หุ้นทอง
Fed ลดดอกเบี้ยแรงแบงก์ชาติคงหนีไม่พ้นต้องลดตาม


ผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ที่กระจายไปทั่วโลก มิหนำซ้ำยังมีแนวโน้มยืดเยื้ออาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต่างทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

 
ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ทำเซอไพรส์อย่างมาก โดยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนอกรอบ ก่อนการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 18-19 มี.ค.2563 โดยปรับลดดอกเบี้น 50bps มาอยู่ที่ 1.25% เพื่อรองรับผลกระทบจาก COVID-19
 
 
 
 
ฝ่ายวิจัยบล.เอเซียพลัส หรือ ASPS เห็นว่าการลดดอกเบี้ยของ Fed ในรอบนี้ เป็นการลดแบบฉุกเฉิน จึงเชื่อว่า Fed เร่งปรับลดดอกเบี้ย ก่อนที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเกิดภาวะถดถอย ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าทุกครั้งตลาดหุ้นจะตอบรับเชิงบวกต่อการปรับลดดอกเบี้ยก่อนและจะปรับฐานลงตามมา หากแนวโน้มเศรษฐกิจเกิดชะลอกว่าคาด ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2551 ก่อนเกิดวิกฤตซัพไพรม์ พบว่า Fed ปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉินถึง 3 ครั้ง ซึ่งตลาดหุ้นสหรัฐฯก็ฟื้นตัวขึ้นก่อน แต่ในที่สุดก็ปรับฐานลงแรง 
 
 
 
 
ในสถานการณ์เช่นนี้ไม่เพียงแค่สหรัฐฯที่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่หลายธนาคารกลางอื่นทั่วโลกก็ปรับลดดอกเบี้ยเช่นกัน  เช่น วานนี้ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ลดอัตราดอกเบี้ย นโยบายลง 0.25% เหลือ 0.5% สวนทางกับตลาดที่คาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.75% ด้านธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ก็ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน ลง 0.25% มาที่ 2.5% ขณะที่ดอกเบี้ยของไทยนั้นจากสภาพแวดล้อมดังกล่าว คือ ดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาลงและเศรษฐกิจไทยที่ยังเห็นสัญญาณชะลอตัว จากผลกระทบไวรัส COVID-19 ทำให้การท่องเที่ยว,การค้าระหว่างประเทศ และการบริโภคในประเทศชะลอตัว
 
 
 
 
อีกทั้งมุมมองของตลาดที่คาดว่าดอกเบี้ยจะปรับลงในเวลาอันใกล้นี้ สะท้อนจากอัตราผลตอบของพันธบัตรรัฐบาลไทย (Bond Yield) อายุ 1 ปี ปรับตัวลงต่อ ล่าสุดอยู่ที่ 0.852% ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1%
 
โดยรวมแล้ว ฝ่ายวิจัยฯยังคงเชื่อว่าในการประชุมกนง.วันที่ 25 มี.ค.2563 นี้ กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือ 0.75% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 มี.ค. 2563 เวลา : 14:07:12
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 2:41 am