โควิด-19 ดันความต้องการสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์พุ่งต่อเนื่อง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แนะผู้ประกอบการใช้โอกาสทองนี้เร่งขยายตลาดต่างประเทศ โดยใช้เอฟทีเอเป็นตัวช่วย ย้ำ การพิจารณาเปิดตลาดสินค้าเครื่องมือแพทย์เพื่อรับมือวิกฤติโควิด-19 ของ WTO และ WHO จะช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกให้อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ไทย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ประเภทต่างๆ เช่น เข็มและหลอดฉีดยา อุปกรณ์เครื่องใช้ทางการแพทย์ เพิ่มขึ้นทั่วโลก ช่วยหนุนให้การส่งออกการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวของไทย ช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) ปี 2563 ขยายตัวกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 คิดเป็นมูลค่าส่งออก 243 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวหลายตลาด เช่น ญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 10 มีมูลค่าส่งออก 74 ล้านเหรียญสหรัฐ สหภาพยุโรป (อาทิ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยี่ยม) ขยายตัวร้อยละ 8 มูลค่าส่งออก 54 ล้านเหรียญสหรัฐ สหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 8 มูลค่าส่งออก 49 ล้านเหรียญสหรัฐ และอาเซียน (อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา) ขยายตัวร้อยละ 0.5 มูลค่าส่งออก 20 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เข็มและหลอดฉีดหรือสวน สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 37 ขยายตัวร้อยละ 12 อุปกรณ์และเครื่องใช้ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และทันตกรรมอื่นๆ สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 30 ขยายตัวร้อยละ 4 โดยไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ อันดับที่ 3 ในอาเซียน (รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย) และเป็นอันดับที่ 16 ของโลก
นางอรมน เสริมว่า ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้สินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทยได้เปรียบด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทยสามารถพลิกวิกฤตโควิดเป็นโอกาส โดยเร่งปรับแผนกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอขยายการส่งออกไปประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันประเทศคู่เอฟทีเอของไทยทั้งหมด 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชีลี และเปรู ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรในสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ส่งออกจากไทยทุกรายการแล้ว ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังตลาดโลกรวม 715 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังประเทศคู่เอฟทีเอมีมูลค่าถึง 367 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 51 นอกจากนี้ เมื่อเปรียบกับปี 2535 ก่อนที่ไทยจะมีความตกลงการค้าเสรีฉบับแรกกับกับอาเซียนพบว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 867
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ขณะนี้ องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้สมาชิก WTO 164 ประเทศ พิจารณาเปิดตลาดสินค้าเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งลดการใช้มาตรการที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเพื่อรับมือวิกฤติโควิด-19 จึงมีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆ จะทยอยลดเลิกอุปสรรคด้านภาษีในสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ในระยะยาว ประกอบกับรัฐบาลกำหนดให้อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนและการวิจัยพัฒนา จึงนับว่าเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการสินค้ากลุ่มดังกล่าวที่จะยกระดับและพัฒนาสินค้า ปรับแผนการผลิต ควบคู่ไปกับการใช้แต้มต่อจากเอฟทีเอขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง
ข่าวเด่น