หุ้นทอง
เคล็ดลับจัดพอร์ต...ให้รอดพ้นวิกฤติ


วิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนเป็นอย่างมาก ตลาดหุ้นไทยก็เป็นหนึ่งในตลาดที่ปรับลงมากที่สุด โดย SET Index ลดลงเกือบ 40% ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน แน่นอนว่านักลงทุนหน้าใหม่ที่ไม่เคยเจอวิกฤติใหญ่ๆ ในตลาดหุ้น ต่างขวัญหนีดีฟ่อกับมูลค่าพอร์ตการลงทุนของตนที่เสียหายอย่างหนัก

 
แต่ในช่วงที่ทุกคนท้อแท้เช่นนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ และนารินทิพย์ ท่องสายชล อยากให้มองอีกมุมหนึ่งว่า... วิกฤตครั้งนี้สอนอะไรเราบ้าง เราได้บทเรียนหรือประสบการณ์ใดบ้างที่จะทำให้เรากลายเป็นนักลงทุนที่มีภูมิต้านทาน สามารถสร้างพอร์ตลงทุนที่ดี และทนทานต่อภาวะวิกฤติได้ วันนี้เราลองมาถอดบทเรียนกัน!!!
 
Flash Back... ย้อนรอยตลาดหุ้นต้นปี 2563

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี ตลาดหุ้นไทยเปิดทำการวันแรกของปี 2563 ณ ช่วงที่ 1 ด้วยดัชนี 1,580 จุด แต่พอสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม หลังมีข่าวเรื่องไวรัสโคโรนาเริ่มระบาดในจีน ดัชนีปรับตัวลดลงมาเหลือ 1,514 จุด ซึ่งเป็นช่วงที่นักลงทุนจำนวนมากรีบเข้าซื้อ เพราะไม่ค่อยมีโอกาสเห็นดัชนี 1,514 จุด มาระยะหนึ่งแล้ว
 
หลังจากนั้นไม่นาน เชื้อไวรัสก็แพร่ระบาดมากขึ้น ราคาหุ้นยังคงตกต่อไป ซึ่งในช่วงที่ 2 นี้เอง นักลงทุนเริ่มซื้อถัวจนเงินหมด ไม่มีเงินสดเหลือ แต่ตลาดหุ้นก็ยังคงตกต่อไปเรื่อยๆ ขณะที่ในมือของนักลงทุนไม่มีกระสุนเหลืออีกแล้ว โดย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนีปิดที่ 1,340 จุด
 
ช่วงเดือนมีนาคม เชื้อไวรัสแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว กดดันให้ตลาดหุ้นยังคงตกลงอย่างต่อเนื่อง เข้าสู่ช่วงที่ 3 ที่หุ้นยังคงตกหนักต่อไป ยิ่งตก ยิ่งบั่นทอนสภาพจิตใจ เริ่มมีความกลัวและหวาดผวา ในที่สุดก็มาถึงช่วงที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความกลัวถึงขีดสุด นำไปสู่การเกิด 3 Circuit Breaker ติดต่อกันภายใน 2 วัน ส่งผลให้ดัชนี SET Index ร่วงลงสู่ระดับ 969 จุด ในวันที่ 13 มีนาคม 2563 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี 3 เดือน 11 วันทำการ ที่ SET Index ตกลงไปต่ำกว่า 1,000 จุด นับตั้งแต่ฟื้นตัวจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์
 
ในช่วงที่ 4 นี้เอง นักลงทุนที่ไม่ได้มีแผนการลงทุน ไม่ได้มีการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) มาก่อน และใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว พอตะกร้าเริ่มตก และไข่เริ่มแตก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความกลัว ก็เลยเทขายหุ้นทั้งหมดออกมา ซึ่งเป็นการหยุดขาดทุน (Cut Loss) ที่น่าเสียดาย เพราะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นน่าจะลงมาต่ำมากที่สุดแล้ว
 
คำถามคือ แล้วแบบนี้เราควรจะทำอย่างไร? แน่นอนว่าการที่เราจะไปต่อได้ในช่วงวิกฤติ เราต้องสามารถสร้างพอร์ตลงทุนให้ทนต่อภาวะวิกฤติได้ และนี่คือ สูตรลับจัดพอร์ตให้รอดวิกฤติ
 

 จัดสรรสินทรัพย์ให้เหมือนจัดทีมฟุตบอล

เมื่อพูดถึง “การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน” (Asset Allocation) ให้ลองนึกถึง “การจัดทีมฟุตบอล” ที่ในทีมจะต้องมีทั้ง กองหน้า กองกลาง กองหลัง และ ผู้รักษาประตู ไม่มีทีมฟุตบอลใดที่ใส่กองหน้าลงสนามไปทั้ง 11 คน ขณะเดียวกันก็ไม่มีทีมฟุตบอลใด จัดกองหลัง 11 คน ให้ลงตั้งแต่นาทีแรกแล้วจะเล่นชนะ ดังนั้น การทำ Asset Allocation จึงเป็นการจัดสมดุลของกองหน้า กองกลาง กองหลัง และผู้รักษาประตู ด้วยสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน
 
เริ่มจาก กองหน้า ผู้ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการบุกทำประตู ในมุมมองของการลงทุน กองหน้ามีหน้าที่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตโดยรวม จึงควรเป็นสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงๆ เช่น หุ้น เป็นต้น โดยในปีที่ตลาดหุ้นดี นักลงทุนจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงในการสูญเสียเงินต้นที่สูงด้วยเช่นกัน
 
ถัดมา คือ กองกลาง มีหน้าที่บุกหรือตั้งรับก็ได้ กองกลางจึงควรเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลาง พูดง่ายๆ คือ มีความผันผวนในระดับหนึ่งแต่ต้องไม่มากจนเกินไป เพื่อแลกกับการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เช่น กองทุนหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงในหุ้นหลายๆ ตัว หรืออาจเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund : IFF) ก็ได้
 
เมื่อมีกองหน้าและกองกลางแล้ว ถัดมาก็คือ กองหลัง มีหน้าที่ป้องกันเป็นหลัก จึงเปรียบเหมือนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เน้นรักษาเงินต้นให้ปลอดภัย เช่น เงินสด เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า... สินทรัพย์เหล่านี้จะให้ผลตอบแทนที่ไม่สูงมากนัก
 
สุดท้ายที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ผู้รักษาประตู ซึ่งเป็นตัวช่วยสุดท้ายในการเซฟไม่ให้ทีมตรงข้ามบุกเข้ามาทำคะแนนได้ โดยผู้รักษาประตูในที่นี้ก็คือ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ที่ทุกคนควรมีไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดฝันต่างๆ
 

จัดพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยง... ตามอายุ
 
คำถามต่อมา คือ เราควรจัดกองหน้า กองกลาง และกองหลังอย่างไร? ซึ่งการจัดสรรสัดส่วนของสินทรัพย์แต่ละประเภท จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ของแต่ละบุคคล เช่น อายุ กระแสเงินสดรับ จำนวนเงินลงทุน และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ตัวอย่างเช่น คนอายุ 22 ปี เพิ่งเรียนจบปริญญาตรี กับคนที่อีก 5 ปีจะเกษียณอายุ ก็ไม่สามารถจัดทีมฟุตบอลที่เหมือนกันได้
 
หลักการเบื้องต้นที่ใช้ทั่วไป คือ การจัดพอร์ตตามอายุ โดยสัดส่วนที่เหมาะสมของกองหน้า หรือสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงในพอร์ตลงทุน ควรจะเท่ากับ 100 – อายุ เช่น คนอายุ 20 ปี สัดส่วนของสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงที่เขาลงทุนได้เท่ากับ 100 – 20 = 80 นั่นหมายความว่า สามารถลงทุนในหุ้นได้สูงถึง 80% กล่าวคือ อายุน้อยเสี่ยงได้มาก อายุมากเสี่ยงได้น้อยลง
 
นอกจากเรื่องการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนแล้ว เรายังควรปรับพอร์ตลงทุนให้มีสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ เช่น ปรับพอร์ตทุกๆ 1 ปี หรือปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับทิศทางตลาด และควรลดความเสี่ยงของพอร์ตด้วยการกระจายการลงทุนไปใน Sector ต่างๆ เช่น สื่อสาร พลังงาน ค้าปลีก ขนส่ง เป็นต้น โดยการกระจายการลงทุนที่ดีและเหมาะสมที่สุด คือ ถือหุ้นไม่ควรเกิน 10 ตัว เพื่อให้เราสามารถดูแลพอร์ตลงทุนได้อย่างทั่วถึง
 
สุดท้าย อย่าลืม ตัดขาดทุน (Cut Loss) ในช่วงเวลาที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คิด ต้องกำหนดจุด Cut Loss เอาไว้ชัดๆ ว่า เรายอมรับขาดทุนได้ในระดับใด หากเกิดเหตุการณ์ที่หุ้นลงมาจนถึงระดับราคานี้ จะต้องขายทันทีเพื่อจำกัดการขาดทุน เพราะเวลาราคาหุ้นลง ไม่มีใครรู้ว่าจะลงไปถึงที่จุดใด ดังนั้น การ Cut Loss จะช่วยจำกัดการขาดทุนและช่วยเรื่องสภาพคล่องให้มีเงินกลับมาลงทุนใหม่ได้
 
สูตรลับจัดพอร์ตให้รอดวิกฤตินี้เป็นเข็มทิศการลงทุนขั้นแรก เพื่อช่วยให้นักลงทุนสามารถจัดสรรสินทรัพย์การลงทุน และบริหารจัดการพอร์ตลงทุนให้ดี แข็งแกร่งเพียงพอที่จะฝ่าวิกฤติต่างๆ ได้ โดยทั้งหมดนี้ต้องทำให้เหมาะสมกับความเสี่ยง รายได้ และสไตล์การลงทุนของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถสร้างความมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ก.ย. 2563 เวลา : 09:10:54
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 9:33 pm