ถ้ารู้งี้ ซื้อ SSF - RMF ตั้งแต่ดัชนีแตะ 1,000 จุดดีกว่า ทุกครั้งที่ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงต่อเนื่องจะได้ยินประโยคนี้เสมอ เพราะโดยหลักการลงทุนที่ดี นักลงทุนควร “ซื้อในช่วงต้นทุนที่ต่ำ” แต่ในทางปฏิบัติหรือกว่าจะตัดสินใจมักได้ “ซื้อของแพง”
ดังนั้นการลงทุน SSF และ RMF ตอนไหนดี วันนี้มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯและคุณสาห์รัช ชัฎสุวรรณ หาคำตอบมาให้ก็คือ คุณควรลงทุนเมื่อพร้อมและควรซื้อในช่วงตลาดเป็นขาลง เพราะว่า SSF และ RMF เป็นการลงทุนระยะยาว
หากคุณสามารถลงทุนได้ในลักษณะทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ (Dollar Cost Average: DCA) ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสม ถึงแม้ว่าการทยอยลงทุนจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด (หากมองถึงเรื่องผลตอบแทน) แต่ก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดถ้ามองเรื่องการบริหารความเสี่ยง การลงทุนแบบทยอยลงทุนเป็นการลงทุนหรือการใส่เงินเข้าไปเท่าๆกัน เช่น ทุกๆเดือน ทุกๆไตรมาส ทำให้ต้นทุนจะเฉลี่ยไปเท่าๆกัน ที่สำคัญเหมาะกับผู้ที่ยังไม่กล้าใส่เงินเข้าไปใน SSF และ RMF มากๆ รวมถึงผู้ที่มีเงินออมจำนวนจำกัด
การลงทุน SSF และ RMF ด้วยวิธีทยอยลงทุนเป็นวิธีที่น่าสนใจ เพราะผู้ที่เสียภาษีจะรู้ว่าปีนั้นๆตัวเองต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่ จึงรู้ว่าควรลงทุน SSF และ RMF เท่าไหร่ ก็สามารถจัดสรรเงินออมมาลงทุนได้ หากรอลงทุนตอนสิ้นปีครั้งเดียวก็อาจต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่พอสมควร
SSF และ RMF นอกจากคุณจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแล้ว สิ่งสำคัญ คือเป็นการลงทุนเพื่อสะสมเงินเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณ ดังนั้นคุณควรลงทุนให้ได้ต่อเนื่องแบบ DCA ยิ่งในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยได้ปรับฐานลงมามาก หากลงทุนในช่วงนี้จะทำให้ได้ต้นทุนที่ต่ำ
ในช่วงตลาดหุ้นผันผวนและปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้คุณเกิดความลังเลในการลงทุน ดังนั้นอยากให้คุณมองย้อนกลับในช่วงเกิดวิกฤติซับไพรม์ (ปี 2551) ซึ่งตลาดหุ้นปรับลดลงอย่างมากแต่หลังจากมีมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สถานการณ์ได้คลี่คลายและตลาดหุ้นก็รีบาวน์และเป็นขาขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
ส่วนคุณหากเป็นมือใหม่ที่ยังไม่เคยลงทุน SSF และ RMF ในช่วงเกิดวิกฤติ COVID-19 ที่ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง นับเป็นโอกาสและจุดเริ่มต้นที่ดีในการลงทุน ไม่เพียงแค่ตลาดหุ้นเท่านั้น แต่เป็นช่วงที่ดีในการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ตราสารหนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือ REITs เป็นต้น
ทั้งนี้การซื้อแบบไหนให้ถูกใจก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ คุณควรเน้นลงทุนอะไรระหว่าง SSF กับ RMF ก่อนอื่นให้คุณถามตัวเองว่า มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน และคุณมีเงินลงทุนที่เย็นพอหรือไม่ เพราะ SSF และ RMF คือการลงทุนแล้วถือยาว ถัดจากนั้น ให้สำรวจระดับความเสี่ยง ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วหากคุณอายุยังน้อยก็รับความเสี่ยงได้สูงและการรับความเสี่ยงจะค่อยๆ ลดลงตามอายุที่มากขึ้น
ถ้าคุณรับความเสี่ยงได้สูงๆ ก็เน้นลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้น ถ้ารับความเสี่ยงได้ต่ำๆก็เน้นลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ โดยวิธีการเบื้องต้นให้ศึกษานโยบายการลงทุนแต่ละกองทุน ที่สำคัญควรกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นผู้ที่เริ่มต้นวางแผนการลงทุน
ทั้งนี้วิธีการดูก็มีหลากหลาย เช่น ดูการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงเลี้ยงชีพว่าตัวเองเลือกนโยบายการลงทุนแบบไหน หากเน้นตราสารหนี้ ก็สามารถกระจายความเสี่ยงด้วยการซื้อ SSF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น ส่วน RMF ก็เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ต่างประเทศ เป็นต้น
SSF และ RMF แม้เป็นการลงทุนระยะยาวแต่ก็ไม่ได้หวังทำกำไรในสิ้นปีนี้หรือปีหน้าแต่ต้องมองในอีก 8 ปี 10 ปีข้างหน้า และถ้าใช้ปัจจัยเรื่องดัชนีหุ้นไทยที่ปรับลดลงจากผลกระทบของเชื้อไวรัส COVID-19 ถือว่าเป็น “ราคาที่ไม่แพง”
ดังนั้นหากรับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นได้ มีระยะเวลาการลงทุนค่อนข้างนาน “วันนี้ เป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน”
จากสถิติที่ผ่านมา พบว่าหากคุณลงทุนได้ในระยะยาว เช่น 10 ปีขึ้นไป ก็มีโอกาสคุณจะได้รับผลตอบแทนที่ดีและเป็นการสร้างวินัยการลงทุนอีกด้วย “ยิ่งลงทุนต่อเนื่องด้วยวิธี DCA เมื่อถึงวันนั้น คุณก็จะมีเงินสะสมก้อนที่ใหญ่และเพียงพอให้ใช้หลังเกษียณ ดังนั้นถ้าคุณไม่ลงทุนตอนนี้ ก็ไม่รู้ว่าคุณจะไปลงทุนตอนไหน
ข่าวเด่น