รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – จีน ออกถ้อยแถลงร่วมต่อสู้โควิด-19 กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและขยายการค้าและการลงทุน ผ่าน FTA อาเซียน–จีน พร้อมบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสถียรภาพในภูมิภาค เน้นช่วยเหลือ Start-Up ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อม ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการค้าดิจิทัล
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและจีนได้ร่วมกันออกถ้อยแถลงว่าด้วยการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการกระชับความร่วมมือภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–จีน โดยถ้อยแถลงดังกล่าว เน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและขยายการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีน ผ่านความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–จีน 2) การบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 และ 3) การใช้มาตรการเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของเศรษฐกิจในภูมิภาค
นายวีรศักดิ์ เสริมว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า นับตั้งแต่ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–จีน (ACFTA) บังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2553 การค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนสองฝ่าย เติบโตถึงร้อยละ 111 จาก 235,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 497,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์โควิด–19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่การค้าระหว่างอาเซียนและจีนยังคงมีแนวโน้มในเชิงบวก โดยจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาค และเห็นว่าควรใช้ความตกลง ACFTA กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้น ยิ่งขึ้น รวมถึงหาแนวทางปรับปรุงการเปิดตลาดภายใต้ความตกลงฯ โดยเฉพาะการขจัดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี การส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง เพื่อทำให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคมีความลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าควรพัฒนาแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการแบ่งปันองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติระหว่างกัน เพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นของตลาดและปรับปรุงเสถียรภาพของเศรษฐกิจในภูมิภาค และให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจ Start-Up และธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม (MSMEs) รวมทั้งรักษาตลาดที่เปิดกว้าง ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน เพื่อรักษาห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาคและโลก รวมทั้งการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการที่จำเป็นให้สะดวกขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการค้าดิจิทัล ทั้งนี้ สำหรับการใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ อาเซียนและจีนเห็นว่าควรมีความชัดเจน โปร่งใส และคำถึงมาตรฐานและข้อเสนอแนะขององค์การศุลกากรโลก และพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก
ทั้งนี้ จีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน ในปี 2562 อาเซียนส่งออกไปจีนมูลค่า 201,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์อินทรีย์และเบ็ดเตล็ด อัญมณีและโลหะมีค่า เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลไม้ รองเท้า และสัตว์น้ำ (กุ้งและปู) เป็นต้น และอาเซียนนำเข้าจากจีนมูลค่า 296,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น
ข่าวเด่น