การค้า-อุตสาหกรรม
เกษตรกรโอด เลี้ยงหมูขาดทุนสะสม 3 ปี ซ้ำต้นทุนสูงเหตุป้องกัน ASF เข้ม ยืนยันราคาหมูหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาท


นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยถึงสถานการณ์สุกรในปัจจุบันว่า ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มของเกษตรกรทั่วประเทศยังคงยืนราคาที่ 78-79 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศราคาแนะนำ โดยเกษตรกรภาคเหนือยืนยันให้ความร่วมมือรักษาระดับราคาสุกรขุนไม่ให้เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่ให้สัญญากับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ไว้ว่าจะร่วมกันดูแลพี่น้องประชาชนไม่ให้มีปัญหาขาดแคลนสุกร และไม่ให้ราคาสูงจนกระทบค่าครองชีพประชาชน โดยระดับราคาดังกล่าวถือว่าเกษตรกรพอมีรายได้กลับมาต่อทุนเพื่อเลี้ยงสุกรในรุ่นถัดไปเท่านั้น ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงสุกรยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ต่างปรับตัวขึ้น ตามความต้องการใช้ที่เพิ่ม ที่สำคัญเกษตรกรทั้งประเทศยังต้องต่อสู้กับ โรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร ทำให้มีต้นทุนการป้องกันและเฝ้าระวังโรคเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่าปัจจุบันการบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะห้างร้านต่างๆที่กลับมาเปิดดำเนินการ ผนวกกับโรงเรียนเปิดเทอม ขณะที่ปริมาณผลผลิตหมูขุนออกสู่ตลาดน้อยลง หมูเป็นที่จับมีขนาดเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ เน้นย้ำให้กลุ่มผู้เลี้ยงรักษาระดับราคาภายในประเทศเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน แม้ว่าเกษตรกรจะมีต้นทุนการเลี้ยงหมูสูงถึง 71 บาทแล้วก็ตาม แต่ทุกคนก็พร้อมตรึงราคาหมูหน้าฟาร์มไว้ที่ไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม และพร้อมให้ความร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในการจัดกิจกรรมจำหน่ายหมูลดค่าครองชีพประชาชนทั่วไทยสู้ภัยโควิด เพื่อส่งตรงหมูสดจากฟาร์มถึงมือผู้บริโภค โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง พร้อมกันทุกภูมิภาค วันที่ 7 สิงหาคม ศกนี้

 

“หมูไทยราคาไม่ได้สูงไปกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศที่ต้องรับมือกับโรค ASF ที่ระบาดอย่างหนักอย่างจีน เวียดนาม เมียนมา ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากการขาดแคลนหมูอย่างหนัก เพราะภาวะโรค ช่วงนี้ที่ราคาหมูขยับขึ้นตามกลไกตลาด ขอให้ประชาชนเข้าใจและเห็นใจเกษตรกรที่ต้องเผชิญปัญหาราคาหมูตกต่ำจากผลผลิตล้นตลาดนานกว่า 3 ปี หากเห็นว่าหมูราคาสูงทุกท่านยังมีทางเลือกรับประทานโปรตีนอื่นๆทดแทนได้ ทั้งปลา ไข่ ไก่ แต่พวกเรามีอาชีพเลี้ยงหมูอาชีพเดียวเท่านั้น ขอให้กลไกตลาดได้ทำงาน หากถูกควบคุมมากจนเกินไปเกษตรกรอาจไม่สามารถไปต่อในอาชีพนี้ได้” นายสุนทราภรณ์ กล่าว.

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ก.ค. 2563 เวลา : 15:19:01
17-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 17, 2025, 2:20 pm