หุ้นทอง
รัฐอัดฉีดเงิน 1แสนล้านฟื้นการบริโภค 2 หุ้นบวกต่อ CPALL-JMAR


เศรษฐกิจทั่วโลกและไทยกำลังย่ำแย่จากพิษของโรค COVID-19 ที่ส่งผลกระทบหนักกว่าสงครามการค้าเสียอีก ล่าสุด กกร. ซึ่งประกอบด้วย หอการค้า, สภาอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคารไทย ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP Growth ปี 63 เหลือเฉลี่ย 1.75% yoy จากเดิม 2.25% ขณะที่ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส หรือ ASPS คาด 1.6% yoy

 
ทั้งนี้ทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเร่งด่วน ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง หลังจากงบประมาณผ่านแล้ว ดังนี้มาตรการเงิน ฝ่ายวิจัยฯคาดการประชุมกนง. วันที่ 25 มี.ค. 63 มีโอกาสสูงที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่ 1% ลง 0.25% เหลือ 0.75% เป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมโดยรวมกดดัน 

ได้แก่ 1.ดอกเบี้ยโลกทั่วโลกที่เป็นขาลง หลังจากวานนี้ Fed เซอไพรส์ตลาดด้วยการลดดอกเบี้ยนอกรอบ 0.5% อยู่ที่ 1.25% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯกับไทยแคบลง 
2.มุมมองของตลาดคาดว่าดอกเบี้ยจะปรับลง เห็นได้จาก Bond Yield อายุ 1 ปีของไทยปรับตัวลงต่อ ล่าสุด 0.82% ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1% 
3.ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวและเสี่ยงอาจเกิด Recession
 
ขณะที่มาตรการคลังเริ่มมีบทบาทมากขึ้นโดยในวันศุกร์นี้ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเน้นการใส่เงินเข้าระบบทันทีและมาตรการเยียวยาภาคท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อรองรับผลจาก COVID-19โดยให้คณะรัฐมนตรี หรือครม.เศรษฐกิจอนุมัติและจะเสนอครม.อนุมัติในวันที่ 10 มี.ค.63 หลักๆ คือ กระตุ้นการบริโภควงเงินรวมราว 1 แสนล้านบาทหรือราว 1% ของ GDP 

ทั้งนี้แบ่งเป็น 1.อัดฉีดเงินกระตุ้นการบริโภค 1,000-2,000 บาท/คน ให้กับประชาชนราว 14.6 ล้านคน หลักๆคือ ผู้มีรายได้น้อย, อาชีพอิสระ เกษตรกร ผ่านระบบพร้อมเพย์ และอาจใช้ระยะเวลาการแจก 2-3 เดือน คาดใช้เงินรวม 1 แสนล้านบาท
2.โครงการ"กิน พัก เที่ยว" กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ คือ แจกเงิน 1,000 บาท/คน ผ่านApplication ธนาคารกรุงไทย “เป๋าตัง” โดยต้องลงทะเบียนแย่งสิทธิ์ 5 ล้านคน คาดใช้วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท มาตรการนี้จะคล้ายกับมาตรการชิมช็อปใช้ที่เคยทำเมื่อปลายปี 2562
 
นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่น เช่น มาตรการภาษี คือ ผู้ประกอบการสามารถจ้างลูกจ้างต่อและนำค่าใช้จ่ายจากการจ้างงานมาหักค่าใช้จ่ายสำหรับคำนวณภาษีได้มากกว่า 1 เท่า และมาตรการช่วยเหลือ SME  ด้วยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เป็นต้น
 
โดยรวมมาตรการกระตุ้นที่รัฐออกมาดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามุ่งเน้นไปที่กระตุ้นกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งฝ่ายวิจัยฯมองว่าจะเป็นผลบวกต่อหุ้นค้าปลีกโดยตรง อย่าง CPALL และ JMART 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 มี.ค. 2563 เวลา : 16:45:11
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 2:42 am