ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและประเทศคู่เจรจาบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) สมัยพิเศษ ผ่านระบบทางไกล วางแนวทางบรรเทาผลกระทบโควิด-19 เสริมความแข็งแกร่งห่วงโซ่การผลิต และเร่งฟื้นเศรษฐกิจในภูมิภาค เชื่อ RCEP จะเป็นตัวแปรสำคัญ พร้อมเดินหน้าผลักดันลงนามปีนี้
นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เข้าร่วมการประชุมเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) สมัยพิเศษว่าด้วยโควิด – 19 ผ่านระบบทางไกล เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 โดยที่ประชุมได้ร่วมกันออกถ้อยแถลงว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเน้น 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) รักษาตลาดที่เปิดกว้างสำหรับการค้าและการลงทุน เพื่อเสริมสร้างการฟื้นตัวและความยั่งยืนของห่วงโซ่การผลิตในระดับภูมิภาค (2) แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายของสินค้าและบริการ (3) อำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจในภูมิภาคตามนโยบายของแต่ละประเทศโดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุข (4) สนับสนุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ MSME ในการใช้เทคโนโลยีและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ (5) ฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านเวที RCEP โดยผลักดันลงนามให้แล้วเสร็จภายในปีนี้
นายสรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้อยแถลงร่วมดังกล่าว เป็นการวางแนวทางเพื่อลดผลกระทบ กระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และรักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยคำนึงถึงมาตรฐานและข้อเสนอแนะขององค์การศุลกากรโลกและพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก อีกทั้งยังใช้ประโยชน์จากองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสามเพื่อช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคในช่วงภาวะฉุกเฉิน รวมทั้งการเสริมสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามยังมอบให้เจ้าหน้าที่ร่วมมือกันริเริ่มโครงการที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด – 19 คลี่คลายลงอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างเสถียรภาพต่อการผลิตและห่วงโซ่การผลิตของสินค้าและบริการ ในภูมิภาคนี้ พร้อมเน้นย้ำถึงคำมั่นที่จะลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ในปีนี้
ทั้งนี้ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นคู่ค้าสำคัญของอาเซียน ในปี 2562 การค้าระหว่างอาเซียนกับทั้งสามประเทศมีมูลค่า 872,325 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 32 ของมูลค่าการค้าอาเซียนกับทั้งโลก โดยอาเซียนส่งออกไปยังสามประเทศ มูลค่า 367,523 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกหลัก อาทิ เครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมัน พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก ยางพาราและของที่ทำด้วยยางพารา เครื่องมือและอุปกรณ์เกี่ยวกับการถ่ายภาพ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หม้อไอน้ำ และเครื่องนุ่งห่ม และอาเซียนนำเข้าจากสามประเทศ มูลค่า 504,802 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าหลัก อาทิ เครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หม้อไอน้ำ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เครื่องอัดเทป โทรทัศน์ น้ำมัน พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
ข่าวเด่น