ความกังวลต่อประเด็น COVID-19 สร้างความปั่นป่วนต่อตลดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทย สะท้อนได้จากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (13มี.ค.) ตลาดหุ้นไทยต้องใช้ Curcuit Breaker ติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า หาก COVID-19 ที่ระบาดในไทยส่งสัญญาณเข้าสู่เฟส 3 ซึ่งมีโอกาสจะทำให้ธุรกรรมทางธุรกิจหยุดชะงัก ส่งผลต่อเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียน
ขณะที่มาตรการเยียวยาที่ออกมานั้น ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส หรือ ASP มองว่ายังไม่ได้ช่วยสนับสนุนให้ตลาดหุ้นไทย ฟื้นตัวได้เท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็น
*ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับปรุงเกณฑ์การทำ Short Sell ใหม่ก็เป็นเพียงลดความร้อนแรงในการ ขาย Short เท่านั้น โดยเกณฑ์ใหม่ กำหนดให้ Short Sell ได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Up Tick) กล่าวคือ นักลงทุนต้องวาง Short ที่ราคาเสนอขาย (Offer) หรือสูงกว่า โดยเกณฑ์ Short Sell ใหม่ เริ่มใช้ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 13 มี.ค. จนถึง 30 มิ.ย.2563
ฝ่ายวิจัยฯคาดว่าการปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวอาจช่วยประคองตลาดได้จำกัด เนื่องจาก 1.มาตรการไม่ได้เป็นการห้ามทำ Short Sell เพียงแต่ลดความร้อนแรงของการทำ Short Sell เท่านั้น 2.น้ำหนักของมาตรการถือว่าค่อนข้างเบา ซึ่งผิดจากความคาดหมายของนักลงทุน
3.โดยกลไกแล้ว นอกจาก Short Sell ยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นการเพิ่ม Momentum ให้กับตลาดเช่น Block Trade, อนุพันธ์ประเภทต่างๆ, การซื้อขายด้วย Margin เป็นต้น ซึ่งกลไกส่วนที่เหลือยังคงทำงานอยู่และกดดันต่อตลาดหุ้นได้ในช่วงต่อไป
การเตรียมจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น เพื่อเป็นการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุน ซึ่งหากจะหวังผลให้ SET Index ปรับตัวขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินสูงกว่าในอดีตที่เคยจัดตั้งมาก เช่น ปี 2535 และ 2546 มีการตั้งกองทุนพยุงหุ้นวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และ 1 แสนล้านบาทตามลำดับ
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปัจจุบัน มีขนาด 12 – 16 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าอดีตในช่วงนั้นที่ 1-2 ล้านล้านบาทมาก การจะจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นจะมีประสิทธิภาพได้นั้น ต้องเป็นกองทุนขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับขนาดของตลาดหุ้นปัจจุบัน นอกจากนี้แหล่งระดมเงินทุน สำหรับจัดตั้งกองทุนก็ยังยากและจำกัดมากกว่าที่เกิดขึ้นในอดีต อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติ ยังลังเลที่จะลงทุนในตลาดการเงินของไทย สะท้อนได้จาก Fund Flow ยังไหลออกจากตลาดหุ้นไทยกว่า 7.7 หมื่นล้านบาท (ytd) และยังไหลออกจากตลาดตราสารหนี้กว่า 5.7 หมื่นล้านบาท (ytd)
โดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่ามาตรการเยียวยาต่างๆที่ออกมายังถือว่าเบา ขณะที่นักลงทุนคาดหวังจะเห็นมาตการการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจจริง รวมถึงการกลับมาของกองทุน LTF น่าจะช่วยพยุงตลาดได้ดีขึ้น ดังนั้นในยามที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมาก ฝ่ายวิจัยฯแนะนำค่อยๆทะยอยสะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งปันผลสูงที่ผ่านวิกฤตมาได้ตลอดช่วง 12 ปี ที่ผ่านมาที่สำคัญมีการจ่ายปันผลได้ทุกปี
ข่าวเด่น