หุ้นทอง
ซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า Book Value ยิ่งดี


มูลค่าทางบัญชี ( Book Value ) ก็คือ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของบริษัท (Net Asset Value) ตามงบดุล สามารถคำนวณได้จากนำสินทรัพย์รวมลบด้วยหนี้สินรวม และเหลือเป็นส่วนของผู้ถือหุ้น

มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ และคุณฐิติเมธ โภคชัย วันนี้ขออธิบายให้เห็นและเข้าใจง่ายขึ้น จากตัวตัวอย่างเช่น

บริษัท ABC มีมูลค่าสินทรัพย์รวมเท่ากับ 100 ล้านบาท และมูลค่าหนี้สินรวมเท่ากับ 80 ล้านบาท ดังนั้น มูลค่าทางบัญชีของบริษัทจะเท่ากับ 20 ล้านบาท

หรืออีกนัยหนึ่งถ้าบริษัทขายสินทรัพย์และจ่ายหนี้สินทั้งหมด ส่วนของผู้ถือหุ้นหรือมูลค่าสินทรัพย์สุทธิทางบัญชีของบริษัทจะเท่ากับ 20 ล้านบาท

 
 
ในขณะที่มูลค่าตามราคาตลาด (Market Value) คือ มูลค่าของบริษัทตามราคาหุ้น (ในปัจจุบัน) คูณด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งมูลค่าตามราคาตลาดจะถูกประเมินมูลค่า ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ นักลงทุนที่มีต่อบริษัทนั้นๆ
 
หนึ่งในอัตราส่วนทางการเงินยอดนิยมในการเปรียบเทียบราคาหุ้นกับมูลค่าทางบัญชีที่นักลงทุนคุ้นเคยกันดี คือ Price to Book Value (P/BV Ratio) เป็นการคำนวณจากราคาตลาดของหุ้น หารด้วยมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (ส่วนของเจ้าของ) ซึ่งเป็นการบอกให้รู้ว่าราคาหุ้น ณ ขณะนั้น สูงเป็นกี่เท่าของมูลค่าทางบัญชีของหุ้นตัวนั้น ยิ่งซื้อหุ้นได้ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีมากเท่าไหร่ยิ่งดี (P/BV Ratio ต่ำ) แสดงว่าสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของบริษัท
 
ถ้า P/BV Ratio เท่ากับ 1 เท่า หมายความว่า นักลงทุนจ่ายเงินในการเป็นเจ้าของหุ้นตัวนั้นเท่ากับเจ้าของ เช่น ราคาหุ้น 10 บาท และมีมูลค่าหุ้นทางบัญชี 10 บาทต่อหุ้น ค่า P/BV Ratio ที่ได้ออกมาเท่ากับ 1 เท่า (10/10 = 1) หมายความว่า ถ้าเจ้าของมีหุ้นมูลค่า 1 บาทต่อหุ้น วันนี้นักลงทุนจะซื้อหุ้นตัวนี้ได้ 1 บาท เท่ากับเจ้าของ
 
ถ้า P/BV Ratio มีค่ามากกว่า 1 เท่า หมายความว่า นักลงทุนจ่ายเงินเพื่อเป็นเจ้าของหุ้นตัวนั้นมากกว่าเจ้าของ เช่น ราคาหุ้นเท่ากับ 10 บาท และมูลค่าหุ้นทางบัญชี 8 บาทต่อหุ้น ค่า P/BV Ratio ที่ได้ออกมาเท่ากับ 1.25 เท่า (10/8 = 1.25) หมายความว่า ถ้าเจ้าของมีหุ้นมูลค่า 1 บาทต่อหุ้น วันนี้นักลงทุนจะซื้อหุ้นตัวนี้แพงกว่าเจ้าของ 25 สตางค์
 
ถ้า P/BV Ratio มีค่าน้อยกว่า 1 เท่า หมายความว่า นักลงทุนจ่ายเงินเพื่อเป็นเจ้าของหุ้นตัวนั้นต่ำกว่าเจ้าของ เช่น ราคาหุ้น 10 บาท และมูลค่าหุ้นทางบัญชีเท่ากับ 12 บาทต่อหุ้น ค่า P/BV Ratio เท่ากับ 0.83 เท่า (10/12 = 0.83) หมายความว่า ถ้าเจ้าของมีหุ้นมูลค่า 1 บาทต่อหุ้น วันนี้นักลงทุนจะซื้อหุ้นตัวนี้ถูกกว่าเจ้าของ 17 สตางค์
 
ดังนั้น หากหุ้นที่มี P/BV Ratio มีค่าน้อยกว่า 1 เท่า ถือเป็นโอกาสดีของนักลงทุน เพราะจะได้ซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม P/BV Ratio ที่ต่ำกว่า 1 เท่า ไม่ได้แปลว่า ราคาหุ้นจะถูกเสมอไป เพราะอาจจะมาจากการถูกประเมินมูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่สูงเกินไป หรือผลประกอบการของบริษัท กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ รวมถึงการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่มีลักษณะขาดสภาพคล่อง
 
การวิเคราะห์ค่า P/BV Ratio เพื่อประเมินมูลค่าหุ้น ย่อมไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน ดังนั้น นักลงทุนควรใช้เครื่องมือการวิเคราะห์อื่นๆ ตัวเลขผลประกอบการของบริษัท รวมถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารควบคู่ไปด้วย
 
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติม โดย คุณปริพรรห์ ปริยอุดมทรัพย์ มองว่า 1.อย่ามองข้ามหุ้น P/BV Ratio สูงๆ เพราะว่าการบันทึกมูลค่าตามบัญชีนั้น ทรัพย์สินบางอย่าง ไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเลขแล้วเอาไปใส่ในงบการเงินได้ ทำให้ทรัพย์สินใดก็ตามที่มีลักษณะแบบนี้ จะไม่มีการบันทึกลงในงบการเงิน เช่น ความน่าเชื่อถือของตราสินค้า ยี่ห้อของบริษัท ความเก่งกาจของผู้บริหาร พนักงาน ซึ่งถ้าบริษัทไหนมีทรัพย์สินประเภทนี้เยอะ มูลค่าตามบัญชีก็จะต่ำ และอาจส่งผลให้ P/BV Ratio สูง

ดังนั้น ถ้านักลงทุนเลือกหุ้นโดยพิจารณาแค่มี P/BV Ratio ต่ำ และมองข้ามหุ้นที่มี P/BV Ratio สูง ไม่แน่ว่าอาจกำลังมองข้ามโอกาสดีในการลงทุนก็ได้
 
2. อย่าเลือกแต่หุ้น P/BV Ratio ต่ำๆ เป็นธรรมดาของนักลงทุนที่เมื่อเห็นของที่มี “มูลค่าต่ำๆ” แล้ววิ่งเข้าหา แต่ในบางกรณี P/BV Ratio ต่ำๆ อาจจะต่ำโดยธรรมชาติของอุตสาหกรรมที่มักจะไม่ได้ซื้อขายกันที่ P/BV Ratio สูงๆ ก็ได้ หรือหุ้นตัวนั้นอาจไม่ดีจริงจนถึงขั้นที่นักลงทุนให้ค่าน้อยมาก ทำให้ P/BV Ratio ต่ำมาก แต่การที่นักลงทุนจะรู้ว่า P/BV Ratio ที่ควรจะเป็นมีค่าเท่าไหร่นั้น ก็ต้องดูอัตราส่วนทางการเงินอื่นๆ รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลด้านอื่นร่วมด้วย
 
3. หุ้นขึ้นลงด้วยกำไรไม่ใช่มูลค่าตามบัญชี P/BV Ratio มูลค่าตามบัญชี P/BV Ratio เหมาะแก่การใช้วิเคราะห์ความถูกความแพงเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าน่าซื้อ น่าขาย ดีหรือไม่ดี เพราะ P/BV Ratio คำนึงถึงมูลค่าหุ้นตามบัญชีเป็นหลัก ซึ่งในความเป็นจริง เวลาหุ้นขึ้นหรือลงไม่ได้ขึ้นลงตามมูลค่าตามบัญชี แต่ขึ้นลงด้วยกำไร ถ้าบริษัททำธุรกิจเก่ง มีกำไรเพิ่มขึ้น หุ้นก็ต้องขึ้นแน่นอน แม้ว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชีจะลดลงก็ตาม
 
เงื่อนไขในการคัดกรอง
 
1. P/BV Ratio ต่ำกว่า 1 เท่า (ข้อมูล ณ 24 เมษายน 2563)
2. รายได้รวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 – 2562)
3. กำไรสุทธิต้องเป็นบวก (ห้ามขาดทุน) ต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 – 2562)
4. P/E Ratio ต่ำกว่า 10 เท่า (ข้อมูล ณ 24 เมษายน 2563)
 

 


บันทึกโดย : วันที่ : 26 พ.ค. 2563 เวลา : 10:44:28
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 11:41 am