หุ้นทอง
กฎ 20/10 คุมเพดานหนี้ได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ ''วินัย''


ผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 พบว่า คนไทยมีภาระทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่รายได้เท่าเดิม หรือออกแนวลดลงด้วยซ้ำ ทำให้หลายคนไม่มีเงินไปชำระหนี้สินที่กู้ยืมมา หรือต้องพึ่งพาการกู้ยืมเงินจากหลายช่องทาง ผลที่ตามมาคือ มีระดับหนี้สินเพิ่มขึ้น ทำให้มีคำถามตามมาว่า แต่ละคนควรมีระดับหนี้สินเท่าไหร่จึงจะปลอดภัย

วันนี้มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ และคุณภูมิ ชี้เจริญ ได้ขยายภาพให้เห็นว่า การมีหนี้สินในระดับที่เหมาะสม ถือเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาวได้ และกฎข้อหนึ่งที่จะบอกว่า คุณควรมีหนี้สินมากน้อยแค่ไหน คือ กฎ 20/10 หรือเรียกว่า กฎควบคุมเพดานหนี้
 
 
อะไรคือ กฎ 20/10

ความผิดพลาดของการจัดการหนี้สิน คือ การปล่อยให้มีภาระหนี้สินที่สูงเกินไป จนไม่สามารถผ่อนชำระได้และกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งกฏ 20/10 ได้ให้แนวทางในการควบคุมภาระหนี้สินอย่างง่ายๆ ดังนี้
 
1. ภาระในการผ่อนชำระหนี้สิน เพื่อการอุปโภคบริโภค เช่น ผ่อนบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ผ่อนรถยนต์ เป็นต้น (ยกเว้น การผ่อนหนี้สินประเภทที่อยู่อาศัยหรือค่าเช่าบ้าน) ไม่ควรเกิน 10% ของรายได้ต่อเดือน เช่น นาย ก. มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน ควรมีภาระการผ่อนชำระไม่เกิน 2,000 บาทต่อเดือน
 
อาจสงสัยว่าการให้ผ่อนได้เพียง 10% ของรายได้ต่อเดือน จะพอได้อย่างไร คำตอบคือ ต้องไม่ลืมว่าเพดานเงินผ่อนตามกฎ 20/10 จะไม่รวมการผ่อนหนี้สินประเภทที่อยู่อาศัย เช่น บ้าน คอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์ หรือค่าเช่าบ้านในแต่ละเดือน เพราะถือว่าเป็นหนี้สินที่แลกมาด้วยการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นอย่างเต็มที่ และทรัพย์สินนั้นก็มีโอกาสมีมูลค่าสูงขึ้นในอนาคต
 
ตรงกันข้าม ภาระการผ่อน 10% ของรายได้ต่อเดือน เป็นการผ่อนชำระหนี้สินที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งสิ้น ซึ่งจะมีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ จึงถือเป็นหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์และไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต
 
2. ยืดหยุ่นได้ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการวางแผนการเงินให้รองรับกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดและความจำเป็นทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นกะทันหัน ส่งผลให้ต้องกู้หนี้หรือใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จนทำให้ต้องผ่อนชำระหนี้เกิน 10% ของรายได้ต่อเดือน

เมื่อรวมทั้งปีต้องไม่เกิน 20% ของรายได้ทั้งปี เช่น นาย ก. มีรายได้ 240,000 บาทต่อปี (20,000 บาทต่อเดือน) ดังนั้น ทั้งปีนาย ก. ไม่ควรผ่อนชำระหนี้เกิน 48,000 บาท
 
จะเห็นได้ว่า กฎ 20/10 เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัวได้
 
เทคนิคในการปรับใช้ กฎ 20/10 เพื่อคุมเพดานหนี้ให้อยู่หมัด
 
1. คำนวณรายได้สุทธิหรือรายได้หลังหักภาษี

หากต้องการปรับใช้ กฎ 20/10 ให้เข้มข้นมากขึ้น รายได้ที่นำมาคำนวณควรเป็น “รายได้หลังหักภาษี หรือรายได้สุทธิ” เนื่องจากรายจ่ายด้านภาษีเป็นรายจ่ายตามกฏหมายที่ทุกคนจำเป็นต้องปฏิบัติตาม การหักภาษีก่อนที่จะนำรายได้มาคำนวณ จะทำให้เพดานหนี้ที่คำนวณได้มีความใกล้เคียงความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น
 
ตัวอย่าง กรณีมีรายได้รวม 392,000 บาทต่อปี (เสียภาษี 8,000 บาท)

คุณมีรายได้สุทธิต่อปี 384,000 บาท (392,000-8,000) โดยคุณมีรายได้สุทธิต่อเดือน 32,000 บาท (3,84,000/12) ดังนั้นถ้าเพดานหนี้ 10% ต่อเดือน ก็คือ 3,200 บาท (32,000x10%) หรือถ้าเพดานหนี้ 20% ต่อปี คือ 76,800 บาท

2. คำนวณรายได้ประจำที่ได้รับแน่นอน

รายได้ที่คุณนำมาคำนวณเพดานหนี้ ควรเป็นรายได้ประจำที่ได้รับแน่นอน (ไม่รวมรายได้ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวและรายได้ที่มีความผันผวน) เนื่องจากเพดานหนี้ควรเป็นระดับหนี้สินที่สามารถผ่อนชำระได้ในทุกงวด เพื่อรักษาประวัติทางการเงินของคุณลูกหนี้ หากนำรายได้ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวมาคำนวณ จะส่งผลให้เพดานหนี้ของคุณที่คำนวณได้ สูงเกินความเป็นจริงและนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ในที่สุด
 
3. ชำระบัตรเครดิตเต็มจำนวน

การชำระบัตรเครดิตเต็มจำนวน ไม่เพียงแต่ช่วยให้ไม่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย ยังเป็นการไม่สร้างภาระทางการเงินในอนาคต และยังลดความเสี่ยงที่จะมียอดผ่อนต่อเดือนทะลุเพดานหนี้

ในบางครั้งการซื้อสินค้าที่มีราคาสูง ด้วยการผ่อนชำระ 0% กับบัตรเครดิต ถือเป็นการช่วยชะลอการจ่ายเงินก้อนได้เช่นกัน แต่ควรควบคุมการผ่อนชำระอย่างรอบคอบ ไม่ปล่อยให้มีการผ่อนชำระเกิน 10% ของรายได้ต่อเดือน โดยสามารถทำแผนการใช้เงินล่วงหน้า เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยควบคุมการผ่อนค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตได้
 
4. จัดทำงบประมาณเงินสด

นอกจากการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพื่อทำให้ทราบพฤติกรรมการใช้จ่ายในปัจจุบันแล้ว การจัดทำงบประมาณเงินสดหรือแผนการใช้เงินล่วงหน้าก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะทำให้ทราบจำนวนยอดผ่อนที่ต้องชำระในเดือนหน้า และสามารถควบคุมการใช้เงินในปัจจุบันให้รัดกุม ไม่เพิ่มภาระหนี้ใหม่จนเกินกฎ 20/10
 
5. ฉีกกฎ 20/10

เพดานหนี้ 20/10 เป็นการจำกัดขอบเขตการใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดทรัพย์สิน ทำให้มีกระแสเงินสดเพียงพอ ไม่กระทบกับความสามารถในการผ่อนชำระหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย ดังนั้น หากไม่มีภาระในการผ่อนบ้านหรือมีภาระการผ่อนบ้านน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ การผ่อนชำระบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยก็สามารถทำได้
 
6. มีวินัย

แม้ว่ากฎ 20/10 จะมีประสิทธิภาพในการควบคุมเพดานหนี้มากเพียงใด แต่สิ่งที่สำคัญมากยิ่งกว่า คือ การมี “วินัย” ดังนั้น หากมีวินัยในการใช้จ่ายเงินก็มั่นใจได้ว่าจะมีสุขภาพทางการเงินที่ดีแน่นอน

บันทึกโดย : วันที่ : 01 มิ.ย. 2563 เวลา : 11:01:43
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 11:36 am