รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับคู่เจรจา 8 ประเทศ เห็นพ้องแนวทางรับมือวิกฤตโควิด-19 เข้มลดอุปสรรคการเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็นทางการแพทย์ ยา อาหาร ดันตั้งกองทุนอาเซียนรับมือโควิด-19 และส่งเสริมการใช้ดิจิทัล เผยได้เร่งอัพเกรดเอฟทีเอกับจีน อินเดีย เกาหลี ทบทวนเอฟทีเอกับออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ พร้อมติดตามการบังคับใช้เอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกง อาเซียน-ญี่ปุ่น ลุยร่วมมือการค้า การลงทุนกับแคนาดา เพื่อปูทางทำเอฟทีเอ และเดินหน้าร่วมมือการค้า ลงทุนกับรัสเซีย-ยูเรเซีย
ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีน ครั้งที่ 19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยได้หารือการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพการค้าในปัจจุบัน ทั้งด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และได้ยืนยันถึงความสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ที่จะต้องเดินหน้าต่อ รวมทั้งได้รับทราบโครงการสร้างการรับรู้เรื่องการใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับใหม่ภายใต้พิธีสารยกระดับความตกลงอาเซียน-จีน และการปรับปรุงแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน ซึ่งจะช่วยยกระดับการใช้ประโยชน์จากความตกลง ACFTA ได้ดียิ่งขึ้น
ดร.สรรเสริญ กล่าวว่า สำหรับการประชุมหารือรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียน-ฮ่องกง ครั้งที่ 4 ได้ติดตามความคืบหน้าผลการบังคับใช้ของความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน–ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน–ฮ่องกง (AHKIA) โดยล่าสุดมีผลบังคับใช้กับอาเซียน 8 ประเทศและฮ่องกง และจะมีผลบังคับใช้กับบรูไน ในวันที่ 20 ต.ค. 2563 ส่วนกัมพูชาอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายใน คาดว่าจะสามารถให้สัตยาบันได้ภายในปีนี้ และยังได้รับทราบความคืบหน้าเรื่องความร่วมมือ ECOTECH ที่ฮ่องกงสนับสนุนงบประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ให้อาเซียนจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ โดยในปีนี้มีโครงการที่ผ่านการอนุมัติแล้วจำนวน 6 โครงการ เป็นโครงการจากไทย 2 โครงการ คือ โครงการส่งเสริม SMEs ในการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่การผลิตโลก และโครงการส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง AHKFTA ในยุคดิจิทัล
ขณะที่การหารือกับญี่ปุ่น ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการมีผลใช้บังคับของพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน–ญี่ปุ่น (AJCEP) เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2563 ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่ให้สัตยาบันแล้ว ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม สำหรับบรูไน จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ต.ค. 2563 ซึ่งจะส่งผลดีด้านการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน ทั้งนี้ ญี่ปุ่นยังได้เสนอที่จะสนับสนุนอาเซียน ในด้านการใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกทางการค้า การยกระดับห่วงโซ่การผลิตให้มีความหลากหลาย และการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม เพื่อบรรเทาผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เสริมว่า สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS-EMM) ครั้งที่ 8 ได้รับมอบหมายให้หารือร่วมกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจจาก 18 ประเทศ คือ อาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจา 8 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย โดยที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการรับมือผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในภูมิภาค และเห็นควรสร้างความเข้มแข็งและการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็น เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ยา อาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าและบริการที่จำเป็นอื่นๆ
ทั้งนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ประเทศต่างๆ ใช้รับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น จัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 สร้างคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ จัดทำแนวปฏิบัติร่วมกันในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และการพัฒนาวัคซีนและการเข้าถึงวัคซีน รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาค ซึ่งการเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญต่อการรับมือวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาทักษะแรงงาน การเข้าถึงเทคโนโลยีของสตรี ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ และยังเห็นด้วยกับการหาข้อสรุปการเจรจาเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเวทีองค์การการค้าโลก (WTO)
นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-อินเดีย ได้หารือทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน–อินเดีย (AITIGA) ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2553 โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-อินเดีย ไปทบทวนความตกลงให้ทันสมัย ง่ายต่อการใช้ประโยชน์ และเอื้อต่อการค้าและการลงทุน ส่วนการหารือกับผู้แทนภาคเอกชนจากสภาธุรกิจอาเซียน–อินเดีย ได้สนับสนุนการทบทวนความตกลง AITIGA โดยเฉพาะเรื่องการเปิดตลาด การลดอุปสรรคในมาตรการที่มิใช่ภาษี การลดความล่าช้าและยุ่งยากในพิธีการศุลกากร และอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งจะช่วยผลักดันการค้าระหว่างอาเซียนกับอินเดียให้บรรลุเป้าหมายที่ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2565 ได้
ส่วนการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลี ได้หารือถึงการปรับปรุงความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-เกาหลี (AKTIGA) โดยจะเริ่มเจรจาเพื่อเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติม หลังการลงนาม RCEP และเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกัน เพื่อรับมือวิกฤตโควิด-19
การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ได้รับทราบความคืบหน้าการทบทวนความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ในเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า การแข่งขันทางการค้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การค้าบริการ การลงทุน ความร่วมมือด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการค้ากับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้เร่งรัดให้การเจรจาทบทวนมีความคืบหน้าโดยเร็ว
การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ได้ติดตามผลการดำเนินงานตามแผนงานด้านการค้าการลงทุน ปี 2559-2563 ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกัน เช่น การจัดประชุมหารือด้านนโยบายการค้า การจัดประชุมภาคธุรกิจอาเซียน-แคนาดา การประชุมหารือแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียนสำหรับ SMEs การสนับสนุนภาคธุรกิจแคนาดาจับคู่ทางธุรกิจกับอาเซียน เป็นต้น และได้เห็นชอบแผนงานด้านการค้าการลงทุน ปี 2564-2568 ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญ เช่น งานสัมมนาเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ การพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และการพัฒนาธุรกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนในสาขาการเงิน การท่องเที่ยว การขนส่ง พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น เพื่อสานต่อกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและแคนาดาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อม หากทั้งสองฝ่ายจะเริ่มเจรจาเอฟทีเอในอนาคต และได้มอบให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายไปหารือเพื่อร่วมกันจัดทำเอกสารขอบเขตความคาดหวังการเจรจาจัดทำเอฟทีเอ เพื่อเป็นข้อมูลเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย ในเดือน ส.ค. 2564 เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการเปิดเจรจาเอฟทีเออาเซียน-แคนาดาต่อไป
สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-รัสเซีย ได้หารือความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนความร่วมมือการค้าและการลงทุนอาเซียน-รัสเซีย และแผนงานความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน) โดยได้เห็นชอบให้ขยายอายุแผนงานที่จะสิ้นสุดในปี 2563 ออกไปจนถึงปี 2568 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายให้เน้นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยมีแผนที่จะจัดกิจกรรมสำคัญ อาทิ การประชุมระหว่างรัฐมนตรีคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซียกับรัฐมนตรีอาเซียน รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์แก้ปัญหาโควิด-19 และเห็นชอบการจัดสัมมนาหารือแนวทางรับมือโควิด-19 ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้
ข่าวเด่น