ทิสโก้เวลธ์เผยโอกาสการลงทุนมีอยู่ในทุกสภาวะตลาด แม้ปัจจุบันตลาดหุ้นทั่วโลกจะเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติ พร้อมใช้ความเชี่ยวชาญคัดสรรกองทุนคุณภาพเสิร์ฟให้ลูกค้า แนะลงทุนใน 3 ธุรกิจ ดิจิตอลเฮลธ์แคร์, ไบโอเทค และอีคอมเมิร์ซ คาดให้ผลตอบแทนโตเด่นตามเทรนด์ของโลก
นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โอกาสการลงทุนมีอยู่ทุกสภาวะตลาดขึ้นอยู่กับผู้ลงทุนจะนำข้อมูลที่มีอยู่มาพิจารณาเลือกสินทรัพย์การลงทุนอย่างไรให้ถูกต้อง แม้ปัจจุบันจะมีวิกฤติซ้อนวิกฤติทั้งเศรษฐกิจโลกเติบโตชะลอตัวจนหลายประเทศเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID -19 และราคาน้ำมันปรับตัวลงแรงหลังเกิดความขัดแย้งในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในระยะยาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ของโลก เช่น ธุรกิจเฮลธ์แคร์ ธุรกิจไบโอเทค และธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คน โดยเฉพาะในช่วงที่มีโรคระบาดและประชาชนเริ่มรักษาระยะห่างระหว่างผู้อื่นในสังคม (Social Distancing)
“ปัจจุบันโลกของการลงทุนไม่จำกัดเฉพาะการลงทุนแค่ในตลาดหุ้นไทยเท่านั้น แต่นักลงทุนยังสามารถลงทุนในต่างประเทศ และสามารถเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตผ่านกองทุนรวมที่มีมืออาชีพช่วยบริหารจัดการได้ ซึ่งธุรกิจที่น่าจะเติบโต และได้รับผลบวกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ ธุรกิจเฮลธ์แคร์ และธุรกิจไบโอเทค จากจำนวนการเข้ารับรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการยาและวัคซีนรักษาโรคใหม่ๆ ที่มีอยู่เสมอ ต่อมาคือ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ได้รับผลดีจากผู้บริโภคงดเดินทางออกจากที่พัก ทำให้มีอัตราการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยธุรกิจที่กล่าวไปทั้งหมดนอกจากจะได้รับผลดีจากสถานการณ์ในช่วงนี้แล้ว ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ในระยะยาวจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต อีกทั้งในช่วงนี้ยังเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าซื้อ เพราะราคาหุ้นอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาว” นายณัฐกฤติ กล่าว
ด้าน นางวรสินี เศรษฐบุตร หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า การเลือกลงทุนในภาวะวิกฤติเช่นนี้แนะนำให้พิจารณาว่า เมื่อวิกฤติคลี่คลายแล้วธุรกิจใดจะพลิกกลับมามีกำไรได้เร็ว และผลประกอบการจะเติบโตได้ในระยะยาว หากพิจารณาจากข้อมูลในอดีตจะเห็นว่าธุรกิจกลุ่มเฮลธ์แคร์มักจะให้ผลตอบแทนเหนือตลาดในเกือบทุกช่วงเวลาที่ยากลำบาก เช่น ช่วงที่ไข้หวัดนกและเมอร์สระบาด รวมถึงช่วงที่มีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า กลุ่มเฮลธ์แคร์ก็ยังสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดอย่างโดดเด่น นอกจากนี้ผลการดำเนินงานในอนาคตก็น่าจะเติบโตได้ดีตามค่ารักษาพยาบาลที่ปรับตัวสูงขึ้น จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประชากรทั่วโลก และความต้องการยาและวัคซีนในการรักษาโรคที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น รวมถึงวัคซีนในการรักษาโรคใหม่ๆ
สำหรับกองทุนเฮลธ์แคร์คุณภาพที่ทิสโก้เวลธ์คัดมาแล้วว่ามีโอกาสที่ได้รับอัตราผลตอบแทนคุ้มค่ากับความเสี่ยง
และค่าความผันผวนที่เหมาะสมสำหรับลงทุนในช่วงนี้ คือ กองทุนเปิด ทิสโก้ โกลบอล ดิจิตอล เฮลธ์ อิควิตี้ (TGHDIGI) ความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) ลงทุนในหุ้นต่างประเทศผ่านกองทุน CS (Lux) Global Digital Health Equity ชนิดหน่วยลงทุน IB USD (กองทุนหลัก) เน้นลงทุนในบริษัทที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการแพทย์ (Digital Health) ประมาณ 40 - 60 บริษัท จาก 4 หมื่นบริษัททั่วโลก โดยปัจจุบันบริษัทที่กองทุนหลักเข้าไปลงทุน เช่น บริษัท Teladoc ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มให้คนไข้สามารถพบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ และรับใบสั่งยาจากแพทย์เพื่อนำไปซื้อยาต่อได้ทันที และบริษัท NoVocure ผู้คิดค้นนวัตกรรมรักษามะเร็งในสมอง , เนื้องอกในสมอง โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น
นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีหลายปัจจัยเสี่ยงจนทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง แต่กองทุน TGHDIGI ก็ยังสร้างผลตอบแทนย้อนหลังดีกว่าดัชนีชี้วัด โดยมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี 6 เดือน 3 เดือน และตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน ตามข้อมูลของ บลจ.ทิสโก้ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ 9.12% ต่อปี, 13.35% ต่อปี, 2.49% ต่อปี และ 1.46% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะเดียวกันดัชนี MSCI World Net Total Return ซึ่งได้คำนวณให้อยู่ในรูปเงินสกุลบาทแล้ว มีผลตอบแทนอยู่ที่ 3.78 % ต่อปี, 4.28% ต่อปี, -1.94% ต่อปี และ -3.91% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิใช่สิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
อีกกองทุนที่น่าสนใจคือ กองทุนเปิด ทิสโก้ ไบโอเทคโนโลยี เฮลธ์แคร์ (TBIOTECH) ความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) กองทุนรวมตราสารทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) การวินิจฉัยโรค และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ทั่วโลกผ่านกองทุน Polar Capital Funds plc - Biotechnology (กองทุนหลัก) โดย “ธุรกิจไบโอเทคโนโลยีการแพทย์” เป็นนวัตกรรมทางชีวภาพแห่งอนาคต ซึ่งรวมไปถึงผู้ผลิตวัคซีนและยารักษาโรค ผู้ผลิต Antibody เพื่อตรวจวินิจฉัยและเยียวยารักษาโรค ผู้พัฒนาเทคโนโลยี DNA เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของโรคทางพันธุกรรม รวมถึงบริษัทผู้คิดค้นวัคซีน และยารักษาโรคอุบัติใหม่ที่มีความรุนแรง ซับซ้อนและหายยาก เช่น โรคซาร์ส และไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นต้น
“ทิสโก้เวลธ์มองว่ากองทุน TBIOTECH อาจได้รับผลดีจากความต้องการยารักษาโรคเดิมแบบเฉพาะเจาะจงตามกระแสสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น รวมทั้งความต้องการยาและวัคซีนรักษาโรคอุบัติใหม่อย่างเช่น COVID - 19 เป็นต้น นอกจากนี้ กองทุน Polar Capital Funds plc - Biotechnology (กองทุนหลัก) นอกจากจะมีผลตอบแทนที่โดดเด่น
และมีความผันผวนที่เหมาะสมแล้ว ยังพบว่าผู้จัดการกองทุนมีประสบการณ์การลงทุนในอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยีมากว่า 19 ปี ทำให้สามารถบริหารกองทุนให้มีผลตอบแทนที่น่าสนใจ และเข้าใจวัฏจักรของอุตสาหกรรมไบโอเทคได้เป็นอย่างดี” นางวรสินี กล่าว
นางวรสินี กล่าวอีกว่า นอกจากธุรกิจเฮลธ์แคร์ และไบโอเทคโนโลยีทางการแพทย์น่าสนใจลงทุนในช่วงนี้แล้ว ทิสโก้เวลธ์มองว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการที่ผู้บริโภคงดการเดินทางออกนอกบ้านและใช้บริการซื้อสินค้าออนไลน์ และดูหนังฟังเพลงอยู่ที่บ้านแทน อีกทั้งธุรกิจนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากจากผู้บริโภคที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตและมีแนวโน้มการใช้จ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซสูงขึ้นเมื่อเทียบกับร้านค้าแบบดั้งเดิม
สำหรับกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เหมาะสมในช่วงนี้ คือ กองทุนเปิด วรรณ โกบอล อีคอมเมิร์ซ (ONE-GECOM) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้น และ/หรือกองทุนรวม ETF ทั่วโลกที่ลงทุนในกิจการในกิจการที่มีรายได้หรือได้รับประโยชน์จากช่องทางจำหน่ายผ่านออนไลน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับบริษัทที่กองทุนเข้าไปลงทุนนั้นส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ผู้บริโภครู้จัก เช่น UBER ผู้ให้บริการเรียกใช้รถโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน,Amazon ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม E-commerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีธุรกิจให้บริการระบบ Cloud Computing ที่ใหญ่ที่สุดในโลก, Alibaba ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และเป็นเจ้าของ Lazada แพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายสินค้าออนไลน์รายใหญ่ในประเทศไทย รวมทั้งให้บริการ Cloud Computing ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และระบบการชำระเงินออนไลน์ Ali Pay และ PAYPAL ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทางการเงินมากกว่า 200 ประเทศ และเงินตรามากกว่า 25 สกุลทั่วโลก เป็นต้น
ทั้งนี้ กองทุน TGHDIGI และTBIOTECH ลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรม จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งกองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจผู้จัดการกองทุน และกองทุน ONE-GECOM มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน (ไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ)
ข่าวเด่น