ยานยนต์
ALT ลุยพัฒนาซอฟแวร์งานจราจรขนส่งทั้งระบบ ชูประสิทธิภาพสูงหนุนรายได้เติบโตอย่างยั่งยืน


“เอแอลที” ลุยพัฒนาซอฟแวร์ “Pixenze” รองรับงานจราจรขนส่งในประเทศทั้งระบบ ภาครัฐ-เอกชน ให้ความสนใจ หวังรายได้จากการขายและงานบริการ หนุนบริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน ชูประสิทธิภาพสูงมีความแม่นยำของการอ่านป้ายทะเบียนได้ถึง 98% แถมยังช่วยลดต้นทุนภาครัฐ-เอกชน กว่า 50% เมื่อเทียบกับซอฟแวร์ของต่างประเทศ

 


?นายปริญญ์ ชากฤษณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (Business Development Director and Data Scientist) บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ได้พัฒนาซอฟแวร์ Pixenze สำหรับประมวลผลภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิด (CCTV) โดยประมวลผลแบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นซอฟแวร์ที่จะสามารถประมวลผลภาพชุดวิดีโอเพื่อแยกแยะวัตถุออกได้อัตโนมัติและมีความแม่นยำสูง ในเบื้องต้นของการพัฒนาซอฟแวร์ จะใช้สำหรับอ่านและจดจำป้ายทะเบียนยานพาหนะภายในประเทศแบบอัตโนมัติ

ทั้งนี้บริษัทได้มีการพัฒนาซอฟแวร์ Pixenze อย่างต่อเนื่อง จนช่วยเสริมในการพัฒนาระบบการจราจรขนส่งอัจฉริยะของประเทศไทย หรือ ITS (Intelligent Transportation System) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เป็นไปตามนโยบายหลักของรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนาระบบการจราจรในประเทศให้มีประสิทธิภาพ  และทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น สามารถเข้าถึงระบบตรวจวิเคราะห์สภาพการจราจร  ตรวจสอบรถสูญหาย ถูกโจรกรรม  จัดการระบบบริหารจอดรถทั้ง Indoor และ Outdoor ได้อัตโนมัติ หรือนำมาใช้ในการตัดเงินอัตโนมัติตามทางด่วนหรือโซนควบคุมการเข้าออกเส้นทางช่วงคับขัน เป็นต้น
 

นายปริญญ์ กล่าวต่อว่า บริษัทใช้เวลาในการทดสอบและพัฒนาซอฟแวร์มากว่า 5 ปี เพื่อต่อยอดกับโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ที่ทางบริษัทมีรองรับอยู่ทั่วประเทศ ในมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท โดยได้มีการนำระบบซอฟแวร์ประเภทประมวลผลภาพมาใช้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นซอฟแวร์นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีราคาค่าใช้จ่ายของต้นทุนสูง และพบปัญหาเกี่ยวกับการอ่านชนิดของป้ายทะเบียนรถของประเทศไทยที่มีความหลากหลายซับซ้อน ขณะที่ซอฟแวร์ Pixenze พัฒนาในประเทศโดยคนไทยทุกกระบวนการ ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 50% และป้ายทะเบียนรถในประเทศไทยมีความหลากหลาย เช่น ป้ายแดง ป้ายเหลือง ป้ายรถขนส่ง ป้ายราชการ โดยซอฟแวร์ Pixenze เราพัฒนาให้เรียนรู้ชนิดของป้ายที่ซับซ้อน เรารวบรวมชุดข้อมูลป้ายเพื่อ ให้ซอฟแวร์จดจำชนิดป้ายมากกว่า 500,000 ชุดข้อมูล ครบทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย รวมถึง อำเภอเบตง

ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจจากทั้งภาครัฐ และเอกชน ในอนาคตคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ ทั้งในรูปแบบ การขาย ให้เช่า และให้บริการหลังการขาย 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 21 พ.ค. 2563 เวลา : 14:25:09
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 1:26 pm