กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผย สินค้าปศุสัตว์ยังพุ่งแรงแม้เผชิญวิกฤตโควิด-19 ทำยอดไตรมาสแรกปี 63 กว่า 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ชี้ การเปิดเมืองหลังการระบาดคลี่คลาย ประกอบกับประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ กำลังเผชิญสงครามการค้าและโรคอหิวาต์ในสุกร จะเป็นโอกาสของไทยในการใช้ FTA ขยายส่งออก ย้ำผู้ประกอบการต้องรักษาคุณภาพและความสะอาดของสินค้า สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในตลาดโลก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะเผชิญภาวะถดถอยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่สินค้าเพื่อการบริโภคยังเป็นที่ต้องการในตลาด ซึ่งไทยมีสินค้าปศุสัตว์เป็นสินค้าดาวเด่น โดยจากการติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) พบว่า ไทยสามารถส่งออกสินค้าปศุสัตว์ อาทิ ไก่แปรรูป ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ไข่ไก่ และสินค้าปศุสัตว์อื่นๆ สู่ตลาดโลกถึง 1,173 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวเกือบทุกตลาด เช่น ฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 94 มีมูลค่าส่งออก 45 ล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 71 มีมูลค่าส่งออก 245 ล้านเหรียญสหรัฐ จีน ขยายตัวร้อยละ 44.5 มีมูลค่าส่งออก 84 ล้านเหรียญสหรัฐ และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 10 มีมูลค่าส่งออก 475 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ส่งออกได้ดีในช่วงดังกล่าว เช่น ไก่แปรรูป สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 56 ขยายตัวร้อยละ 1.3 มีมูลค่าส่งออก 652 ล้านเหรียญสหรัฐ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 20 ขยายตัวร้อยละ 29 มีมูลค่าส่งออก 230 ล้านเหรียญสหรัฐ สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2 ขยายตัวร้อยละ 597 มีมูลค่าส่งออก 25 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 17 ขยายตัวร้อยละ 116.5 มีมูลค่าส่งออก 203 ล้านเหรียญสหรัฐ
นางอรมน กล่าวว่า ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความได้เปรียบและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สินค้าปศุสัตว์ของไทยอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันไทยมีเอฟทีเออยู่ 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ โดยมี 9 ประเทศ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา บรูไน และฮ่องกง ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ให้ไทยทุกรายการแล้ว ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไป 18 ประเทศคู่เอฟทีเอรวม 3,393 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 82 ของการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยทั้งหมด และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลง FTA ฉบับแรกของไทยกับอาเซียนมีผลใช้บังคับ พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยขยายตัวขึ้นถึงร้อยละ 785 หากแยกรายตลาด พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด เช่น จีน ขยายตัวร้อยละ 8,013 อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 4,753 ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 1,600 เกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 752 และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 419 เป็นต้น
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้บางประเทศ อาทิ จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และอาเซียน เริ่มฟื้นตัวและผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง รวมถึงมีความต้องการสินค้าอาหารที่สูงขึ้น ประกอบกับประเทศผู้ส่งออกสินค้าปศุสัตว์อื่นๆ กำลังเผชิญกับสงครามการค้าและโรคอหิวาต์ในสุกรระบาด จึงเป็นโอกาสของไทยในฐานะครัวโลกที่จะขยายการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานการผลิต ให้สินค้าปศุสัตว์ไทยมีความสะอาดปลอดภัย ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค และทำให้สินค้าปศุสัตว์ไทยเป็นที่นิยมในตลาดโลกได้
ข่าวเด่น