯและคุณกชพร คะสุวรรณ จึงขอแนะนำสำหรับการอ่าน Fund Fact Sheet เริ่มจาก คุณกำลังจะลงทุนในอะไร เช่น กองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสมและเพื่อให้รู้ว่า กองทุนรวมนี้มีกลยุทธ์การบริหารกองทุนแบบเชิงรุกหรือเชิงรับจากนั้น ดูว่ากองทุนรวมนี้เหมาะกับใครหรือเหมาะกับคุณหรือไม่เหมาะกับคุณ เหตุผลข้อนี้ เพื่อให้คุณและผู้ลงทุน ได้ประเมินตัวเองก่อนตัดสินใจลงทุนว่ากองทุนนั้นเหมาะกับตัวคุณหรือไม่
ดังนั้นคุณต้องระวังอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากกองทุนรวมนี้อาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จึงทำให้กองทุนมีความเสี่ยงมากกว่ากองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิงโดยตรง หน่วยลงทุนนี้จะนำไปจำหน่ายจ่าย โอน จำนำ หรือนำไปเป็นประกันไม่ได้ เป็นต้น
ขณะที่คะแนนความเสี่ยงกองทุนหรือระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมนั้นจะมีตั้งแต่ระดับ 1 ถึง 8 โดยความเสี่ยงระดับ 1 มีความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงระดับ 8 จะมีความเสี่ยงสูง เช่น หากระดับความเสี่ยงที่รับได้ของคุณอยู่ที่ระดับ 4 แสดงว่าสามารถลงทุนในกองทุนที่มีระดับคะแนนตั้งแต่ 1 - 4 และถ้าต้องการลงทุนความเสี่ยงระดับ 5 ขึ้นไป แสดงว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงเกินกว่าความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเอง
ส่วนปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ เพราะถ้ากองทุนรวมมีความเสี่ยงสูงจะมีค่ามาก เช่น ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวลงทุนในผู้ออกรายใดรายหนึ่ง หากมีค่ามากแสดงว่า มีการกระจุกตัวในผู้ออกมาก กองทุนรวมมีความเสี่ยงมาก สัดส่วนของประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุนจะเป็นข้อมูลแสดงรายละเอียดของกองทุนรวมว่าลงทุนในตราสารใดบ้าง โดยส่วนใหญ่จะแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ลงทุนและหลักทรัพย์หรือตราสารที่ไปลงทุนที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก
ค่าธรรมเนียมนั้น ข้อมูลนี้จะแสดงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในการบริหารกองทุน แบ่งเป็น ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากตัวกองทุนรวม (Total Expense Ratio) เป็นค่าใช้จ่ายคิดเป็น % ต่อปีของ NAV โดยจะถูกคำนวณแล้วหักออกทุกวัน ก่อนจะมาเป็น NAV ให้ซื้อขายกัน ส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกองทุนรวม ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee Fee) ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ค่านายทะเบียนหน่วยลงทุน ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์กองทุน ค่าผู้สอบบัญชี ค่าใช้จ่ายในการจัดทำและแจกจ่ายหนังสือชี้ชวน เป็นต้น และค่าธรรมเนียมเก็บจากนักลงทุนโดยตรง เป็นค่าธรรมเนียมที่เกิดจากการทำรายการต่างๆ ของผู้ถือหน่วยลงทุน เช่น ค่าธรรมเนียมจากการขายหน่วยลงทุน (Front-end-fee) จะถูกบวกเข้าไปกับมูลค่าหน่วยลงทุนเมื่อซื้อหน่วยลงทุน และค่าธรรมเนียมรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (Back-end-fee) เป็นค่าธรรมเนียมที่ถูกเรียกเก็บเมื่อขายหน่วยลงทุนคืนให้ บลจ. โดยจะถูกหักจากเงินที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนและค่าธรรมเนียมสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนจะถูกเก็บเมื่อมีการสับเปลี่ยนกองทุนทั้งใน บลจ. เดียวกัน หรือต่างบลจ.
ด้านผลการดำเนินงานจะเป็นข้อมูลที่แสดงผลการดำเนินงานย้อนหลังที่ผ่านมาของกองทุนรวมเทียบกับดัชนีชี้วัด ซึ่งจะแสดงผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน, 6 เดือน, 1 ปี, 3 ปี, 5 ปี, 10 ปี และตั้งแต่จัดตั้งกองทุนโดยการเปรียบเทียบกองทุนรวมว่ากองทุนรวมไหนมีผลการดำเนินงานที่ผ่านมาดีกว่านั้น ต้องเทียบกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนแบบเดียวกันและช่วงเวลาเดียวกัน
โดยใน Fund Fact Sheet จะบอกวันที่คำนวณผลตอบแทนย้อนหลังเอาไว้ เช่น ผลการดำเนินงานย้อนหลังแบบปักหมุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 ที่สำคัญผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ส่วนข้อมูลอื่นๆนั้นจะเป็นการแสดงรายการที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบายการจ่ายเงินปันผล จำนวนขั้นต่ำในการซื้อขาย เวลาเปิดและปิดทำการ การทำรายการซื้อ ขาย สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน รายชื่อผู้จัดการกองทุนและข้อมูลเพื่อติดต่อสอบถาม เป็นต้น
ดังนั้นก่อนคุณตัดสินใจลงทุนกองทุนรวม ควรอ่านและศึกษาข้อมูลกองทุนรวมใน Fund Fact Sheet ก่อนทุกครั้ง และคุณต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ ซึ่งอาจจะใช้เวลาไม่กี่อึดใจก็เห็นภาพรวมของกองทุนนั้นได้เมื่อทำการอ่านข้อมูลเสร็จ ก็สามารถตัดสินใจได้ว่าควรลงทุนกองทุนนั้นหรือไม่ ง่ายแค่นี้เอง อย่าลืมนะจะบอกให้
ข่าวเด่น