“โกลเบล็ก” มองหุ้นไทยได้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจพยุง แนะกลยุทจัดพอร์ตถือเงินสด 75% กองทุนตราสารหนี้ 10% หุ้น 15%
โกลเบล็กมองหุ้นไทยผันผวนจากแรงกดดันหลักยอดผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ยอดผู้เสียชีวิตสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ IMF คาดการณ์ว่ารุนแรงกว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008-2009 จึงได้แต่คาดหวังว่ามาตรการเยียวยาต่าง ๆ ที่ออกมาจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ทันท่วงที จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทย 1,050-1,150 จุด แนะนำกลยุทธ์ถือเงินสด 75% ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ 10% และอีก 15% ทยอยสะสมหุ้นได้ประโยชน์จากการส่งเสริมการทำงานที่บ้านและหุ้นที่ได้ประโยชน์จาก Bangkok Lockdown ส่วนราคาทองคำฟื้นตัว จากแรงหนุนเฟดออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการผ่อนคลาย QE อีกทั้ง SPDR กลับเข้ามาซื้อทองคำเพิ่ม ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวราคาทองคำ 1,580-1,670 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์
นางสาว วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือGBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยยังคงแกว่งตัวผันผวนจากแรงกดดันหลักๆคือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดสหรัฐได้แซงหน้าจีนและอิตาลีขึ้นเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดแล้ว และจากยอดผู้เสียชีวิตสูงขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทุกประเทศทั่วโลก ทั้งนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินความเสียหายล่าสุดว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อาจรุนแรงกว่าวิกฤติการเงินปี 2008-2009 หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (ซับไพรม์)และจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2021 ประกอบกับราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวลงต่อเนื่องจนหลุดระดับ 21 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลลบเชิงจิตวิทยาต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน จึงคาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,050-1,150 จุด
อีกทั้งยังคงต้องจับตาการเคลื่อนไหวต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศถึงการรับมือและการแก้ไขสถานการณ์จากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 โดยวันนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย เช่นเดียวกับจีนจะมีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต-ภาคบริการเดือนมี.ค. ส่วนอังกฤษ จะมีการเปิดเผย GDP ไตรมาส 4/2562 (ประมาณการครั้งสุดท้าย) รวมทั้งอียูจะมีการเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค. และสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาบ้าน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค
ขณะที่วันที่ 1 เม.ย.ทางจีนจะมีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมี.ค.รวมทั้งอียูเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมี.ค. และสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมี.ค. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมี.ค. ดัชนีภาคการผลิตเดือนมี.ค.การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างเดือนก.พ. และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ และวันที่ 2 เม.ย. อียูเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.พ. ส่วนสหรัฐเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดุลการค้าเดือนก.พ. ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนมี.ค. และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.พ.ซึ่งจะเป็นการบ่งชี้ถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1/2563 ได้ชัดเจนมากขึ้น
“หากพิจารณาสถานกาณ์ตอนนี้หลายๆฝ่ายต่างออกมาช่วยกอบกู้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างเร่งด่วนมากขึ้นพร้อมทั้งการออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ ล่าสุด จีนเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ฉีดเงินเข้าสู่ระบบธนาคารวงเงิน 5 หมื่นล้านหยวน หรือราว 7.1 พันล้านดอลาร์สหรัฐ ผ่านการทำข้อตกลง reverse repo อายุ 7 วัน ซึ่งถือเป็นการดำเนินการดังกล่าวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. ส่วนในประเทศเองทาง บลจ.เตรียมเปิดขายกองทุน SSF วงเงินพิเศษ มีกำหนดระยะเวลาลงทุน 3 เดือนระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย.63 พร้อมกันวันแรก 1 เม.ย.ส่งเสริมการออมระยะยาวเน้นลงทุนหุ้นไทย และทางดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงคลังพิจารณาแนวทางการออกพ.ร.ก.กู้เงินกว่า 2 แสนล้านบาทนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งจัดทำมาตรการระยะ 3 หลังประกาศมาตรการระยะ 2 แล้ว ซึ่งหากเม็ดเงินกระตุ้นต่างๆเข้าสู่ระบบได้รวดเร็วก็จะสามารถพยุงเศรษฐกิจได้”
ดังนั้นแนะนำกลยุทธ์การลงทุน นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก แนะนำว่ากระจายการลงทุนในการถือเงินสดหรือเงินฝากระยะสั้นในสัดส่วน 75% ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ 10% และอีก 15% เลือกทยอยสะสมหุ้นได้ประโยชน์จากการส่งเสริมการทำงานที่บ้าน อาทิ ADVANC, INTUCH, DTAC, TRUE, JAS, JASIF, DIF, COM7, SIS และ SYNEX รวมทั้งหุ้นที่ได้ประโยชน์จาก Lockdown อาทิ MAKRO, BJC, CPALL, TU และ TFM
ส่วนราคาทองคำ นายณัฐวุฒิ คาดว่าราคาทองคำปรับตัวขึ้น 128 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์จากแรงหนุนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในวงเงินไม่จำกัดและจะเข้าซื้อหุ้นกู้ของภาคเอกชนเป็นครั้งแรก โดยจะซื้อหลักทรัพย์ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในขั้นน่าลงทุน ทั้งในและนอกตลาดรวมทั้งจะเข้าซื้อกองทุน ETFs และเฟดจะเพิ่มวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์สำหรับโครงการปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจ และโครงการสินเชื่อที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันที่มีการใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเงิน นอกจากนี้กองทุน SPDR กลับเข้ามาซื้อทองคำอีกครั้งเป็นสัปดาห์แรกกว่า 40 ตันหลังขายติดต่อกัน 2 สัปดาห์ มองกรอบทองคำสัปดาห์นี้ที่ 1,580-1,670 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ หรือคิดเป็นทองคำไทย 24,170-25,690 บาทต่อบาททองคำ
ข่าวเด่น