แม้ว่าภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในปี 2562 ที่ผ่านมาจะเริ่มฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้นด้วยการปิดตัวเลขที่ 124,267 ล้านบาท เติบโต 3% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 120,885 ล้านบาท แต่ในด้านของสื่อทีวีก็ยังดูเหมือนจะยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากภาพรวมยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว เพราะสินค้าส่วนใหญ่มีการโยกงบไปใช้สื่อออนไลน์และสื่อใหม่ๆ เนื่องจากเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ทีวีดิจิทัลหลายช่องและเหมือนจะเป็นส่วนใหญ่ที่ยังคงมีผลประกอบการในปี 2562 อยู่ในภาวะขาดทุน แม้จะนำกลยุทธ์ใหม่ๆเข้ามาใช้ เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้ชมแต่ก็ดูเหมือนว่าจะช่วยไม่ได้มากนัก เห็นได้ชัดก็การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของช่อง 3
ในปี 2562 ที่ผ่านมานอกจากจะมีการดึงตัวแม่ของวงการสื่ออย่าง "อริยะ พนมยงค์" เข้ามานั่งเป็นแม่ทัพในการขับเคลื่อนธุรกิจสื่อของช่อง 3 แล้ว ปีที่ผ่านมาช่อง 3 ก็ได้มีการคืนช่องทีวีดิจิทัลให้กับสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ไปจำนวน 2 ช่อง คือ ช่อง 3SD และช่อง 3family เพื่อลดปัญหาการขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจดังกล่าว
ทั้งนี้เห็นได้จากการออกมาประกาศผลประกอบการของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 ที่ออกมาระบุว่า มีกำไรสุทธิ 94 ล้านบาทแต่หากหักรายได้จากการคืนใบอนุญาต จำนวน 44 ล้านบาท จะยังมีผลขาดทุน 241 ล้านบาท เนื่องจากเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมทีวีชะลอตัวและการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้รายได้จากค่าโฆษณาอยู่ที่ 1,685 ล้านบาท ลดลง 23.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
จากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ภาพรวมผลประกอบการของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) ในปี 2562 ที่ออกมาชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2563 ที่ผ่านมาว่า ทั้งปีมีรายได้ขาดทุนอยุ่ที่ 397.2 ล้านบาท เป็นการขาดทุนต่อเนื่อง และมากกว่าปี 2561 ถึง 20% เนื่องจากปีดังกล่าวมีการขาดทุนเพียง 330.2 ล้านบาทเท่านั้น เพราะมีรายได้จากค่าโฆษณาทั้งปีอยู่ที่ 6,743.5 ล้านบาท ลดลงประมาณ 21% เมื่อเทียบกับปี 2561 หรือลดลงประมาณ 1,899.9 ล้านบาท เนื่องจากปี 2561 มีรายได้จากการขายโฆษณาอยู่ที่ 8,643.4 ล้านบาท
ขณะเดียวกันในส่วนของผลประกอบการบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในปี 2562 ที่ผ่านมาก็ประสบกับปัญหารายได้ลดลงเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมาได้ออกมาชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ภาพรวมได้ปี 2562 ที่ผ่านมามีรายได้รวมอยู่ที่ 2,771.66 ล้านบาท ลดลง 23% จากปี 2561 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 3,594.28 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากกลุ่มทีวี รายได้จาดค่าโฆษณาของช่องเวิร์คพอยท์ช่องทางออนไลน์ รายได้จากการให้เช่าเวลา และรายได้จากการขายลิขสิทธิ์รายการไปต่างประเทศลดลง 26% จาก 2,068.24 ล้านบาท ในปี 2561 ปรับลดลงเหลือ 2,193.10 ล้านบาท ในปี 2562
เช่นเดียวบริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด(มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจช่องโมโน 29 ที่ทนผิดบาดแผลไม่ไหว เนื่องจากช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 ที่ผ่านมามีผลขาดทุน 177.4 ล้านบาท โดยมีรายได้จากค่าโฆษณา 405.28 ล้านบาท ลดลง 7.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากไตรมาส 3 มีการแข่งขันที่รุนแรง จากการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงเม็ดเงินโฆษณาในช่วงดังกล่าว จึงทำให้ต้นปีที่ผ่านมามีการปลดพนักงานออกไปถึง 200 คน
ด้านบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แม้ว่าภาพรวมผลประกอบการปี 2562 จะมีรายได้รวม 2,968 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากปี 2561 เป็นผลมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล หมวดหมู่รายการสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ช่อง 14 MCOT Family และได้รับการยกเว้นการชำระค่าใบอนุญาตช่องรายการในหมวดหมู่รายการทั่วไป ระดับความคมชัดสูงในช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 แต่ในด้านของธุรกิจสื่อทีวีก็ยังคงต้องทำการบ้านอีกเยอะพอสมควร เนื่องจากเป็นธุรกิจหลักในการสร้างรายได้ แต่ภาพรวมรายได้ของธุรกิจทีวียังคงอยู่ที่ 679 ล้านบาท ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561
จากปัญหาที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องประสบดังกล่าวทำให้เริ่มมีผู้แสดงความจำนงค์ต่อ กสทช. เพื่อขอคลื่นช่อง เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ในขณะที่รายได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจำนวน 3-4 ช่อง เข้ามายื่นหนังสือยังสำนักงาน กสทช. เพื่อขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมใน 2 เรื่อง คือ 1.ขอให้ กสทช. ช่วยเหลือค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม เพื่อใช้เผยแพร่ภาพเป็นการทั่วไป (Must Carry) เพิ่มเติมจากเดิมที่กสทช.ได้ช่วยเหลือค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดินไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ กสทช.อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะช่วยเหลือได้หรือไม่ และหากช่วยเหลือแล้วจะกลายเป็นว่า กสทช.เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมากเกินไปหรือไม่
และ 2.ขอให้ กสทช.ปรับเปลี่ยนวิธีจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งปัจจุบันกสทช.จัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 2% จากรายได้ แต่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลขอให้เปลี่ยนเป็นจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 2% จากกำไรได้หรือไม่ คือ ให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมเฉพาะผู้ประกอบการที่มีกำไรเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการที่ขาดทุนไม่ต้องเก็บ ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพิจารณาเช่นกัน
นายฐากร กล่าวว่าที่ผ่านมาทีวีดิจิทัลหลายช่องได้รับผลกระทบพอสมควร อย่างเช่น ช่องโมโน ที่มีการปรับลดคน ไม่ใช่ว่าช่องของเขาขาดทุนเยอะ แต่เป็นเพราะว่าเขามีพนักงาน 1,000 กว่าคนที่ต้องจ่ายเงินเดือน ในขณะที่รายได้ของเขาลดลงเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาอยู่ไม่ได้ เขาจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีเอาท์ซอร์ซแทนให้คนกลุ่มอื่นเข้ามาทำแทน เพื่อทำให้ธุรกิจที่ทำเดินต่อไปได้ เพราะถ้าเขายังจ้างพนักงานอยู่อย่างนี้ธุรกิจอาจไปต่อไม่ได้ ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เชื่อว่าในเร็วๆนี้น่าจะมีทีวีดิจิทัลอีกประมาณ 2-3 ช่อง เลิกจ้างพนักงานอีก เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในขณะที่รายได้รับมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ข่าวเด่น