การค้า-อุตสาหกรรม
''กรมเจรจาฯ'' พบตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงยังเติบโตช่วงวิกฤต ชี้ เอฟทีเอช่วยขยายส่งออกได้


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ศึกษาสถิติ พบตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงยังเติบโตได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 หนุนผู้ประกอบการใช้เอฟทีเอช่วยเพิ่มแต้มต่อขยายส่งออก แนะเพิ่มปริมาณและแปรรูปเป็นอาหารสัตว์กระป๋อง เพื่อเพิ่มความสะดวกและยืดระยะเวลาเก็บรักษา


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาหารสัตว์เลี้ยงเป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่ตลาดยังคงมีความต้องการและเติบโตได้ดี แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากสัตว์เลี้ยงมีการบริโภคเป็นประจำ ประกอบกับผู้เลี้ยงมีความเอาใจใส่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว    ทำให้มีการซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงสำรองไว้เช่นเดียวกับสินค้าจำเป็นอื่นๆ สอดคล้องกับสถิติการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 (มกราคม-มีนาคม 2563) ที่มีมูลค่าส่งออกถึง 466.5 ล้านเหรียญสหรัฐ  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 พบว่าขยายตัวกว่าร้อยละ 10 ขณะที่การส่งออกไปประเทศคู่ค้าสำคัญหลายตลาดขยายตัวอย่างน่าพอใจ เช่น อินเดีย ขยายตัวร้อยละ 52 มูลค่าการส่งออก 19 ล้านเหรียญสหรัฐ สหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 19 มูลค่าการส่งออก 104 ล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 13 มูลค่าการส่งออก 111 ล้านเหรียญสหรัฐ และออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 9 มูลค่าการส่งออก 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญในกลุ่ม คือ อาหารสำหรับสุนัขและแมว มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดถึงร้อยละ 81
 

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงยังคงเพิ่มขึ้นแม้อยู่ในช่วงวิกฤต ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายการส่งออกได้ โดยเฉพาะในตลาดคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอด้วย เพราะสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากไทยได้แต้มต่อในการแข่งขันจากการปลดล็อคกำแพงภาษีศุลกากร โดยปัจจุบัน 15 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรูและฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยทุกรายการแล้ว มีเพียงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ที่ยังคงการเก็บภาษีนำเข้ากับไทยในบางรายการสินค้า ทั้งนี้ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกควรศึกษาแนวโน้มและวางแผนการผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยในช่วงโควิด-19 อาจเพิ่มปริมาณ เช่น ขยายขนาดบรรจุภัณฑ์ และแปรรูปสินค้า เช่น ผลิตเป็นอาหารสัตว์กระป๋อง เพื่อเพิ่มความสะดวกและยืดระยะเวลาในการเก็บรักษา นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ ใช้วัตถุดิบคุณภาพดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง รวมถึงต้องรักษามาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับหลักการสากลด้านสุขอนามัย และปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าอย่างเคร่งครัด ให้สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยสามารถครองใจผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในช่วง 27 ปี ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยกับคู่เอฟทีเอขยายตัวทุกตลาด โดย อาเซียน ขยายตัวสูงสุดร้อยละ 6,306 รองลงมา คือ  จีน ขยายตัวร้อยละ 3,969 เกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 650 อินเดีย ขยายตัวร้อยละ 573 นิวซีแลนด์ ขยายตัวร้อยละ 531 และออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 244 ตามลำดับ ทำให้ในปี 2562 ไทยมีมูลค่าส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงสูงถึง 1,693 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอสูงถึง 954 ล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 4  ของโลก     รองจาก สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน และเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขและแมว อันดับที่ 3 ของโลก รองจาก สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา

บันทึกโดย : วันที่ : 05 พ.ค. 2563 เวลา : 16:22:58
17-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 17, 2025, 6:42 am