ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยช่วงที่ผ่านมาก็ทำเอาคุณๆท่านๆเหมือนนั่งรถไฟเหาะตีลังกาเพราะผันผวนเหวี่ยงลงแบบบีบหัวใจสุดๆๆ เหวี่ยงขึ้นให้หายใจคล่องขึ้นนิดนึง แต่จนแล้วจนรอดก็ดิ่งลงต่ำกว่า 1,000 จุด ให้ทั้งนักลงทุนและเซียนหุ้นนั่งเก้าอี้ไม่ติด จนในที่สุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ต้องออกมาแก้เกมด้วยการปรับเกณฑ์การทำ Short Sell เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ตลาดหุ้นหวาดเสียว เพื่อทำให้ผู้ลงทุนมีความมั่นใจในการลงทุนมากยิ่งขึ้น เพราะ Short Sell หรือการยืมหุ้นมาขายเพื่อลงทุนในทิศทางขาลง ถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนหนึ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงตลาดหุ้นปรับตัวลดลงรุนแรง
ส่วนความหมายของ Short Sell คือ การขายหุ้นเพื่อทำกำไรในกรณีที่คุณประเมินแล้วว่าราคาหุ้นตัวนั้นจะปรับลดลงหรือพูดง่ายๆ จุดประสงค์ของ Short Sell คือ การเพิ่มช่องทางให้คุณสามารถทำกำไรในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง โดยหลักการของการ Short Sell คือ คุณไม่จำเป็นต้องมีหุ้นตัวนั้นอยู่ในมือแต่สามารถไปยืมหุ้นจากโบรกเกอร์ที่ตัวเองเปิดบัญชีซื้อขายมาทำการขายออกไปก่อน หลังจากนั้นหากราคาหุ้นตัวนี้ปรับลดลงตามที่ประเมินเอาไว้คุณก็จะทำการซื้อหุ้นตัวนั้นในกระดาน (ในราคาที่ต่ำกว่าตอนที่ยืมจากโบรกเกอร์) แล้วก็นำไปคืนให้โบรกเกอร์ โดยกำไรที่ได้ก็คือ ส่วนต่างระหว่างราคาหุ้นที่นักลงทุนไปยืมหุ้นจากโบรกเกอร์แล้วทำการขายกับราคาที่ซื้อกลับคืน
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯและคุณณัฐพล คำถาเครือ บอกว่ากำไรที่แท้จริงที่นักลงทุนได้รับจะต้องหักต้นทุนต่างๆออกก่อน เช่น ดอกเบี้ยค่ายืมหุ้น ค่าธรรมเนียม ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
ดังนั้น ขอยกตัวอย่างให้คุณเห็นและเข้าใจง่ายๆก็คือ ถ้าปัจจุบันราคาหุ้น XYZ อยู่ที่ 100 บาท คุณคาดการณ์ว่าราคาหุ้น XYZ จะปรับลดลง คุณก็ไปยืมหุ้นจากโบรกเกอร์แล้วทำการขายในราคา 100 บาท จากนั้นหุ้น XYZ ปรับลดลงไปที่ระดับ 90 บาท นักลงทุนก็เข้าไปซื้อหุ้นกลับคืนที่ราคา 90 บาท เพื่อนำไปคืนให้โบรกเกอร์ กรณีนี้คุณจะได้กำไรก่อนหักต้นทุน 10 บาท ( ราคาขาย 100 บาท – ราคาซื้อกลับคืน 90 บาท)
ในทางตรงข้ามหากคุณคาดการณ์ผิดพลาด นั่นคือ ราคาหุ้น XYZ กลับปรับขึ้นไปที่ระดับ 110 บาท แสดงว่าต้องทำการซื้อหุ้นกลับคืนที่ราคา 110 บาท ทำให้เกิดผลขาดทุน 10 บาท ( ราคาขาย 100 บาท – ราคาซื้อกลับคืน 110 บาท)
โดยรวมๆแล้วจุดประสงค์ของ Short Sell คือ การเพิ่มช่องทางให้คุณสามารถทำกำไรในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาลงและถึงแม้จะทำได้ง่ายแต่ก็มีความเสี่ยงที่คุณต้องทำความเข้าใจเพราะหากราคาหุ้นไม่เป็นไปตามที่คุณคาดการณ์จะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะค่าธรรมเนียม Short Sell คิดเป็นรายวัน ดังนั้นเมื่อถึงกำหนดวันที่ต้องซื้อหุ้นกลับคืนต้องขาดทุนทั้งส่วนต่างราคาและต้นทุนค่าธรรมเนียมสูง
เพราะในช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนสูง ตลาดหลักทรัพย์ฯจึงปรับเกณฑ์ Short Sell เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์จากเดิมที่คุณทำได้เฉพาะในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Last Trading Price) เปลี่ยนเป็นทำได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Last Trading Day) เท่านั้น
การทำเช่นนี้ เชื่อว่าจะทำให้คุณมีความมั่นใจต่อการลงทุนมากขึ้นและกฎเกณฑ์นี้จะมีผลบังคับใช้ชั่วคราวไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และสามารถยกเลิกได้ถ้าสภาวะตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
แม้การทำ Short Sellจะเอื้อประโยชน์ต่อคุณ แต่การทำ Short Sell ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะคุณต้องขายที่ราคาล่าสุดหรือสูงกว่าเท่านั้น “แปลว่าคุณไม่สามารถขายแบบทุบราคาหุ้นได้ ในทางตรงข้ามถ้าคุณขายแล้วหุ้นไม่ลง ราคากลับวิ่งขึ้น คุณจะต้องถูกเรียกให้เติมหลักประกันหรือคุณอาจถูกบังคับปิดสถานะ (Short Covering) ทำให้คุณขาดทุน”
ส่วนแนวโน้มการทำ Short Sell หลังจากมีการปรับเกณฑ์จะทำได้ยากขึ้น เพราะการทำ Short Sell ที่ราคาสูงกว่าราคาล่าสุด 1 ช่องราคา แปลว่าถ้าราคาล่าสุดอยู่ที่ Bid แรก คุณจะต้องวาง Short Sell ที่ราคา Offer แรก หรือสูงกว่า แต่ถ้าราคาล่าสุดอยู่ที่ Offer แรกจะต้องวาง Short Sell ที่ราคา Offer ลำดับถัดไป แม้ว่าจะเป็นการขยับราคา Short Sell ขึ้นเพียง 1 ช่องราคาจากเกณฑ์เดิม
ส่วนในช่วงที่ตลาดเป็นขาลงซึ่งมีแรงขายมากกว่าแรงซื้อ โอกาสที่ราคาจะขึ้นไปแตะราคาที่วาง Short Sell ตามเกณฑ์ใหม่อาจเป็นเรื่องยากพอสมควร จึงคาดว่าจะทำให้ความผันผวนลดลงและช่วยบรรเทาความกังวลให้กับคุณได้
ข่าวเด่น