กองทุนรวม
บล.บัวหลวง ชู 2 ธีมลงทุน รับอานิสงส์คลายล็อกดาวน์โควิด-19 และภาคการผลิตและบริโภคฟื้นตัว


หลักทรัพย์บัวหลวง มองตลาดหุ้นไทย หลังผ่อนคลายล็อกดาวน์โควิด-19 อาจทรงตัว หรือแกว่งตัวซิกแซ็กขึ้นต่อเนื่อง แม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับขึ้นเร็วเกินคาด เข้าใกล้เป้าหมายสิ้นปี 1,310-1,320 จุด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะออกมาแย่กว่า 3 เดือนแรกของปี พร้อมแนะทริคลงทุนปลอดภัย ด้วย 2 ธีมหลัก เน้นกลุ่มได้ผลดีจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการบริโภค


นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือนมีค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นแล้ว 32% จากระดับดัชนีต่ำสุดกลางเดือนมี.ค. ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ จนเข้าใกล้ดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 63 ของหลักทรัพย์บัวหลวงที่ให้ไว้ระดับ 1,310-1,320 จุด หลังนักลงทุนมองว่า จุดเลวร้ายที่สุดของประเทศไทยผ่านพ้นไปแล้ว หลังการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ฉะนั้นหากรัฐบาลประกาศผ่อนปรนในการเปิดกิจการระยะที่ 2 ในวันจันทร์ที่ 17 พ.ค.นี้ คาดว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปี 63 อาจอยู่ในลักษณะทรงตัว หรือแกว่งตัวซิกแซ็กขึ้น

ทั้งนี้ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 คาดว่าจะประกาศออกมาแย่กว่าไตรมาสแรก เนื่องจากหากพิจารณาจากจำนวนวันปิดกิจการต่างๆ ที่มีมากกว่าไตรมาสแรก โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มสายการบิน และกลุ่มบริษัทที่อยู่สายการผลิตภาคอุตสาหกรรมสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างน้ำมัน ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงธุรกิจ        ภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเงิน เป็นต้น แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ก็ยังคงมีกิจการที่ได้ประโยชน์ เช่น กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มพัสดุหีบห่อกระดาษ เป็นต้น หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ความต้องการสินค้ายังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเส้นทางการขายใหม่ ด้วยการหันมาพึ่งพิงออนไลน์มากขึ้น

“รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมในภาวะเช่นนี้ อาจต้องอยู่ในลักษณะโยกซื้อหุ้นที่ได้ประโยชน์ จากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ และการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการบริโภค เช่น หุ้น CPALL, GLOBAL,HMPRO, RS,CBG, PTTGC, TOP และ CRC เป็นต้น” นายชัยพร กล่าว  

สำหรับธีมการลงทุนในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปี 63 แนะนำให้เน้น 2 ธีมหลัก นั่นคือ 1.ธีมในกลุ่มที่ได้ผลดี จากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ หลังจะมีการเปิดห้างสรรพสินค้าบางแห่ง เช่น กลุ่มพาณิชย์ และกลุ่มค้าปลีก ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มจะได้รับแรงขับเคลื่อนจากการเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจ เช่น หุ้น CRC, HMPRO, และ GLOBAL รวมถึงกลุ่มร้านอาหาร เช่น หุ้น MINT,  M,  AU และกลุ่มสินค้าบริโภคจำเป็นอย่างร้านสะดวกซื้ออย่างหุ้น CPALL

2. ธีมกลุ่มหุ้นได้ประโยชน์จากการฟื้นตัว หลังการผ่อนคลายล็อกดาวน์ระยะ 2 จะทำให้ภาคการผลิตและการบริโภคกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน ,สินค้าปิโตรเคมี และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ  ส่งผลให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้รับความน่าสนใจตามไปด้วย เช่น หุ้น PTTGC, IVL และ TOP เป็นต้น  

 อย่างไรก็ดีสำหรับการลงทุนในทองคำ ที่ผ่านมาราคาทองคำปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยมีสูงขึ้น จากความวิตกกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ทองคำยังได้ประโยชน์จากสภาพคล่องในระบบที่สูง เมื่อธนาคารกลางทั่วโลกอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อต่ำ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อ คาดว่าในเดือนพ.ค.นี้ ราคาทองคำจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,600-1,806 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ฉะนั้นแนะนำลงทุนสัดส่วนประมาณ 5-10% ของพอร์ตลงทุน

“ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แนะนำให้จัดพอร์ตลงทุน โดยแบ่งน้ำหนักการลงทุนหลักๆ ออกเป็น 4 ส่วน คือ 1.ตลาดเงินและตราสารหนี้ สัดส่วน 15% เพื่อสำรองสภาพคล่อง 2.ทองคำ สัดส่วน 16% เพื่อป้องกันความเสี่ยง 3.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์,กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานและ REITs สัดส่วน 9%  และ 4.หุ้นไทยและต่างประเทศ สัดส่วน 60%” นายชัยพร กล่าว  

นายชัยพร กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อตลาดหุ้นไทยที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ หากเชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดระลอกใหม่และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง หลังผ่อนคลายล็อกดาวน์ ตลาดหุ้นอาจตอบรับในเชิงลบ แต่หากผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในจำนวนไม่มาก และสถานการณ์ไม่น่ากังวล ตลาดหุ้นไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ดังนั้นมองว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 63 จะขึ้นอยู่ที่การฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก ซึ่งเราคาดว่า ตัวเลขเศรษฐกิจและกิจกรรมต่างๆ จะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติอาจต้องใช้เวลาถึงสิ้นปี 63 หรือต้นปี 64  

ทั้งนี้หากพิจารณาจากปัจจัยหนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ ,การอัดฉีดเงินของภาครัฐ ,การซัพพอร์ตเม็ดเงินของธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก และสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ก็เชื่อได้ว่า ตลาดหุ้นไทยจะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นอย่างช้าๆ ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 14 พ.ค. 2563 เวลา : 12:11:51
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 9:28 pm