เอชพี อิงค์ ประกาศแผนเดินหน้าเปิดศูนย์เรียนรู้ Tech Hubs 20 แห่งในชุมชนด้อยโอกาสทั่วภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2563 โดยสามารถฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีและการเป็นผู้ประกอบการสำหรับเยาวชนอายุ 13 ปีขึ้นไป จำนวน 10,000 คน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ของ เอชพีที่ต้องการยกระดับการเรียนรู้ที่ดีขึ้นให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ 100 ล้านคนภายในปี 2568 ดังที่ระบุไว้ในในรายงาน 2019 Sustainable Impact Report
ศูนย์การเรียนรู้ HP Tech Hubs จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ 15 ถึง 20 เครื่อง รองรับการเรียนการสอนในห้องเรียนและทางออนไลน์ สร้างเสริมทักษะทางด้านเทคนิคและทักษะด้านสังคมที่จำเป็นสำหรับเยาวชน รวมทั้งการใช้งานโปรแกรม Microsoft Office และระบบที่เกี่ยวข้อง การสื่อสารทางธุรกิจ การสร้างกรอบความคิดเชิงรุกเพื่อความสำเร็จ และการเริ่มสร้างธุรกิจขนาดเล็ก โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาสอนหรือเรียนผ่านทางออนไลน์ หลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการนั้นดัดแปลงจาก HP LIFE ซึ่งเป็นโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายของ HP Foundation ที่นำเสนอหลักสูตรเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ การตลาดและการพัฒนาธุรกิจ โดยผู้เข้าอบรมจะได้รัประกาศนียบัตรเมื่อจบหลักสูตร
“การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่าที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และสถานการณ์ของโควิด 19 ในขณะนี้ ทำให้เราต้องหันมากำหนดวิถีการใช้ชีวิต การทำงานและการเชื่อมต่อสื่อสารกับผู้อื่นใหม่ เอชพี มีบทบาทสำคัญ และความรับผิดชอบเพื่อเตรียมความพร้อมของเยาวชนให้เผชิญกับวิถีชีวิตแบบใหม่ เพื่อช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในอนาคตของการทำงาน เราต้องเสริมสร้างความมั่นใจ เพิ่มทักษะและเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม” อึ้ง เทียน ชง กรรมการผู้จัดการ เอชพี เอเชีย กล่าว
“โครงการ HP Tech Hubs จะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนในชุมชนด้อยโอกาส เพื่อพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีและการลงมือปฏิบัติจริง ที่จะสร้างแรงบันดาลใจ เปิดโลกทัศน์ที่ก้าวไกล สร้างความคิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเตรียมให้พวกเขาก้าวสู่อนาคตอย่างแข็งแกร่ง”
ขณะนี้ เอชพี ได้สร้างศูนย์เรียนรู้ Tech Hubs จำนวน 6 แห่ง ในเมืองลอมบอกและกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และภายในสิ้นปีนี้ จะสร้างศูนย์เพิ่มเติมที่เหลือ ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
สร้างการเรียนรู้ที่ดีขึ้นเพื่ออนาคต
HP Tech Hubs เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสนับสนุนด้านการศึกษาของ เอชพี ริเริ่มขึ้นในเอเชียแปซิฟิก โดยเมื่อสิ้นปี 2562 ที่ผ่านมา ได้สร้างประโยชน์ให้กับนักเรียนและผู้ใหญ่จำนวนมากกว่า 1.3 ล้านคน ผ่านโครงการต่างๆ ประกอบด้วย
HP LIFE: เปิดตัวในปี 2559 มีผู้สนใจจากทั่วโลกลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมมากกว่า 214,000 คน เฉพาะในเอเชียแปซิฟิก มีผู้สนใจกว่า 20,600 คนจาก 28 ประเทศ ที่ได้ลงเรียนในหลักสูตร HP LIFE นี้
World on Wheels (WOW): จัดตั้งในปี 2560 เป็นรถโมบายความรู้เคลื่อนที่ ประกอบด้วย 43 หน่วยการเรียนรู้ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและขับเคลื่อนด้วยระบบโซล่าแสงอาทิตย์ จนในขณะนี้ มีประชากรในชนบทของอินเดีย มากกว่า 3.5 ล้านคน ในกว่า 1,400 หมู่บ้าน ได้เข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งเรียนรู้จากรถเคลื่อนที่นี้
Little Makers Challenge: โครงการนี้ถูกออกแบบสำหรับครูและผู้ปกครองโดยเฉพาะ เพื่อสอนเด็กอายุ 5 ถึง 12 ปี เพื่อเรียนรู้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และสนุกสนานผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ โครงการนี้เริ่มต้นในประเทศมาเลเซีย โดยมีผู้สนใจสมัครกว่า 18,600 คน ร่วมทำกิจกรรมนับรวมกันมากกว่า 90,000 ชั่วโมง ครอบคลุมการเรียนรู้ด้านศิลปะ ภูมิศาสตร์ ชีววิทยาและดาราศาสตร์
HP-NTU Digital Manufacturing Lab: ก่อตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือกับ Nanyang Technological University (NTU) และ National Research Foundation Singapore โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีและอุสาหกรรมดิจิทัล เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้เปิดตัวโครงการพัฒนาทักษะที่มุ่งช่วยเหลือฝึกฝน และเพิ่มพูนความสามารถในอุตสาหกรรมดิจิทัลของสิงคโปร์
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ
เพื่อเร่งการปฎิรูปงานขององค์กรเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ เอชพี ตั้งเป้าหมายระดับโลกในการจำกัดการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวให้ได้ร้อยละ 75 ภายในปี 2568 ในแต่ละปี จะมีการผลิต พลาสติกมากกว่าสามร้อยล้านตัน โดยครึ่งหนึ่งเป็นการใช้ครั้งเดียวทิ้ง และมีร้อยละ 91 ที่ไม่ได้ถูกนำมารีไซเคิล นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์ โควิด 19 ในขณะนี้ ยังก่อให้เกิดความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงของขยะที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพของผู้คนและโลก
เอชพี มุ่งมั่นการดำเนินธุรกิจที่เน้นการนำวัตถุดิบหมุนเวียนกลับมาใช้ให้คุ้มค่า โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้มุ่งการลดขยะพลาสติก เพิ่มการใช้วัสดุรีไซเคิลและการฟื้นฟูและปกป้องป่า
Project STOP: HP เข้าร่วม Project STOP ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างเอกชน รัฐบาล และชุมชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างระบบการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดขยะพลาสติกในมหาสมุทรประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ในจังหวัด Muncar, East Java มีการจัดตั้ง Project STOP เพื่อเป็นศูนย์รวบรวม บริหาร จัดการกับขยะ ที่เก็บจากประชาชนในชุมชนกว่า 60,000 คน โครงการนี้ยังสามารถสร้างงานให้คนในชุมชนกว่า 100 คน และคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า จะสามารถขยายเครือข่ายได้มากกว่า 450,000 คน ใน 55 หมู่บ้าน ของจังหวัด Muncar, Pasuruan และ Jembrana
Tidy Tech Kiwi: เอชพี ช่วยแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศนิวซีแลนด์ โดยจัดตั้งโครงการ Tidy Tech Kiwi ขึ้นในปี 2562 ซึ่งประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 8,000 กิโลกรัม มาช่วยระดมเงินจำนวน 11,000 เหรียญสหรัฐ ให้กับโรงเรียน 7 แห่ง
Straw Pallet Program: เอชพี ยังคงเดินหน้าใช้วัสดุรีไซเคิลมาผลิตพาเลตสำหรับการขนส่งผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท HP โดยในปี 2562 มีพาเลตจำนวน 52,000 ชิ้นในประเทศจีน ถูกผลิตขึ้นจากฟางซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติกว่า 2,450 ตัน โดยทั่วไป ฟางเหล่านี้ จะถูกเผาทิ้ง กลายเป็นขยะทางเกษตรกรรม นับตั้งแต่ปี 2560 มีจำนวนพาเลตมากกว่า 164,900 ชิ้น ซึ่งผลิตจากฟางกว่า 7,400 ตัน
HP Sustainable Forest Collaborative: กระดาษที่ผลิตขึ้นภายใต้แบรนด์เอชพี ได้รับการยอมรับว่าเป็นกระดาษที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า และในปลายปี 2563 นี้บริษัทฯ จะบรรลุ 100% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ว่าจะไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่มาจากการตัดไม้ทำลายป่าโดยสมบูรณ์ ขณะนี้ เอชพี ร่วมมือกับ WWF ในโครงการ HP Sustainable Forest Collaborative สำหรับในประเทศจีน โครงการนี้มุ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่การจัดการผืนป่าอย่างยั่งยืน เพื่อปรับปรุงและเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์ไม้ธรรมชาติ องค์กรพันธมิตรใหม่ที่เข้าร่วมทำงานในโครงการ ประกอบด้วยมูลนิธิ Arbor Day, Chenming Paper, Domtar และ New Leaf
การบริหารความหลากหลายและความแตกต่าง
เอชพี เชื่อมั่นและยอมรับในความหลากหลายและความแตกต่างของวัฒนธรรมของทรัพยากรองค์กร และมุ่งต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกันทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ ผู้บริหารของเอชพี มีความหลากหลายมากที่สุดของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา โดยมีพนักงานหญิง ร้อยละ 38 และเป็นคนกลุ่มน้อยร้อยละ 54 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เอชพีได้ย้ำถึงคำมั่นสัญญาขององค์กรใน CEO Action for Diversity and Inclusion เพื่อส่งเสริมและยอมรับความหลากหลายและความแตกต่างทางวัฒนธรรมในที่ทำงาน และในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา เอชพี ทั่วโลก มีการจ้างงานพนักงานหญิงคิดเป็นร้อยละ 40.2 และคิดเป็นร้อยละ 44 ในภูมิภาคเอเชีย
โครงการพัฒนาทรัพยากรของเอชพี ที่ส่งเสริมความเป็นผู้นำของผู้หญิงและมอบโอกาสความเท่าเทียม ทั้งเปิดโอกาสในการพัฒนาของพนักงานทุกคนในเอเชีย รวมถึง: โครงการ HOPE ในประเทศจีน: ให้โอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับผู้พิการ ปัจจุบันมีสมาชิกในทีม 28 คนที่ทำงานในออฟฟิศของเอชพีที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และต้าเหลียน
โครงการ Disha ในประเทศอินเดีย: มีโปรแกรม 6 เดือนเพื่อฝึกความเป็นผู้นำสำหรับพนักงานผู้หญิง โดยระหว่างปี 2560 ถึง 2562 มีผู้สำเร็จโครงการ 119 คน และในจำนวนนี้ร้อยละ 40 ได้รับการเลื่อนขั้นหรือปรับตำแหน่งใหม่
การฝึกความเป็นผู้นำของผู้หญิงและโครงการ HOPE ในประเทศญี่ปุ่น: เอชพี ได้มีการฝึกอบรมความเป็นผู้นำสำหรับพนักงานหญิงทั้งภายในบริษัทฯ และเครือข่ายเอชพี รวมถึงการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับผู้พิการภายใต้โครงการ HOPE
เอชพี ได้ร่วมมือกับ Girl Rising ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับโลกที่อุทิศตนเพื่อขจัดความยากจนโดยให้การศึกษาแก่สตรีและเด็กผู้หญิง เปิดตัว My Story: The 2020 Storytelling Challenge โครงการจะสร้างแรงบันดาลใจจากตัวอย่างชีวิตของผู้นำเยาวชน ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมทางเชื้อชาติ ความเท่าเทียมของเพศหญิงในด้านการศึกษา
ข่าวเด่น