กองทุนรวม
ทางออกดีๆ เมื่อเลี้ยงชีพได้รับผลกระทบ


ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกพูดถึงพอสมควร โดยเฉพาะสมาชิกกองทุน (ลูกจ้าง) ที่กังวลว่า วิกฤติอาจจะทำให้เงินกองทุนได้รับความเสียหาย หรือสมาชิกอาจขาดสภาพคล่อง ต้องการถอนเงินกองทุนออกไปใช้ก่อน จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุน

ในทางกลับกัน นายจ้างอาจประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถนำส่งเงินสมทบได้ต่อ จึงตัดสินใจยกเลิกกองทุน
 
ซึ่งไม่ว่าในกรณีใด ก็ล้วนแต่ทำให้สมาชิกเสียประโยชน์ จึงมีคำถามว่า มีทางออกสวยๆ ใดบ้าง ที่ทำให้สมาชิกไม่เสียสิทธิประโยชน์ทั้งในแง่ของเงินลงทุน และสิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่สำคัญยังมีเงินออมเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณ วันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ ฯ และ คุณฐิติเมธ โภคชัย ขอชี้แนะกันแบบเข้าใจง่ายๆ
 
 
ว่ากันว่าถ้าพูดถึง “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ถือว่ามีความสำคัญมากต่อการสร้างวินัยในการออมเงิน เพื่อเกษียณ โดยนอกจากเงินที่ฝ่ายสมาชิก (ลูกจ้าง) สะสมแล้ว ยังมีเงินสมทบจากฝ่ายนายจ้างอีกส่วนหนึ่ง และเมื่อเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถูกนำไปบริหารจัดการลงทุนต่อโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ก็จะออกดอกออกผล ที่สำคัญยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับ มีดังนี้
 
1. เงินที่สมาชิก หรือคุณในฐานะลูกจ้างสะสมเข้ากองทุนในแต่ละปี สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง และเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
 
2. ผลประโยชน์จากการลงทุนทุกประเภทของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับการยกเว้นภาษี
 
3. เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี เมื่อออกจากงาน เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน
 
“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือเป็นช่องทางการออมเพื่อเกษียณที่ดีที่สุดในปัจจุบัน” แขขวัญ โรจน์วัฒนกุล ให้ข้อคิดไว้
 
เมื่อเกิดวิกฤติอาจทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ เช่น ยอดขายตก ไม่มีเงินจ่ายพนักงาน หรือถึงขั้นต้องปิดกิจการ ฝ่ายลูกจ้างก็เช่นกัน อาจถูกลดเงินเดือน หรือถึงขั้นตกงาน ซึ่งทำให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น ลูกจ้างไม่มีเงินเหลือที่จะสะสมเข้ากองทุน

ขณะที่ฝ่ายนายจ้างก็ไม่มีเงินเหลือที่จะสมทบเข้ามา ดังนั้น การมีทางออกที่ดีย่อมลดความเสียหาย และยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่อไป
 
ปิดถาวร เสียหายหลายแสน
 
วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการ โดยให้นายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบสามารถขอเลื่อนหรือขอหยุดการส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เป็นการชั่วคราว นับเป็นทางออกที่เป็นประโยชน์ และเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ก็กลับมาส่งเงินสะสมและสมทบเงินต่อไปได้ดังเดิม
 
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหยุดชั่วคราว สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็ยังนับต่อเนื่อง เงินกองทุนก็ยังอยู่ และยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอายุการเป็นสมาชิกก็นับต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
 
ตรงกันข้าม หากไม่มีการประกาศเรื่องนี้ อาจทำให้ฝ่ายนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ ไม่มีเงินส่งสมทบ ขณะเดียวกันลูกจ้างก็ไม่มีเงินสะสมเข้ามา จึงมีโอกาสที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะปิดอย่างถาวร
 
ถ้าปิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และอยากกลับมาเปิดใหม่ก็ทำได้ แต่จะเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ที่สำคัญสิทธิประโยชน์ต่างๆ นั้น ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่
 
สมมติว่าฝ่ายนายจ้างตัดสินใจปิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบถาวร แต่กิจการยังดำเนินอยู่ ลูกจ้างก็ยังทำงานต่อไป ประเด็นนี้ แขขวัญ แนะนำลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนนี้ว่า “ให้โอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อคงสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะถ้านำเงินออกมา ก็ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตอนสิ้นปี และที่สำคัญเป้าหมายการออมเงินเพื่อเกษียณต้องสะดุดลง”
 
 ตกงาน ควรทำอย่างไร
 
เมื่อไหร่ที่เกิดวิกฤติ มักตามมาด้วยข่าวการปลดพนักงาน และเมื่อพนักงานกลายเป็นผู้ว่างงาน หลายคนจะนึกถึงการนำเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาใช้จ่าย ประเด็นนี้ ไม่ควรลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และไม่ควรนำเงินก้อนนี้ออกมาใช้จ่าย
 
ตามหลักของการวางแผนการเงินที่ดี ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ขณะเดียวกันเมื่อเป็นผู้ว่างงานต้องติดต่อประกันสังคมเพื่อรับสิทธิประโยชน์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระหว่างที่กำลังหางานใหม่
 
“วัตถุประสงค์หลักของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ เป็นแหล่งออมเงินเพื่อเกษียณ ถ้าเมื่อไหร่ที่เกิดวิกฤติแล้วมาถอนเงินออกจากกองทุนนี้ จะทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการวางแผนเพื่อเกษียณ แปลว่า เมื่อถึงวันที่เกษียณ ซึ่งเป็นวันที่ไม่มีรายได้ประจำจากการทำงานแล้ว อาจเป็นวันวิกฤติของชีวิตที่แท้จริง”
 
วิธีการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของผู้ว่างงาน
 
คงเอาไว้กับนายจ้างเก่า
 
แม้ว่าจะถูกเลิกจ้าง แต่ก็สามารถคงเงินเอาไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับนายจ้างเก่าต่อไปได้ โดยเงินที่คงไว้จะได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนต่อไป เพียงแต่จะไม่ได้เงินสมทบจากนายจ้างเก่านับจากวันที่พ้นสภาพการเป็นพนักงาน และเสียค่าธรรมเนียมการคงเงินไว้ที่ 500 บาทต่อปี

โอนไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่
 
เมื่อถูกเลิกจ้างและตัดสินใจคงเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้กับนายจ้างเก่า แต่เมื่อได้งานใหม่และนายจ้างใหม่ก็มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ควรโอนไปอยู่กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่
 
“วิธีการนี้จะทำให้คงสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อไป และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการคงเงิน ที่สำคัญยังนับอายุการเป็นสมาชิกกองทุนนี้ต่อเนื่องไปได้” แขขวัญ บอก
 
โอนไปกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
 
หากนายจ้างเลิกกิจการ หรือถูกเลิกจ้างและตัดสินใจทำงานเป็นฟรีแลนซ์ ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ โอนย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

นอกจากจะยังคงสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ยังช่วยให้เงินยังคงลงทุนต่อไป และทำให้บรรลุเป้าหมายการวางแผนเพื่อเกษียณได้ด้วย

เกษียณปีนี้ ทำอย่างไร
 
ผู้ที่จะเกษียณในปีนี้ หากไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินหรือยังไม่มีแผนการจะนำเงินไปลงทุนในช่อง ทางอื่นๆ ควรคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อไป เพื่อให้เงินลงทุนและสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง และหากต้องการใช้เงิน ก็ควรขอรับเงินเป็นงวดออกไปใช้เท่าที่จำเป็น เพราะการรับเงินเป็นงวด ก็ยังคงสถานะสมาชิกกองทุนอยู่เช่นเดิม (สามารถขอคำแนะนำและรายละเอียดเพิ่มเติมจากคณะกรรมการกองทุน)
 
ผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย ดังนั้น หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรลาออกและถอนเงินออกไปใช้ ที่สำคัญกองทุนนี้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์เงินเดือน สามารถบรรลุเป้าหมายการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณได้ง่ายขึ้น

บันทึกโดย : วันที่ : 04 มิ.ย. 2563 เวลา : 15:48:27
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 9:27 pm