ปี 2562 ยอดผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกมีจำนวนมากกว่า 91 ล้านคน แต่ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด -19 ได้ส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ซึ่งอาจเป็น “วิกฤติที่เลวร้ายที่สุด” ของอุตสาหกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เนื่องจาก “LMC Automotive” บริษัทที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ คาดการณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ยอดการผลิตรถยนต์ในปีนี้ทั่วโลกจะอยู่ที่ประมาณ 71 ล้านคัน หรือลดลงมากกว่า 20% ซึ่งหมายถึงผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกสูญเสียจำนวนรถยนต์ที่จะผลิตได้ราว 19 ล้านคันในปี 2563 หายไป
ตัวเลขการผลิตรถยนต์ทั่วโลกปีนี้ หากเป็นไปตามที่ LMC Automotive คาดการณ์อยู่ที่ประมาณ 71 ล้านคัน จะนับเป็นยอดการผลิตรถยนต์ทั่วโลกที่ “ต่ำสุดในรอบ 10 ปี” หรือตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งทั่วโลกมียอดการผลิตรถยนต์อยู่ที่ 77,583,519 คัน
โดยประเทศจีน ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์เบอร์หนึ่งของโลกในปี 2562 ผลิตรถยนต์รวมทั้งสิ้นมีจำนวนถึง 25,720,665 คน เป็นประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และโรงงานผลิตรถยนต์ต่างๆ เริ่มกลับมาผลิตอีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลจีนเริ่มควบคุมการระบาดได้ ทาง LMC คาดว่าปีนี้ยอดขายรถยนต์ในจีนจะลดลงเพียง 12%
สำหรับ “ประเทศไทย” อุตสาหกรรมรถยนต์ ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดการผลิตรถยนต์รวมในปี 2562 จำนวนทั้งสิ้น 2,013,710 คัน แต่ในปี 2563 คาดว่าจะลดลง 30-50% จากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เพราะในครั้งนี้กำลังซื้อทั่วโลกตกลงหมด และไม่รู้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จะจบลงเมื่อไร
จากข้อมูลล่าสุดในไตรมาสแรกของปีนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานว่าจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง รวมถึงผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และแผนการหยุดผลิตรถยนต์ของแต่ละค่าย ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2653 มีจำนวน 453,682 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.2 % โดยภาพรวมยอดขายในประเทศมีจำนวน 200,064 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24.09 % และยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 250,281 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 16.53 %
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เตรียม “ปรับลด” เป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปีนี้ โดยหากสถานการณ์โควิด-19 ยังยืดเยื้อถึงเดือนมิถุนายน 2563 จะปรับเป้าหมายการผลิตลดลง 30% เหลือ “1.4 ล้านคัน” แบ่งเป็นขายในประเทศ 700,000 คัน ส่งออก 700,000 คัน
แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อจนถึงเดือนกันยายน 2563 จะลดลงเหลือเพียง “1 ล้านคัน” หรือปรับลดลงไป 50 % จากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ 2 ล้านคัน แบ่งเป็นขายในประเทศ 500,000 คัน ส่งออก 500,000 คัน
จากข้อมูลสถิติพบว่า ยอดผลิตรถยนต์ในประเทศทะลุ 2.16 ล้านคัน ในปี 2561 ซึ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี และมียอดขายรถยนต์ในประเทศทะลุ 1.04 ล้านคัน สูงสุดในรอบ 5 ปีเช่นกัน แต่ในปีนี้หากผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 รุนแรง จนทำให้ยอดการผลิตลดลงเหลือเพียง 1 ล้านคน ก็จะเป็นการลดลง “ต่ำสุดในรอบ 10 ปี” นับตั้งแต่ปี 2553 ที่มียอดผลิตรถยนต์ทั้งหมด 1,645,304 คัน
ทั้งนี้ ในปี 2553 เป็น “ครั้งแรก” ที่ประเทศไทยมียอดการผลิตรถยนต์ทะลุ 1 ล้านคัน หรือมีจำนวนทั้งสิ้น 1,645,304 คัน สูงสุดในรอบ 50 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่กระทบอุตสาหกรรมรถยนต์ ไม่แค่จำนวนยอดการผลิตรถยนต์ที่ลดลงเท่านั้น แต่อาจส่งผลทำให้ภาคการผลิต “ชิ้นส่วน” และ “ยานยนต์” ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งช่าง แรงงานในโรงงาน พนักงานในโชว์รูม เมื่อรวมทุกส่วนในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ พบว่ามีการจ้างงานถึงกว่า 750,000 คน ซึ่งมีความเสี่ยงอาจต้องถูก “เลิกจ้างชั่วคราว” จนกว่าจะกลับมาผลิตใหม่ เพราะในปัจจุบันมีค่ายรถยนต์หลายแห่ง หยุดผลิตชั่วคราว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาโควิด-19
ดังนั้น หากผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ เชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ที่เคยเข้มแข็ง อาจต้องปรับฐานการผลิต ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามศักยภาพเดิม ขณะที่แนวทางการฟื้นฟูอุตสาหกรรมนี้ ถึงขั้นต้องนำนโยบาย “รถคันแรก” ในปี 2554 กลับมาปัดฝุ่นอีกครั้งหรือไม่ น่าจะเป็น “โจทย์ใหญ่” ของทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รวมถึงหาแนวทางอื่นๆ ที่เหมาะสม
ที่มาข้อมูล: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) www.oica.net , www.aic.or.th , www.thaiauto.or.th
ข่าวเด่น