การค้า-อุตสาหกรรม
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์จัดงาน ''LogisticsBehind the Success of Business : โลจิสติกส์เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจ''


กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมด้วยพันธมิตร จัดกิจกรรมเสริมความพร้อม SME ด้วยการสร้างเครือข่ายธุรกิจ Logistics Startup ในงาน “Logistics Behind the Success of Business : โลจิสติกส์เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ SME” ภายใต้โครงการ DBD Service x Logistics Startup ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีจาก 7 Startup ด้านโลจิสติกส์ มาช่วยพัฒนาระบบการขนส่งและคลังจัดเก็บสินค้าให้ทันสมัยตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยมี  SME 316 ราย เข้าร่วมโครงการ 




นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นประธานเปิดงาน  พร้อมเปิดเผยว่าโครงการนี้เป็นการจับคู่ระหว่างธุรกิจ SME กับ Logistics Startup มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ และการบริหารคลังสินค้า ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ในทางกลับกันจะช่วยสร้างการเติบโตให้กับ Logistics Startup และเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์กับธุรกิจ SME ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศ

ทั้งนี้ ภายในงานมีการบรรยายใน หัวข้อ “เปลี่ยน Fulfillment ให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ” และการเสวนาในหัวข้อ “ธุรกิจ Fulfillment ปรับตัวอย่างไรให้รอดพร้อมพา SME ให้รุ่ง” โดย Logistics Startup ที่เข้าร่วมโครงการ บรรยายใน หัวข้อ “เปลี่ยน Fulfillment ให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ” ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า  การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องใช้”วิชาตัวเบา”  เพื่อความคล่องตัวและยืดหยุ่นช่วยให้เราสามารถปรับตัวเปลี่ยนทิศทางได้เสมอ  การทำงานเป็นส่วนๆแบบการต่อจื๊กซอว์แล้วเอามาประกอบกันด้วยการการใช้ Outsource จะช่วยทำให้งานเราคล่องไม่เทอะทะและหนักตัวเพราะสต๊อกทำให้ธุรกิจอุ้ยอ้าย ซึ่งมีข้อดีคือ ธุรกิจเราไปได้เร็วขึ้น และต้นทุนถูกลง ประหยัดเวลา ลดปัญหาจุกจิกเรื่องคน  ช่วยให้เราเอาเวลามารองรับการสั่งซื้อได้มากขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนคือจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนในการปฏิบัติงาน การทำงานจะเป็นระบบมากขึ้น และมีประสิทธิภาพ  ที่สำคัญคือเราต้องมีข้อมูล และมี Demand Forecast  เพราะเราจะรู้ว่าควรขายอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร 

คุณพิมพ์ฐตา สหัชอติเรกลาภ ประธานกรรมการ บ.สยามเอาท์เลต เซอร์วิส จก. นับว่าเป็น startup ที่มองหาโอกาสได้อย่างแม่นยำ  เธอได้แบ่งปันประสบการณ์ ช่วงเริ่มต้นในการเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์และ Fulfillment  การไปหาข้อมูลบริษัทจดทะเบียนกับกรมพัฒนาการค้า  และพบว่าธุรกิจการค้าในธุรกิจออนไลน์มีมากกว่าสองแสนราย จึงเห็นโอกาสและอนาคตจากธุรกิจที่สนับสนุนออนไลน์  และปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จคือการที่เราใช้ Data ให้เป็นประโยชน์  และใช้ประสบการณ์ของร้านค้าที่มีปัญหามาแก้ไขและพัฒนาต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน    มีการใช้นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วย  และเน้นว่า ที่สำคัญคือ การทำงานต้องเข้าใจปัญหาลูกค้าและพร้อมที่จะช่วยเพื่อให้ธุรกิจของลูกค้าดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

เมื่อพูดถึงความท้าทายจากการเข้ามาทำธุรกิจ Fulfillment คุณณัฎฐ์เดช ชัยปกรณ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ บ. เอ็นซี กรุ๊ป (ไทยแลนด์) (Meow Logis) จก. กล่าวถึงความท้าทายของการทำธุรกิจคือ การแก้ปัญหาของลูกค้าที่มีมาให้คิดและบริหารจัดการตลอดเวลา และมีปัญหาที่ไม่ซ้ำกัน  ปัจจุบันลูกค้ามีความต้องการด้านข้อมูลเยอะมาก และการทำรายงานต้องละเอียดและตรงตามความต้องการมากขึ้นเพื่อนำมาวิเคราะห์ด้านการตลาดและการขาย ความท้าทายอย่างหนึ่งคือ ต้องมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอยู่ตลอด  เพื่อช่วยในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำ สามารถช่วยลูกค้าแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แนวโน้มการเติบโตของการค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบถึงเรื่องใดอีกบ้าง  คุณชุติมา  วิชัยดิษฐ์ Project Manager  บ.เฟรนลี่กรุ๊ปส์ โลจิสติ๊ก จก.  ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เราควรต้องหันมาใส่ใจในเรื่องวัสดุที่ใช้ในการบรรจุหีบห่อสินค้า  เนื่องจากต้องใช้มากขึ้นด้วยตามปริมาณและจำนวนการค้า  เพราะธุรกิจ E Commerce นั้นมีการใช้พลาสติกสิ้นเปลืองมากในการขนส่งสินค้า ในปัจจุบันมีลูกค้าหลายรายที่ใส่ใจเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  เราเคยเจอลูกค้าบางรายที่มีการกำหนดว่าขอไม่ใช้ Bubble ในการห่อสินค้า  ดังนั้นการคิดค้นพัฒนาวัสดุออแกนิคเพื่อบรรจุภัณฑ์ เป็นอีกหนึ่งโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ที่สนใจทำเรื่องบรรจุภัณฑ์สำหรับธุรกิจนี้ นับว่าเป็นการขยายโอกาสทางการทำธุรกิจเพื่อสนับสนุนการค้าออนไลน์ได้อีกธุรกิจหนึ่ง   

ความท้าทายในการบริหารจัดการสินค้าของลูกค้า มีประเด็นที่น่าสนใจจาก คุณภาณุวัฒน์  ตรีวีรานุวัฒน์ Operation Manager และคุณภาณุวัส พัชนี  Marketing Manager  บ.ชิปสเปซ (ประเทศไทย) จก. ได้แชร์ประสบการณ์การให้บริการลูกค้าในการจัดเก็บและบรรจุหีบห่อสินค้า มีสินค้าบางประเภทที่ต้องการการเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ เช่น เคยมีลูกค้าให้จัดส่งสินค้าคือหนังสือบางชนิดที่ต้องใช้กล่องที่ผลิตมาโดยเฉพาะ เพื่อลดการกระแทกหรือฉีกขาด หรือในบางครั้งก็ปวดหัวกับการจัดส่งชุดชั้นในผู้หญิงที่มีความยุ่งยากในเรื่องการบรรจุลงหีบห่อที่เหมาะสม  หรือเคยมีคนเอาหม้อแปลงไฟฟ้ามาให้จัดเก็บ แต่เราไม่สามารถรับไว้ได้  โดยสรุปได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บและจัดส่งมีประสิทธิภาพคือ ลูกค้าควรแยกประเภท ชนิด ขนาด ของสินค้ามาให้ เพื่อความง่ายในการจัดเก็บและการค้นหา
 
เมื่อพูดถึงเรื่องการเข้ามาของผู้ประกอบการต่างชาติ ที่อาจเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดในการทำ Fulfillment ของผู้ประกอบการไทย คุณอานันท์  สุขุมภาณุเมศร์ กรรมการผู้จัดการ บ.ชิปยัวส์ จก.  ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ ไว้อย่างน่าสนใจว่า  การให้บริการโดยคนไทยเพื่อคนไทย น่าจะสามารถจับตลาดคนไทยได้ดีกว่า เพราะมีความเข้าใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเรากันเองได้มากกว่าต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความยุ่งยากในการจัดการปัญหาบางเรื่อง มีตัวอย่างที่เคยเจอเช่น การส่งสินค้าแฟชั่น ที่ลูกค้าส่งมาให้เป็นกองๆ ยังไม่ได้แยกไซส์ เรามีความเข้าใจและยินดีที่จะช่วยเหลือบริหารจัดการ คัดแยกและจัดส่งให้ตามออเดอร์  ซึ่งเราเชื่อว่าบริการของต่างชาติ เข้าไม่ถึงแน่นอน พร้อมเน้นย้ำเรื่อง จุดแข็งของผู้ประกอบการไทยคือ ความเอาใจใส่และมีจิตใจด้านการให้บริการ    

ความยากง่ายในการการเข้าถึงลูกค้า และการจับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย  คุณภัทร  เถื่อนศิริ กรรมการผู้จัดการ บ.อคิตะ ฟูลฟิลเมนท์ จก. ได้ให้มุมมองในการเลือกลูกค้าเป้าหมายว่า  ลูกค้าเป้าหมายของเราควรเป็นกลุ่มที่มี Mindset ตรงกัน เพราะเราเป็นผู้ให้บริการ ถ้าเราสามารถคุยภาษาเดียวกันกับลูกค้าได้ และคิดไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะง่ายในการสร้างความไว้เนื้อ   เชื่อใจ  และมองว่าแนวโน้มของสินค้าทางออนไลน์ จะอยู่ในกลุ่มของ แม่และเด็ก  เพราะคุณแม่รุ่นใหม่ จะมองหาของที่ดีที่สุดสำหรับลูก อีกทั้งอาหาร และวิตามินสุขภาพก็เป็น เทรนด์ของการสั่งซิ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี 

โดยสรุป Logistics Startup จะช่วยให้ SME ปิดจุดอ่อนทางธุรกิจด้านต่างๆ  การบริหารจัดการคลังสินค้า, การขนส่งสินค้า, การเช็คสต๊อก, การแพ็กและส่งสินค้า, การเพิ่มความเร็วในการจัดส่งให้ถึงมือลูกค้า และการบริหารต้นทุน ระบบของ  Startup จะช่วยให้การจัดการเรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความผิดพลาดในกระบวนการทำงาน ซึ่งหมายถึงจะช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียรายได้ด้วย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ส.ค. 2563 เวลา : 18:04:24
17-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 17, 2025, 10:05 pm