กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าประชุมกลุ่มย่อย ระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน พร้อมเปิดให้แสดงความเห็นออนไลน์ เรื่อง “กลไกช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า” ผ่านทาง Facebook กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชี้จากการระดมความเห็นก่อนหน้า เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมจัดประชุมระดมความเห็นกลุ่มย่อย (focus group) เรื่อง “แนวทางการพัฒนาจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ : กลไกช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า” ในวันที่ 9 กันยายน 2563 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษา เรื่อง แนวทางการพัฒนากลไกช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยเชิญภาคเกษตร ผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมรับฟังผลการศึกษาและระดมความเห็น ซึ่งการประชุมกลุ่มย่อยครั้งนี้ ยังเปิดกว้างให้ผู้สนใจร่วมรับชมสดและร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ที่ Facebook กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันภาครัฐมีกลไกช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) 2 กลไก คือ กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า แต่จากการลงพื้นที่สอบถามความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการ พบว่า กลไกดังกล่าวยังมีข้อจำกัดและยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการเท่าที่ควร จึงต้องการให้ปรับปรุงกลไกการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีที่มีอยู่
ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 กระทรวงพาณิชย์ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) จึงได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นฝ่ายเลขานุการ โดยระหว่างนี้จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 กรมฯ จะรวบรวมผลการศึกษาและผลการระดมความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมนำเสนอคณะทำงานฯ ให้พิจารณาแนวทางแก้ปัญหา ในเดือนธันวาคมนี้
นอกจากนี้ จากการรับฟังความเห็นในช่วงที่ผ่านมา ผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เสนอว่ารัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งในเบื้องต้นกรมบัญชีกลางแนะนำว่า การตั้งกองทุนจะต้องจัดทำเป็น พ.ร.บ ตามแนวทางที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ซึ่งจะต้องระบุรายละเอียดที่สำคัญ เช่น โครงสร้างการบริหารทุนหมุนเวียน แหล่งเงินทุนและแหล่งรายได้ การลดความซ้ำซ้อนกับกองทุนหมุนเวียนที่มีอยู่ รวมถึงเป้าหมายและประโยชน์ที่ได้รับต้องชัดเจน เป็นต้น
ข่าวเด่น