หุ้นทอง
SET CEO Survey (Special Issues): บริษัทจดทะเบียนเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง


Executive Summary

ในปี 2563 บริษัทจดทะเบียนไทยต้องเผชิญกับความท้าท้ายจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของบริบทในการดำเนินงานธุรกิจ ที่เสมือนบังคับให้บริษัทจดทะเบียนต้องมีการปรับตัวด้วยอัตราเร่ง ทั้งปัญหาหมอกควันและ PM2.5 ที่ต้องเร่งเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการทำงาน ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ต้องเร่งพัฒนาธุรกิจออนไลน์ ตลอดจนใช้เทคโนโลยี่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน และใช้แผนสำรองธุรกิจ (BCP) อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่กำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ ซึ่งกรมชลประทานคาดว่าปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำจะเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ดังนั้น สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุนและสมาคมบริษัทจดทะเบียนได้ร่วมมือกันจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในช่วงวันที่ 20 มกราคม - 24 มีนาคม 2563 เพื่อประเมินผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมแผนสำรองทางธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนกรณีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนร่วมตอบแบบสอบถาม 110  บริษัท จาก 26 หมวดธุรกิจ  มีมูลค่าหลักทรัพย์รวมคิดเป็น 41% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด สรุปได้ดังนี้
 
** ปัญหาหมอกควันและ PM2.5 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน จำนวนลูกค้า และสุขภาพพนักงาน และบริษัทจดทะเบียนเกือบครึ่งหนึ่งได้เตรียมแผนสำรองทางธุรกิจไว้รองรับกรณีนี้แล้ว
 
- 38% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและ PM 2.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเหมืองแร่ ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงาน อาทิ การจำกัดเวลาในการทำงานตามนโยบายภาครัฐ การปรับสภาพแวดล้อมการทำงานเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ  เป็นต้น ขณะที่บางบริษัทได้รับผลกระทบในด้านยอดขายที่ลดลงจากจำนวนลูกค้าที่ลดลงเนื่องจากการหลี่กเลี่ยงมลพิษ และบริษัทจดทะเบียนบางส่วนประสบปัญหาการลาป่วยของพนักงานเพิ่มมากขึ้นจากปัญหาทางเดินหายใจ
 
- บริษัทจดทะเบียนจัดการผลกระทบของปัญหาหมอกควันและ PM2.5 หลายแนวทาง อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มน้ำมันเพื่อลดตะกั่วและฝุ่นละอองในอากาศ การปรับคุณภาพเครื่องจักรหรือการบำรุงรักษาเครื่องจักรไม่ให้ก่อมลพิษ การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน อาทิ การพ่นละอองน้ำ การจัดตั้งเครื่องฟอกอากาศ การให้ความรู้พนักงานและส่งเสริมให้พนักงานใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น
 
- 45% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าปัญหาฯ นี้มีผลกระทบและมีการเตรียมแผน BCP ไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว และ 14% คาดว่ามีผลกระทบต่อบริษัทแต่ยังไม่มีแผน BCP ขณะที่  41% คาดว่าบริษัทไม่ได้รับผลกระทบ
 
** ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 บริษัทจดทะเบียนได้มีการปรับตัว และใช้แผนสำรองธุรกิจตามที่ได้นำเสนอแล้วใน SET Note 2/2563 เรื่อง SET CEO Survey (Special Issue) การรับมือของบริษัทจดทะเบียนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เผยแพร่ไปแล้วในเดือนมีนาคม 2563
 
• ปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในปีนี้นับว่ารุนแรงที่สุด เมื่อพิจารณาจากข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนของกรมชลประทาน 15 ปีย้อนหลังพบว่า ณ 13 เมษายน 2563 มีปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยทีสุดในรอบ 15 ปี โดย 22 จาก 33 เขื่อน ที่ระดับน้ำอยู่ใน  “ระดับน้อย” ถึง “ระดับน้อยวิกฤติ” 
 
- 38% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนบางบริษัทใช้น้ำเป็นปัจจัยการผลิต ใช้น้ำในขั้นตอนการผลิต ขณะที่บริษัทจดทะเบียนบางส่วนคาดว่า ปัญหาภัยแล้งฯ จะส่งผลต่อกำลังซื้อในอนาคต ส่งผลให้ยอดขาย และความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ลดลง
 
- บริษัทจดทะเบียนรับมือกับปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ ทั้งการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การหาแหล่งน้ำใหม่ เป็นต้น และสำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม วางแผนธุรกิจใหม่ อาทิ การหาลูกค้ากลุ่มใหม่ การเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เป็นต้น
 
- 47% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ ขณะที่ 40% คาดว่าปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทและมีแผน BCP รองรับเรียบร้อย  ขณะที่ 13% คาดว่ามีผลกระทบต่อบริษัทแต่ยังไม่มีแผน BCP 
 
• นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของบริษัทจดทะเบียนต่อ 10 เหตุการณ์ที่บริษัทจดทะเบียนคาดการณ์จะได้รับผลกระทบและการจัดเตรียมแผนสำรองธุรกิจ (BCP) ไว้รองรับ ได้แก่ 1) น้ำท่วม 2) ภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ  3) แผ่นดินไหว / แผ่นดินถล่ม 4) ภัยจากพายุ 5) ไฟไหม้ 6) หมอกควัน / PM2.5 7) ภัยสงคราม หรือจราจล  8) ระบบกักเก็บน้ำสาธารณะเสียหาย อาทิ เขื่อนแตก  9) การโจรกรรมข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลรั่วไหล และ 10) ระบบสาธารณูปโภคในบริษัทเสียหาย (อาทิ ระบบไฟฟ้า น้ำ โทรศัพท์ล่ม) พบว่า 
 
•ประมาณ 80% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม มีแผนสำรองทางธุรกิจสำหรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินงานปกติ (Business as usual) ของบริษัท อาทิ แผนสำรองสำหรับกรณีสาธารณูปโภคมีปัญหา การโจรกรรมข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เหตุการณ์ไฟไหม้ เป็นต้น
 
•67% มีแผนสำรองกรณีภัยธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้น อาทิ กรณีน้ำท่วม เป็นต้น
 
•ขณะที่เหตุการณ์ระบบกักเก็บน้ำสาธารณะเสียหาย (อาทิ เขื่อนแตก) ภัยจากสงครามหรือภัยจากการจลาจล  และภัยจากพายุ เป็นเหตุการณ์ที่บริษัทจดทะเบียนคาดว่าเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นบริษัทจะได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่มีแผน BCP ครอบคลุมเหตุการณ์ดังกล่าว (ประมาณ 20% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม)
 
•เหตุการณ์ที่บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการ คือ ระบบกักเก็บน้ำสาธารณะเสียหาย (อาทิ เขื่อนแตก)

จัดทำโดย 
 
สุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์ ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร
 
สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน (CMRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมมือกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA) และ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อทราบมุมมองจากผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจ แนวโน้มการส่งออก การลงทุนและการระดมทุน และตลอดจนความคิดเห็นของผู้บริหารต่อประเด็นสำคัญต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา ระหว่างวันที่ 20 มกราคม - 24 มีนาคม 2563 ได้มีการสอบถามประเด็นคำถามพิเศษเกี่ยวกับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และการเตรียมแผนสำรองทางธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนกรณีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนร่วมตอบแบบสอบถาม 110  บริษัท จาก 24 หมวดธุรกิจ  มีมูลค่าหลักทรัพย์รวมคิดเป็น 41% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ปัญหาหมอกควันและ PM2.5  ส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนต่อการดำเนินงาน จำนวนลูกค้า และสุขภาพพนักงาน และบริษัทจดทะเบียน โดยเกือบครึ่งหนึ่งได้เตรียมแผนสำรองทางธุรกิจรองรับ
 
• 38% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและ PM 2.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563  (ภาพที่ 1) โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเหมืองแร่ ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงาน อาทิ การจำกัดเวลาในการทำงานตามนโยบายภาครัฐ การปรับสภาพแวดล้อมการทำงานเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ  เป็นต้น  
 
• บางบริษัทได้รับผลกระทบในด้านยอดขายที่ลดลงจากจำนวนลูกค้าที่ลดลงเนื่องจากการหลี่กเลี่ยงมลพิษ และบริษัทจดทะเบียนบางส่วนประสบปัญหาการลาป่วยของพนักงานเพิ่มมากขึ้นจากปัญหาทางเดินหายใจ
 
 
 
 
• บริษัทจดทะเบียนมีการปรับตัวเพื่อจัดการปัญหาหมอกควันและ PM2.5 หลายแนวทาง สรุปภาพรวมได้ 8 วิธี (ภาพที่ 2)ได้แก่
 
** ปรับปรุงสินค้าและบริการ  / ผลิตสินค้าใหม่
 
บริษัทจดทะเบียนในหมวดธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ให้ความสำคัญในการผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็วคุณภาพสูงสุดพิเศษที่มีกำมะถันต่ำโดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีค่ากำมะถันต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดประมาณ 5 เท่าโดยสามารถช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ประมาณร้อยละ 24 และรถควันดำได้ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลเหมือนเดิมปกติ อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลธรรมดาถึง 2 บาทต่อลิตรทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาที่ถูกด้วยยิ่ง ขณะบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมในตลาดเอ็ม เอ ไอ ใช้โอกาสในการผลิตและจำหน่ายเครื่องฟอกอากาศ
 
** ปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ในการผลิต 
 
บริษัทจดทะเบียนมีการลงทุนในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องจักรให้สามารถทำงานในลักษณะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลพิษ ขณะเดียวกันบริษัทจดทะเบียนดูแลการเดินเครื่องผลิตและการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พยายามลดขั้นตอนการทำงานที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง
 
** การปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมกับการทำงานบรเวณไซต์ทำงาน
 
บริษัทจดทะเบียนในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ควบคุมขั้นตอนการทำงานที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง และพยายามลดประมาณฝุ่นละอองในอากาศ อาทิ การฉีดพ่นน้ำเพื่อฝุ่นละอองในการทำงาน การติดตั้งผ้าใบหรือผ้าบลูชีทป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง การฉีดพ่นน้ำบริเวณเส้นทางเดินรถในบริเวณที่ทำงาน เป็นต้น

** การหยุด / การปรับระยะเวลาทำงานบางช่วงเวลา
 
บริษัทจดทะเบียนในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือหมวดเหมืองแร่หยุด / การปรับระยะเวลาทำงานบางช่วงเวลา ตามที่ภาครัฐกำหนด อาทิ หยุดการทำงานในวันที่ฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสูง
 

** การปรับสภาพแวดล้อมทางการทำงานให้เหมาะสมและถูกต้องตามสุขลักษณะ
 
บริษัทจดทะเบียนในเกือบทุกหมวดธุรกิจมีการปรับสภาพแวดล้อมการทำงานเพื่อให้เหมาะสมและไม่กระทบต่อสุขภาพของพนักงาน อาทิ การติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ หรือใช้รถดูดฝุ่นของบริษัทจดทะเบียนในหมวดธุรกิจวัสดุก่อสร้าง

** การรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขอนามัยแก่พนักงาน
 
บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ให้ความรู้พนักงานเกี่ยวกับผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ต่อระบบทางเดินหายใจ แจกหน้ากากอนามัย รณรงค์ให้พนักงานใช้หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่นอกอาคาร รณรงค์ให้พนักงานงดออกกำลังกายนอกอาคารในวันที่ฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสูง
 
** การรณรงค์ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการลดฝุ่น PM2..5
 
ส่งเสริมพนักงานในการรถสาธารณะ การใช้นโยบายใช้นโยบายเดินทางเส้นทางเดียวกันใช้รถคันเดียว (Car Pool) การจัดรถไว้รับส่งพนักงาน 
 
** การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาองค์รวมของประเทศ
 
บริษัทจดทะเบียนบางบริษัทร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยต่างๆ ในการพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 จัดสร้างเครื่องบำบัดอากาศต้นแบบ

• เมื่อให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนพิจารณาผลกระทบและการกำหนดแผนสำรองทางธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาหมอกควันและ PM 2.5 พบว่า 45% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าปัญหาฯ นี้มีผลกระทบและมีการเตรียมแผน BCP ไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว ขณะที่อีก 14% คาดว่ามีผลกระทบต่อบริษัทแต่ยังไม่มีแผน BCP ขณะที่  41% คาดว่าบริษัทไม่ได้รับผลกระทบ

หมายเหตุ: ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 บริษัทจดทะเบียนได้มีการปรับตัว และใช้แผนสำรองธุรกิจตามที่ได้นำเสนอแล้วใน SET Note 2/2563 เรื่อง SET CEO Survey (Special Issue) การรับมือของบริษัทจดทะเบียนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เผยแพร่ไปแล้วในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน  https://bit.ly/2XvFmvD

บริษัทจดทะเบียนเตรียมรับมือปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ ทั้งการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การหาแหล่งน้ำใหม่ โดย 53% คาดว่าจะได้รับผลกระทบ โดย 38% ได้รับผลกระทบแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี 2563
 
• ปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาภัยแล้งในปีนี้ นับว่ารุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งจากรายงานสถานภาพน้ำเขื่อนต่างๆ กรมชลประทานที่เปิดเผยในช่วง 15 ปีย้อนหลัง พบว่า ณ 13 เมษายน 2563 ปริมาณน้ำใน 33 เขื่อนทั่วประเทศ มีเพียง 38,381  ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ  55% ของระดับน้ำเก็บกักของอ่างฯ แต่สามารถนำมาใช้ได้เพียง 14,853 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น และปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีถึง 22 เขื่อนจาก 33 เขื่อนที่ภาวะน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับ “น้ำน้อย” - “น้ำน้อยวิกฤติ” โดย 8 เขื่อนที่มีระดับน้ำอยู่ในระดับ “น้ำน้อยวิกฤติ” หรือมีน้อยกว่า 30% ของระดับน้ำเก็บกัก และ 14 เขื่อนอยู่ในระดับ “น้ำน้อย” (ภาพที่ 3)

 
• 62% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำและภัยแล้ง ขณะที่อีก 38% คาดว่าได้รับผลกระทบ โดยบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอยู่ในหมวดธุรกิจเกษตร หมวดอาหารและ เครื่องดื่ม หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดเหล็ก หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดการแพทย์ หมวดวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น 

ตารางที่  1 สัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถามที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำและภัยแล้ง
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563
 
 
• 38% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนบางบริษัทใช้น้ำเป็นปัจจัยการผลิต ใช้น้ำในขั้นตอนการผลิต ขณะที่บริษัทจดทะเบียนบางส่วนคาดว่า  ปัญหาภัยแล้งฯ จะส่งผลต่อกำลังซื้อในอนาคต ส่งผลให้ยอดขาย และความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ลดลง
 
• บริษัทจดทะเบียนบางบริษัทได้รับผลกระทบทางตรง เนื่องจากใช้น้ำเป็นปัจจัยการผลิต ใช้น้ำในขั้นตอนการผลิต หรือ น้ำเป็นสินค้าและบริการ และได้รับผลกระทบทางอ้อมทางปัญหาการขาดแคลนน้ำที่มีผลต่อกำลังซื้อ ยอดขาย และความสามารถในการจ่ายชำระหนี้
 
- ธุรกิจที่ผลิตภัณฑ์มีน้ำเป็นส่วนประกอบได้แก่ บริษัทจดทะเบียนในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคที่ผลิตน้ำดื่มเพื่อใช้ในอุปโภคบริโภค
 
- ธุรกิจที่ใช้น้ำเป็นปัจจัยการผลิต ได้แก่ บริษัทจดทะเบียนในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม  หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดธุรกิจการเกษตร
 
- ธุรกิจที่ใช้น้ำในขั้นตอนการผลิตหรือการให้บริการ ได้แก่ บริษัทจดทะเบียนในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดธุรกิจการเกษตร หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดเหล็ก หมวดสินค้าอุตสาหกรรม หมวดการแพทย์ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดวัสดุก่อสร้าง
 

** บางธุรกิจคาดว่า บริษัทจะได้รับผลกระทบทางอ้อม จากกลุ่มลูกค้า ที่มีอาชีพเกี่ยวเนื่องจากการเกษตรหรือธุรกิจที่ต้องใช้น้ำ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ และกระทบต่อเนื่องถึงยอดขาย หรือความสามารถในการชำระหนี้ และอาจเกิดปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น และบริษัทจดทะเบียนบางส่วนคาดว่าจะมีการผลต่อจำนวนและราคาของปัจจัยการเกษตรที่ใช้ในขั้นตอนการผลิต 
 
• บริษัทจดทะเบียนรับมือกับปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ ทั้งการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การหาแหล่งน้ำใหม่ เป็นต้น และสำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม วางแผนธุรกิจใหม่ อาทิ การหาลูกค้ากลุ่มใหม่ การเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เป็นต้น (ภาพที่ 4)
 
 

• 47% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ ขณะที่ 40% คาดว่าปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทและมีแผน BCP รองรับเรียบร้อย  ขณะที่ 13% คาดว่ามีผลกระทบต่อบริษัทแต่ยังไม่มีแผน BCP 

บริษัทจดทะเบียนศึกษาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ มีการประเมินผล และจัดทำแผน BCP ไว้รองรับ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานปกติ (Business as usual)
 
• การสำรวจความคิดเห็นของบริษัทจดทะเบียนต่อ 10 เหตุการณ์ที่บริษัทจดทะเบียนคาดการณ์จะได้รับผลกระทบและการจัดเตรียมแผนสำรองธุรกิจ (BCP) ไว้รองรับ ได้แก่ 1) น้ำท่วม 2) ภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ 3) แผ่นดินไหว / แผ่นดินถล่ม 4) ภัยจากพายุ 5) ไฟไหม้ 6) หมอกควัน / PM2.5 7) ภัยสงคราม หรือจราจล  8) ระบบกักเก็บน้ำสาธารณะเสียหาย อาทิ เขื่อนแตก  9) การโจรกรรมข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลรั่วไหล และ 10) ระบบสาธารณูปโภคในบริษัทเสียหาย (อาทิ ระบบไฟฟ้า น้ำ โทรศัพท์ล่ม) ตามภาพที่ 5 พบว่า 
 
 
• ประมาณ 80% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม มีแผนสำรองทางธุรกิจสำหรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินงานปกติ (Business as usual) ของบริษัท อาทิ แผนสำรองสำหรับกรณีสาธารณูปโภคมีปัญหา การโจรกรรมข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เหตุการณ์ไฟไหม้ เป็นต้น
 
• 67% มีแผนสำรองกรณีภัยธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้น อาทิ กรณีน้ำท่วม เป็นต้น
 
• ขณะที่เหตุการณ์ระบบกักเก็บน้ำสาธารณะเสียหาย (อาทิ เขื่อนแตก) ภัยจากสงครามหรือภัยจากการจลาจล  และภัยจากพายุ เป็นเหตุการณ์ที่บริษัทจดทะเบียนคาดว่าเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นบริษัทจะได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่มีแผน BCP ครอบคลุมเหตุการณ์ดังกล่าว (ประมาณ 20% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม)
 
• เหตุการณ์ที่บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการ คือ ระบบกักเก็บน้ำสาธารณะเสียหาย (อาทิ เขื่อนแตก)
 

 


บันทึกโดย : วันที่ : 30 พ.ค. 2563 เวลา : 15:51:51
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 11:42 am