เดือนม.ค.กำลังจะผ่านไป แต่เรียกได้ว่าเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นสะบักสะบอมมาก เจอหลากหลายปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศกันเลยทีเดียว ส่งผลให้ Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยมากสุดในภูมิภาคกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท (ytd) รวมทั้งมีประเด็นไวรัสโคโรนาระบาดเข้ามาผสมโรงด้วย หากยืดเยื้อจะกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้สำคัญของไทย
สำหรับสถานการณ์ไวรัสโคโรนาระบาด ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อ 7,817 ราย มีผู้เสียชีวิต 170 ราย เห็นได้ว่าอัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง ล่าสุดอยู่ที่ 2.17% จากเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่อยู่ในระดับเกือบ 3%
การระบาดของไวรัสโคโรนา \กดดันให้ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง ล่าสุดขยับขึ้นไปแตะ 31 บาทต่อดอลลาร์ และยังสอดคล้องกับสถิติในอดีต ที่เวลาเกิดโรคไวรัสระบาด ค่าเงินบาทมักจะอ่อนค่าเสมอ เช่น ช่วงที่เกิดโรคซาร์ ค่าเงินบาทอ่อนค่า 1% ในระยะเวลา 6 เดือน, ช่วงที่เกิดโรคเมอร์ส ค่าเงินบาทอ่อนค่า 3.9% ระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน ขณะที่ล่าสุดไวรัสโคโรนา ทำให้เงินบาทออ่อนค่ามาแล้วกว่า 3.6% ในเวลาไม่ถึง 1 เดือน
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส หรือASPS มองว่ายิ่งไวรัสโคโรนาระบาดและขยายวงกว้างนานเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลให้ต่างชาติลังเลที่จะเข้ามาลงทุนในหุ้นไทย เพราะหากเงินบาทอ่อนค่า ต่างชาติมีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ประเด็นนี้สอดคล้องกับสถิติในอดีตย้อนหลัง 5 ปี คือ ทุกๆค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกิน 1% จะส่งผลให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทย เฉลี่ยราว 8.5 พันล้านบาท กดดันให้ SET Index ขึ้นได้จำกัด
ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ แนะนำหุ้นปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า เลือก CPF และ TU เป็ น Top picks ในวันนี้
โดย CPF ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงช่วงที่ผ่านมา จากความกังวลไวรัสโคโรนาที่แพร่ระบาดในจีน ซึ่งสัดส่วนรายได้ของ CPF ในจีนราว 24% ของรายได้รวม อย่างไรก็ตามสัดส่วนรายได้ในจีนส่วนใหญ่มาจากอาหารสัตว์เป็นหลักกว่า 20% อีก 4% เป็นฟาร์มไก่ อีกทั้งโรงงานของ CPF มีการกระจายอยู่ทั่วจีนและล่าสุดยังไม่มีโรงงานใดหยุดผลิต ขณะที่แนวโน้มกำไรปกติงวดไตรมาส1/63 จะเติบโตโดดเด่นจากไตรมาส 4 ปี 2562 หลักๆมาจากราคาหมูในไทยฟื้นตัวโดดเด่น เช่นเดียวกับราคาหมูเวียดนามที่ทรงตัวสูงมาก ส่งผลบวกต่อ CPF เต็มที่ในไตรมาส 1 ปี2563 ราคาหุ้นปัจจุบันมีค่า PER ปี 2563 เพียง 12 เท่า และคาดหวัง Dividend yield เฉลี่ย 3% ต่อปี
ส่วน TU เป็นหุ้นส่งออกอาหารขนาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนรายได้ในจีนน้อยมากไม่ถึง 1% ของรายได้รวม เป็นช่วงเริ่มต้นของการทำการตลาดในจีน คาดกระทบจำกัดจากไวรัสโคโรนา โดยธุรกิจทูน่าและกุ้งฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2563 จากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวขึ้น เช่น ราคาวัตถุดิบทูน่าเฉลี่ยเดือนธ.ค. 2562 อยู่ที่ 1.1 พันดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 16.7% mom ถือเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน คาดกำไรสุทธิปี 2563 จะฟื้นตัวถึง 38.6% yoy รวมทั้งยังได้ปัจจัยหนุนจากเงินบาทกลับมาอ่อนค่ากว่า 3.6%ytd ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบัน มีค่า PER ปี 2563 เพียง 13 เท่า ซึ่งค่าเฉลี่ยกลุ่มอยู่ที่ 16 เท่า และคาดหวัง Dividend yield เฉลี่ยสูงถึง 4% ต่อปี
ข่าวเด่น