หุ้นทอง
เป้าหมายดัชนีหุ้นไทยควรอยู่ระดับไหนคาดปลายปีนี้อยู่ที่"ระดับ 1,455 จุด"


การลงทุนทั่วโลกในปีนี้ถือว่ามีความยากลำบาก เนื่องจากต้องเผชิญแรงกดดันหนักๆจากประเด็น COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและกระทบตลาดหุ้นทั่วโลกเช่นกัน โดยดัชนีหุ้นไทย ช่วงที่ผ่านมายอมรับว่ามีการปรับฐานลงแรงจนล่าสุดดัชนีหุ้นไทยลงมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 1,400 จุด

 
 
 
 
ดังนั้นจึงมีคำถามว่า ณ ปลายปี 2563 นี้ เป้าหมายดัชนีหุ้นไทยควรจะอยู่ที่ตรงไหนกันแน่ วันนี้จึงนำบทวิเคราะห์จากฝ่ายวิจัยลบ.เอเซีย พลัส หรือ  ASPS ที่ศึกษาเรื่องนี้มานำเสนอ โดยฝ่ายวิจัยฯได้รวบรวมตัวเลขกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) งวดปี 2562 ที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯเกือบครบแล้ว คิดเป็น 98%ของมูลค่าตลาดรวม มีกำไรสุทธิ 9.39 แสนล้านบาท ลดลง 3. 3% yoy ซึ่งใกล้เคียงกับฝ่ายวิจัยฯประเมิน แต่เนื่องจากกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีโอกาสชะลอตัวลง จึงต้องปรับประมาณการกำไรบจ.ปี 2563 ให้สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
 
 
 
 
ฝ่ายวิจัยฯได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยหลักๆกลุ่มที่ถูกปรับลดประมาณการกำไร ได้แก่ กลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมี (PTT  PTTGC IVL TOP BANPU) รวมกำไรที่ปรับลงราว 6.1 หมื่นล้านบาท ถูกกดดันจาก Spread ปิโตรฯที่อยู่ระดับต่ำ
 
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (SCB BBL KBANK) รวมกำไรที่ปรับลงราว 1.3 หมื่นล้านบาท ถูกกดดันจากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ บวกกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงมีความเสี่ยงที่จะอาจมีการลดดอกเบี้ยลงอีกในช่วงที่เหลือของปี
 
กลุ่มสื่อสาร (ADVANC TRUE INTUCH DTAC) ถูกกดดันจากต้นทุนการประมูลคลื่น 5G ที่เพิ่มขึ้น รวมกำไรที่ปรับลงราว 1.0 หมื่นล้านบาท, กลุ่มการบินและท่องเที่ยว (THAI AOT AAV) รวมกำไรที่ปรับลง 3.1 หมื่นล้านบาท
 
ขณะที่บจ.ที่ถูกปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 เช่น กลุ่มอาหารส่งออก อย่าง CPF ปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรขึ้น 3.5 พันล้านบาท จากแรงหนุนค่าเงินบาทที่อ่อนค่า, ราคาหมูที่ปรับตัวขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับสูง
 
กลุ่มพลังงานบางบริษัท (BGRIM GULF PTTEP) รวมกำไรที่ปรับขึ้นราว 1.6 พันล้านบาท ได้แรงหนุนจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสมมุติฐานเดิม, กองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ปรับกำไรขึ้น 1.5 หมื่นล้านบาท จากการประเมินมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น

 
โดยภาพรวมขณะนี้ ฝ่ายวิจัยฯปรับลดประมาณการกำไรบจ.ปี 2563 ลงสุทธิ 8.3 หมื่นล้านบาทมาที่ 9.18 แสนล้านบาทลดลง 8.2% จากประมาณการเดิม ส่งผลให้คาดการณ์ EPS ปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ 85.6 บาทต่อหุ้น จากเดิมคาดที่ 95.71 บาทต่อหุ้น
 
การปรับลดประมาณการบจ.ถือเป็นความเสี่ยงของตลาดหุ้นที่ต้องติดตาม แต่หากวิเคราะห์ Valuation ปัจจุบัน บน Market Earning Yield Gap ภายใต้คาดการณ์ EPS ปี 2563 ที่  85.6 บาทต่อหุ้น พร้อมกับใช้ Bond Yield 1 ปี ปัจจุบัน ที่ 0.89% จะได้ Market Earning Yield Gap ช่วง 5.5% ถือว่ากว้างมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 4.28% และอยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงเศรษฐกิจถดถอยในปี 2556
 
 
 
โดยหากประเมินเป้าหมายของดัชนีหุ้นไทยให้ตลาดกลับมาซื้อขายกันบน Market Earning Yield Cap แบบอนุรักษ์นิยมที่ระดับ 5% (ค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 4.28%) ขณะที่ Bond Yield ที่อยู่ในระดับต่ำมากตามกลไกจะหนุนให้ตลาดหุ้นซื้อขายบน P/E ที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 17 เท่า ทำให้เป้าหมาย SET Index ปลายปี 2563 จะอยู่ 1,455 จุด ลดลงจากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 1579 จุด ซื้อขายบน P/E ที่ 16.5 เท่า
 
 
 
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในเดือนมี.ค.นี้ ฝ่ายวิจัยฯแนะนำให้สะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง มีแนวโน้มกำเติบโตโดดเด่นเหนือตลาด อย่าง BJCHI, CHG, CPALL, CPF, INTUCH และ MCS เป็นต้น ส่วนหุ้นที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุน คือ หุ้นที่ Over Value อย่าง TKN และ HANA เป็นต้น

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 มี.ค. 2563 เวลา : 17:02:24
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 2:54 am