กองทุนรวม
โอนเงินกองทุนเลี้ยงชีพไป RMF เพิ่มโอกาสผลตอบแทน-ได้ประโยชน์ภาษี


ถ้าอายุไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์ แล้วนำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทั้งการพ้นสมาชิกภาพ การลาออกจากงาน นายจ้างยกเลิกกองทุน เปลี่ยนงานแต่ไม่อยากโอนย้ายกองทุนไปยังบริษัทใหม่ หรือบริษัทใหม่ไม่มีกองทุน รวมถึงไม่อยากคงเงินไว้กับบริษัทเดิม หรือเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพน้อยกว่า 5 ปี


ทั้งหมดนี้ จะต้องนำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งในส่วนของเงินสมทบจากนายจ้าง และเงินผลประโยชน์ คือ กำไรที่ได้รับจากการลงทุนไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พูดง่ายๆ คือ ต้องจ่ายภาษี 2 เด้งนั่นเอง
 
 
ดังนั้น วันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯและคุณฐิติเมธ โภคชัย ขอชี้แนะว่า หากคุณต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง คุณควรใช้วิธีการโอนเงินจากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวม RMF แต่ก่อนที่คุณจะตัดสินใจย้ายคุณควรดูเงื่อนไขก่อน ดังนี้
 
เมื่อคุณย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวม RMF แล้ว คุณต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี โดยให้นับรวมอายุต่อจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมก่อนโอนมาเป็นกองทุนรวม RMF

การถอนเงินออกจากกองทุนรวม RMF คุณสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีก็ต่อเมื่ออายุครบ 55 ขึ้นไป

เมื่อย้ายมาลงทุนในกองทุนรวม RMF แล้ว คุณจะไม่สามารถย้ายกลับไปลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อีก

คุณสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุน รวมถึงย้ายกองทุนไปยังบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แห่งอื่นๆ ได้
 
โดยกองทุนรวม RMF ที่สามารถรับโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้นั้น ต้องเป็นกองทุนรวม RMF for PVD กล่าวคือ มีการระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน (Fact Sheet) ว่า “รองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนรวมดังกล่าว ทั้งหมด 54 กองทุน จาก 10 บลจ. โดยแบ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) ทั้งหมด 28 กองทุน, ตราสารหนี้ 10 กองทุน, กองทุนรวมผสม 13 กองทุน และกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่น เช่น ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ อีก 3 กองทุน
 
สิ่งสำคัญที่คุณต้องพิจารณาก่อนย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวม RMF คือ คุณต้องเลือกกองทุนที่มีนโยบายสอดรับกับแผนการลงทุนของตนเอง โดยคุณอาจเลือกจากช่วงอายุและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น คนที่อายุไม่เกิน 35 ปี สามารถลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนสูง

ดังนั้น จึงควรเลือกกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นและกองทุนรวมผสม ส่วนผู้ที่กำลังใกล้เกษียณ อายุ 50 ปีขึ้นไป สามารถรับความเสี่ยงได้น้อย จึงควรเน้นกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น
 
เงินที่ออมไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ เงินก้อนที่เตรียมไว้ใช้หลังเกษียณ ดังนั้น เมื่อมีเหตุสุดวิสัย ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ คุณโอนย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวม RMF ซึ่งจะช่วยให้เงินลงทุนได้ทำงานอย่างต่อเนื่องตามแผนการออมระยะยาวที่วางไว้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ส.ค. 2563 เวลา : 09:31:10
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 7:55 pm