บลจ.ภัทร เปิดตัวกองทุนเปิดภัทร สตราทิจิคแอสเซ็ทอโลเคชั่น-Ultra Light (Phatra Strategic Asset Allocation Ultra Light – PHATRA SG-AA Ultra Light) เพื่อรองรับเป้าหมายการลงทุนและความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยทางกองทุนได้กำหนดเป้าหมายสัดส่วนการลงทุนในระยะยาว (Strategic Asset Allocation – SAA) ที่ประกอบด้วยตราสารหนี้ประมาณ 54% ตราสารทุนในประเทศและต่างประเทศรวมประมาณ 13% ตราสารทางเลือก เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ น้ำมัน ประมาณ 8% และส่วนที่เหลือเป็นสภาพคล่อง (ข้อมูล ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2563) ทั้งนี้ กองทุนมีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง โดยจะเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 13-31 กรกฎาคม 2563
นายยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด (บลจ. ภัทร) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่ากองทุน PHATRA SG-AA Ultra Light มีการลงทุนแบบ Asset Allocation หรือกระจายการลงทุนไปในทรัพย์สินต่าง ๆ เช่นเดียวกับกองทุน PHATRA SG-AA Light, PHATRA SG-AA และPHATRA SG-AA Extra แตกต่างกันเพียงสัดส่วนการลงทุนในแต่ละประเภททรัพย์สินที่สะท้อนความเสี่ยงในระดับที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนในทรัพย์สินแต่ละประเภทอยู่ภายใต้กรอบคำแนะนำด้านการลงทุนจากที่ปรึกษาการลงทุนคือบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ นอกจากนั้น ยังมีผู้จัดการกองทุนของ บลจ.ภัทร ซึ่งชำนาญด้านการวิเคราะห์จังหวะและโอกาสการลงทุน ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์การลงทุนอย่างใกล้ชิดรวมถึงคัดเลือกสินทรัพย์ที่กองทุนจะลงทุนโดยพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน ทำให้กองทุนในกลุ่ม SGAA ทั้ง 4 กองทุนตอบสนองต่อความต้องการของผู้ลงทุนที่มีความสามารถในการรับความเสี่ยงและคาดหวังผลตอบแทนที่แตกต่างกันได้อย่างหลากหลาย
“กองทุน Asset Allocation เดิมทั้ง 3 กองทุน และกองทุน PHATRA SG-AA Ultra Light นี้ จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้นักลงทุนสามารถจัดการลงทุนและบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในปี 2563 นี้ ที่ตลาดการลงทุนทั่วโลกผันผวนสูงขึ้นมาก จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งสายการบินและโรงแรม การหยุดชะงักของสายการผลิตและการบริโภคชะลอตัวลงจากการปิดเมืองเพื่อยับยั้งการระบาดในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้มีการปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2563 ลดลงเป็นการเติบโตติดลบร้อยละ 4.9 ในขณะที่ตลาดหุ้นโลก (MSCI AC World) ปรับลดลงถึงร้อยละ 33 ในช่วงเดือนมีนาคม และฟื้นตัวขึ้นแรงกว่าร้อยละ 38 ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม เนื่องจากธนาคารกลางในหลายประเทศได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและออกมาตรการเพิ่มสภาพคล่องจำนวนมหาศาลเข้ามาในระบบเพื่อช่วยลดความผันผวนของตลาด อย่างไรก็ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.67 และราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ 17 จากต้นปีที่ราคา 1,517 เหรียญสหรัฐ เป็น 1,776 เหรียญสหรัฐในปัจจุบัน ยังคงสะท้อนภาวะกลัวความเสี่ยง (risk-off) ของตลาดการลงทุนทั่วโลก ทั้งนี้ สภาวะการลงทุนในระยะต่อจากนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็นหลักว่าจะคลี่คลายเมื่อใด และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาจจะมีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในอนาคต ซึ่งล้วนเป็นเหตุที่ยากจะคาดการณ์ได้ ด้วยเหตุนี้ บลจ. ภัทรมองว่ากลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมในช่วงนี้ คือ การลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน ด้วยการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และมีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงสูงที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของผู้ลงทุนแต่ละรายในแต่ละช่วงเวลา บลจ. ภัทร จึงขอนำเสนอกองทุน Asset Allocation ทั้ง 4 กองทุนดังกล่าวข้างต้น เป็นทางเลือกแก่ผู้ลงทุนที่มีความสามารถในการรับความเสี่ยงและคาดหวังผลตอบแทนที่แตกต่างกัน” นายยุทธพล กล่าว
สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจสามารถขอหนังสือชี้ชวนและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารเกียรตินาคินทุกสาขา หรือ KKP Contact Center 02 165 5555 และบริษัทหลักทรัพย์ภัทร โทร. 02 305 9559 หรือ www.phatraasset.com หรือผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนที่ได้รับการแต่งตั้งตามหนังสือชี้ชวน โดยผู้ลงทุนสามารถเริ่มลงทุนได้ที่ขั้นต่ำ 1,000 บาท
คำเตือน :
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้าเงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
- กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินต้นคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
- กองทุนอาจลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.ภัทร ได้ตามอัตราส่วนที่กำหนด โดย บลจ.ภัทร จะจัดระบบงานที่ป้องกันธุรกรรมที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์อันอาจเกิดจากนโยบายการลงทุนที่เปิดให้มีการลงทุนในกองทุนรวมภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทจัดการเดียวกัน
ข่าวเด่น