ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาร้อนแรงเมื่อวานนี้หลังจากที่ปัจจัยกดดันเริ่มผ่อนคลายทั้งเรื่องของไวรัสโรนา (COVID19) และพ.ร.บ.งบประมาณที่อาจเบิกจ่ายได้เร็วกว่าที่คาดไว้ แต่วันนี้เรื่องของ COVID19 กลับมากดดันหุ้นอีกครั้ง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อเช้านี้สูงกว่าที่คาดกันไว้ ทั้งนี้จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID19 พลิกกลับมาเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าความคาดหมาย เช้านี้มากถึง 60,161 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 1,365 ราย ตัวเลขดังกล่าวจะทำให้ความกังวลกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งและอาจทำให้ Fund Flow ไหลกลับสู่สินทรัพย์ปลอดภัยอีกครั้ง
เมื่อมามองด้านเศรษฐกิจของไทยยังพบสัญญาณการชะลอตัวต่อเนื่อง ล่าสุดรองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่าในไตรมาส 1 ปี 2563 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบทั้งเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า การระบาดของ COVID19 รวมถึงภัยแล้ง อาจกดดันให้ GDP Growth ไตรมาส 1 ปี 2563 โตต่ำกว่า 1%
ดังนั้นรัฐต้องเร่งหามาตรการกระตุ้น เฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคครัวเรือน ขณะที่ฝ่ายวิจัยฯได้ออกบทวิเคราะห์ นำเสนอเรื่องการปรับลดประมาณการ GDP Growth ปี 2563 ไปแล้ว โดยปรับลดจากคาดโต 2.8% เหลือโต 2% โดยหากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2563 ออกมาตํ่ากว่า 1% จริง ก็จะกลายเป็นความท้าทายให้ช่วงที่เหลือของปี 2563 รัฐบาลต้องเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจให้มากขึ้น
กลับมามองที่ SET Index การบวก 15.91 จุด เมื่อวานนี้ ทำให้ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส หรือ ASPS เชื่อว่ามีโอกาสที่จะถูกขายทำกำไร โดยหุ้นที่เป็นเป้าหมายถูกขายทำกำไรและต้องระมัดระวัง ก็คือหุ้นที่ราคาปรับขึ้นมามากจนราคาหุ้นปัจจุบันสูงกว่า Fair Value
ฝ่ายวิจัยฯจึงได้คัดกรองหุ้นที่ราคาปรับตัวขึ้นมาร้อนแรงเกินปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งต้องเฝ้าระวังอาจถูกขายทำกำไรได้ โดยมีเกณฑ์ในการคัดกรอง คือ เป็นหุ้นที่ฝ่ายวิจัยฯไม่ได้แนะนำซื้อ , Upside ติดลบ และผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี ขึ้นแรงกว่าตลาดมาก โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นหุ้นในกลุ่มเช่าซื้อ กลุ่มโรงไฟฟ้าและกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น (ดังตาราง) ฝ่ายวิจัยฯได้วิเคราะห์ความเสี่ยงหุ้นที่จะถูกขายทำกำไรเป็นรายกลุ่มดังนี้ กลุ่มเช่าซื้อ การลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของธปท.ช่วงที่ผ่านมา ทำให้หุ้นกลุ่มเช่าซื้อปรับตัวขึ้นตั้งแต่กลางปี 2562 และ outperform ตลาดมาก เพราะคาดหวังกลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์จากต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง
จากหุ้นที่อยู่ในการศึกษาของฝ่ายวิจัยฯพบว่ามีหุ้นที่ปรับตัวขึ้นเกินมูลค่าพื้นฐาน ได้แก่ JMT , SINGER, SAWAD และ THANI ซึ่งหากจำแนกรายธุรกิจ พบว่ายังมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญแตกต่างกัน กลุ่มโรงไฟฟ้า ภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้นักลงทุนย้ายเงินไปลงทุนในหุ้นที่มีรายได้มั่นคงผันผวนต่ำ โดยหุ้นโรงไฟฟ้าได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หากดูจากมูลค่าพื้นฐานสิ้นปี 2563 ราคาหุ้นโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ค่อนข้างเต็มมูลค่ามี upside จำกัด และราคาหุ้นปัจจุบันมี Dividend Yield ลดลงหลือเฉลี่ยต่ำกว่า 3% ต่อปี จากในอดีตที่สูงกว่า 5% จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าบางตัวที่ Valuation ค่อนข้างเต็มมูลค่าพื้นฐาน ทั้ง GULF และ BGRIM
กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ประเด็นไวรัสโคโรนากดดันให้คนงานกลับมาทำงานน้อย โดยเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2563 HANA แจ้งว่าปัจจุบันโรงงานเจียซิง ที่จีนรายได้คิดเป็น 18% ของรายได้รวม ได้กลับมาผลิตแล้วตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. 2563 หลังหยุดผลิตไป 2 สัปดาห์ รัฐบาลจีนได้ออกกฎระเบียบให้พนักงานที่อยู่ที่จังหวัดอื่นหากจะกลับมาทำงานที่โรงงานเจียซิงของ HANA จะต้องถูกกักบริเวณเป็นเวลา 14 วัน ทำให้ปัจจุบันพนักงานของ HANA ยังกลับมาทำงานได้ไม่ถึง 10% เพราะมีปัญหาด้านการเดินทาง ทำให้ HANA ประเมินว่าใน 2 สัปดาห์นี้ (วันที่ 10-24 ก.พ. 63) โรงงานเจียซิงจะผลิตได้ไม่เกิน 30%ของกำลังการผลิตของโรงงานเจียซิง ฝ่ายวิจัยฯมองว่าโรงงานผลิตชิ้นส่วนฯและโรงงานประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในจีน จะได้รับผลกระทบคล้ายกับโรงงานเจียซิงของ HANA ซึ่งจะกระทบต่อผู้ประกอบการชิ้นส่วนฯในไทยด้วย ถือเป็น downside ต่อประมาณการกำไรกลุ่มฯในปี 2563 โดยผู้ประกอบการชิ้นส่วนฯไทยมีรายได้จากจีน ดังนี้ HANA 18%, DELTA 14%, KCE 10%, SVI 5%
ข่าวเด่น