ซีเอสอาร์-เอชอาร์
โครงการ ''ส่งพลาสติกกลับบ้าน'' โมเดลต้นแบบการเรียกคืนขยะที่มีประสิทธิภาพ


จากสถานการณ์วิกฤต COVID-19 ที่กำลังส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะในประเทศไทย ตามรายงานกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ล่าสุดพบว่า ขยะ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15 จาก 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่หรือ recycle ประมาณ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ไม่ถูก recycle ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากขยะขาดการคัดแยกที่ต้นทาง ถือเป็นการเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network – TRBN) และภาคีต่าง ๆ เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างครบวงจรและยั่งยืน ผ่านการมีส่วนร่วมและความร่วมมือของภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน จึงริเริ่มโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” รณรงค์ประชาสัมพันธ์การ “แยกที่บ้าน ฝากทิ้งที่เรา” และให้ความรู้การคัดแยกขยะพลาสติกแก่ผู้บริโภคตั้งแต่ต้นทาง เพื่อความปลอดภัยของซาเล้งและพนักงานเก็บขยะ ลดปริมาณขยะพลาสติกสู่บ่อฝังกลบ และเพิ่มการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ผ่านกระบวนการ recycle/upcycle ของบริษัทเอกชน และเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เกิดขึ้นได้จริง

 

โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มต้นนำร่อง 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2563 ด้วย ผ่านการตั้งจุดรับพลาสติกจำนวน 10 จุดในถนนสุขุมวิท ได้แก่ 1) Emporium 2) EmQuartier 3) Singha Complex 4) Bambini Villa 5) Broccoli Revolution 6) A Square 7) The Commons 8) Tesco Lotus สุขุมวิท 51 9) CP Fresh Mart เพชรบุรี 38/1 (สุขุมวิท 39) 10) Veggiology โดยรับขยะพลาสติก 2 ประเภท คือ พลาสติกยืดและพลาสติกแข็ง ที่ทำความสะอาดเรียบร้อยจากประชาชนทั่วไป และมีแอพพลิเคชั่น ECOLIFE เก็บแต้มสะสมแลกของสมนาคุณต่าง ๆ มีผู้สนับสนุนระบบ logistics ผู้ดำเนินธุรกิจ recycle/upcycle และ brand owners ที่มีนโยบายเรื่องการเรียกคืนขยะพลาสติกที่ชัดเจน รวมทั้งผู้สนับสนุนด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และมีนักวิชาการมาร่วมออกแบบการเก็บข้อมูลวิจัยถอดบทเรียน เพื่อการต่อยอดขนาดผลต่อไป รวมมีภาคีจาก 24 องค์กร ประกอบด้วยภาคเอกชนขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ถือเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายตลอดห่วงโซ่คุณค่าพลาสติก เพื่อ close loop นำพลาสติกจากผู้บริโภคส่งเข้าสู่กระบวนการจัดการให้สามารถแปรรูปกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ผู้บริโภคใช้อีกครั้ง เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน

“ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ช่วยกันมีแนวคิดต่าง ๆ มีโครงการต่าง ๆ เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่ออนาคตที่ดีของประเทศเราวันนี้เห็นแล้วว่า เมื่อเราไม่เอาขยะไปทิ้งตามที่ต่าง ๆ ไม่มีใครเดือดร้อน ดังนั้น ถึงเวลาที่เราต้องหาวิธีทำให้เป็น full circular economy  ด้วยแนวทางการทำงานในวันนี้ เราสามารถที่จะแปรรูปพลาสติกที่เราไม่ใช้แล้ว ตอนนี้เรามีความคิดว่าเราส่งพลาสติกกลับบ้าน มาเปลี่ยนพลาสติกให้เป็นบุญ เช่น ทาง GC นำพลาสติกมา upcycle มาเป็นเสื้อยืด ของเล่น วัสดุต่าง ๆ  รวมไปถึงจีวรพระ ซึ่งเทคโนโลยีสามารถทำให้เต็ม loop ได้ ดังนั้น ต้องตัดคำว่า สะดวก สบาย ถ้าเราเอาคำนี้ออกไปได้ ปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง ล้นประเทศจะลดลง และส่งพลาสติกไปในที่ที่พลาสติกจะไป ไม่ว่า จะกลับบ้าน หรือ เปลี่ยนอะไรก็แล้วแต่ วันนี้ เราทั้งฝ่ายภาครัฐ ภาคประชาชน มาช่วยกันเพื่อให้อนาคตท้องทะเลจะได้ไม่มีพลาสติก สัตว์ป่าไม่ต้องกินพลาสติกเป็นอาหาร และช่วยรักษาโลกให้กับคนรุ่นหลังต่อไป” นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ก.ล.ต. ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนผนวก ESG เข้ากับการทำธุรกิจของตนเองเพื่อความยั่งยืน และให้เปิดเผยข้อมูลการดำเนินการที่เกี่ยวกับ ESG สนับสนุนให้มีการเผยแพร่องค์ความรู้ ออกคู่มือและแนวทางปฏิบัติที่ดี ตลอดจนจัดกิจกรรมและโครงการเพื่อส่งเสริมการดำเนินการให้บรรลุผล อาทิ โครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การร่วมจัดตั้งเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย TRBN โครงการถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ มุ่งหมายเพื่อเชิญชวนบริษัทจดทะเบียนและบริษัทอื่น ๆ ที่มีที่ทำการหรือมีโครงการอยู่ในแนวถนนวิภาวดีรังสิต มาร่วมกันกับ ก.ล.ต. ในการบริหารจัดการขยะภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน ต้องขอขอบคุณ TRBN เป็นอย่างยิ่งที่ริเริ่มโครงการและได้เชิญชวนให้ ก.ล.ต. เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ซึ่งเป็นการจัดการปัญหาพลาสติกที่ตรงจุดและทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy และเชื่อมั่นว่าจะเป็นจุดตั้งต้นสำคัญในการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง จึงขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนและมีส่วนร่วมในโครงการนี้ต่อไป” นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

“การจะทำให้ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” เกิดได้จริง ทำคนเดียวไม่ได้ ภาครัฐทำเองไม่ได้ ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งก็ไม่ได้ต้องอาศัยการจับมือของหลายบริษัทตลอดห่วงโซ่พลาสติก และที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการคัดแยกพลาสติกที่ต้นทาง อีกทั้งการสนับสนุนผลักดันของภาครัฐ เราจึงรวมตัวกันพัฒนาเป็นโครงการนำร่องบนถนนสุขุมวิทและเปิดจุด drop point มีกระทรวงทรัพยากรฯ ภาคเอกชนขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ภาคประชาสังคมและวิชาการ รวม 24 องค์กร จับมือกัน เพื่อนำพลาสติกใช้แล้วจากผู้บริโภคเข้าสู่กระบวนการ recycle แปรรูปเพื่อส่งกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคใช้อีกครั้ง หรือเรียกว่า ปิด loop”  นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย

“GC ริเริ่มโครงการร่วมกับภาคีพันธมิตร โดยนำร่องจุด Drop Point บนถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นสังคมเมืองอย่างแท้จริง GC เชื่อมั่นในเรื่องความยั่งยืน และนำมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก ในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดย GC มีทางออกให้กับทุกคน 1. Bioplastics - ฝังกลบ แล้วเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2. พลาสติกมีประโยชน์ - ใช้ให้เป็น ทิ้งให้ถูก 3. ความร่วมมือ - เกิดเป็น ecosystem ร่วมกับภาครัฐและเอกชน โดยการทำให้สำเร็จต้องเริ่มจากที่บ้าน เชื่อว่า New Norm คือ พลาสติกเป็นสิ่งมีประโยชน์แต่ต้องถูกจัดการอย่างถูกต้อง GC ยินดีแชร์องค์ความรู้และสนับสนุนให้เกิดการขยายผล” นายคงกระพัน อิทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

“การเรียนรู้และวิจัยพัฒนา เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญสำหรับการต่อยอด “โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน” ให้เป็นต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มาพร้อมกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมอย่างยั่งยืน” ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ปัญหาขยะพลาสติก เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นมานาน และกำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศของโลก ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม พลาสติกมีประโยชน์อย่างยิ่งแต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีอย่างเป็นระบบภายใต้แนวคิด circular economy เพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ซีพีเอฟ จึงเข้าร่วมกับเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทยในการจัดทำโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” โดยการดึงการมีส่วนร่วมทั้งจากผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งพลาสติกกลับคืนสู่แหล่งที่มา เพื่อนำไปหมุนเวียนกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายประสิทธิ์ บุญดวงประสิทธิ์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ

“ในสภาพสังคมปัจจุบัน ที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันในทุก ๆ ปี และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้างซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป บริษัท แก้วกรุงไทย จำกัด ผู้พัฒนา Application C3Leng (ซีซาเล้ง) ซึ่งเป็นแอปฯ การจัดการขยะรีไซเคิล มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ซึ่งจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกตกค้างในชุมชน โดยการนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากประชาชนทุกภาคส่วน และประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์” นายบุญชู สถิตมั่นในธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แก้วกรุงไทย จำกัด

“บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้เพื่อสอดคล้องกับหลักการ circular economy โดยการรีไซเคิลนั้นมีหัวใจสำคัญคือ การแยกขยะอย่างถูกต้อง ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนแยกขยะและเข้าใจหลักการรีไซเคิล บริษัทฯ จึงได้จัดตั้งโครงการ “วน” และร่วมสนับสนุนโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน ซึ่งเป็นโครงการที่รับพลาสติกชนิดยืดและพลาสติกแข็งจากประชาชนมารีไซเคิล เพื่อเป็นการเสริมสร้างให้ประชาชนมีจิตสำนึกที่ดีและเข้าใจการรีไซเคิลได้อย่างเป็นรูปธรรม” นายกมล บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) และผู้ก่อตั้งโครงการวน

“ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ประกาศความร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ในโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ทั้งนี้ ยูนิลีเวอร์ได้มีแผนการการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน (Unilever Sustainable Living Plan) เพื่อเป็นกรอบการปฏิบัติให้การเติบโตของธุรกิจของเราไม่สร้างผลกระทบต่อสังคม และยกระดับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนซึ่งปี 2563 นี้จะครบรอบ 10 ปีของ USLP รวมทั้งเรามีพันธกิจที่จะลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมลงครึ่งหนึ่ง ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ สามารถรีไซเคิลได้ หรือย่อยสลายได้ 100% และเมื่อปีที่ผ่านมา เราได้ประกาศแผนลดการใช้พลาสติกใหม่ (Virgin Plastic) ในบรรจุภัณฑ์ลงครึ่งหนึ่งและให้คำมั่นที่จะเก็บและแปรรูปบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้มากกว่าที่ขาย ทั้งหมดนี้จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 ทั้งนี้ ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย อยู่บนเส้นทางแห่งการปฏิวัติพลาสติกโดยได้เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกใหม่เป็นพลาสติกรีไซเคิลแบบ post-consumer recycled (PCR) แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ดีพอ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการแยกประเภทขยะตั้งแต่ต้นทาง การทำความสะอาด และการจัดเก็บที่เป็นกุญแจสำคัญที่จะก้าวไปสู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน หนึ่งในขยะพลาสติกที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายคือ ขยะพลาสติกกำพร้าที่ไม่มีใครอยากได้แต่สามารถไปรีไซเคิลได้ ประเภทที่ไม่ยืดและประกอบด้วยพลาสติกหลายชั้น เช่น ถุงขนม ถุงเติมสบู่และน้ำยาแบบต่าง ๆ ดังนั้นการส่งพลาสติกกำพร้าเหล่านี้กลับบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการลดขยะพลาสติก และมอบวงจรชีวิตใหม่กับพลาสติกเหล่านั้นต่อไป” นางณัฏฐิณี เนตรอำไพ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายองค์กรและสื่อมวลชนสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย

บันทึกโดย : วันที่ : 18 พ.ค. 2563 เวลา : 18:36:02
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 1:41 pm