การค้า-อุตสาหกรรม
วีรศักดิ์ ชูโมเดล 'คืนสู่สภาวะปกติ' พร้อมดัน...อุบลราชธานีให้เป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว


รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเศรษฐกิจท้องถิ่นและร้านค้าส่งค้าปลีกในจังหวัดอุบลราชธานี แสดงวิสัยทัศน์ดันเมืองอุบลเป็นต้นแบบของ Resilient Economy หรือ เศรษฐกิจที่กลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว ชี้!! เศรษฐกิจ จ.อุบลราชธานียังเดินต่อได้ โดยใช้เศรษฐกิจภายในจังหวัดเป็นตัวขับเคลื่อน แต่ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและได้รับความร่วมมือในรูปแบบการบูรณาการจากทุกภาคส่วน 


นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ระหว่างวันที่ 10 - 11 กันยายน 2563 นี้ ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อตรวจเยี่ยมและสำรวจความคืบหน้าการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของจังหวัดหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึง การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังประสบอุทกภัยอย่างหนักเมื่อปีที่ผ่านมา โดยปีที่แล้ว ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อประเมินความเสียหายและช่วยเหลือร้านโชวห่วย/ร้านค้าส่งค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยให้ฟื้นตัวและกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติโดยเร็ว มาถึงปีนี้ เกิดวิกฤตโควิด-19 ซ้ำอีก ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภายในจังหวัดเป็นอย่างมาก จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า เศรษฐกิจการค้าโดยรวมของจังหวัดอุบลราชธานียังคงมีความแข็งแกร่ง โดยต้องขอชื่นชมผู้ประกอบการจังหวัดอุบลราชธานีว่ามีความอดทนและเข้มแข็งมาก ทำให้เศรษฐกิจภายในจังหวัดสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ ส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของจ.อุบลราชธานีฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว คือ ความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจฐานรากภายในจังหวัด โดยเฉพาะร้านค้าส่งค้าปลีกระดับจังหวัดที่มีเข้มแข็งและเป็นที่พึ่งของท้องถิ่นได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอุบลราชธานียังมีจิตวิญญาณของความเป็นนักสู้และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ทำให้อุบลราชธานีพร้อมเป็นเมืองต้นแบบของการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว หรือที่เราเรียกว่า ‘Resilient Economy’ ในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ”  

รมช.พณ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ภาคธุรกิจที่มีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจของจังหวัดเดินหน้าต่อได้ คือ ‘ภาคค้าส่งค้าปลีก’ มีบทบาทสำคัญในการกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในท้องถิ่น รวมถึง จำหน่ายสินค้าในราคาที่สมเหตุสมผล ช่วยลดภาระทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางการกระจายสินค้าที่สำคัญสำหรับสินค้าชุมชนและสินค้าโอทอปที่ผลิตทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกและโชวห่วยต้องช่วยกันพัฒนาอุตสาหกรรมค้าส่งค้าปลีกให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก โดยการสร้างองค์ความรู้ที่สำคัญ เช่น การรับมือกับพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในยุค New normal การแก้ปัญหาสต๊อกสินค้าที่มีมากเกินความจำเป็น หรือการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ร้านค้าส่งค้าปลีกมีต้นทุนลดลงและยอดขายมากขึ้น ส่งต่อผลกำไรที่เพิ่มขึ้นและสามารถนำกลับคืนสู่สังคมในรูปของการลดราคาสินค้าหรือจัดกิจกรรมช่วยเหลือสังคมอื่นๆ ต่อไป” 

“สำหรับการตรวจเยี่ยมร้านค้าส่งค้าปลีกครั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตรวจเยี่ยมบริษัท สยามเซฟแลนด์ เทรดดิ้ง จำกัด หรือซุปเปอร์เซฟแลนด์ ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อท้องถิ่นและเป็นเจ้าของเดียวกับร้านยงสงวน (ศูนย์ค้าส่ง) ที่สามารถแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ได้ มีสาขากว่า 20 แห่งทั่วจังหวัด โดยเคล็ดลับความสำเร็จของร้าน คือการนำระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) มาบริหารจัดการภายในร้าน มีมาตรฐาน ISO 9001 มาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ และมีการจัดกิจกรรมลดราคาสินค้าช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทำให้ครองใจชาวอุบลราชธานีได้อย่างยาวนาน นอกจากนี้ ยังมีบริการเสริมเพิ่มรายได้ เช่น เป็นจุดรับ-ส่งพัสดุ และการใช้สื่อโซเชียลมีเดียมาช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมและโปรโมชันต่างๆ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการบริหารร้านค้าหลังยุคโควิด-19 คือ ‘สุขอนามัย’ โดยทางร้านมีการจัดหาเจลล้างมือแอลกอฮอล์และการตรวจวัดอุณหภูมิให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในร้าน โดยจากการพูดคุย ทำให้ทราบว่า เคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ร้านประสบความสำเร็จ คือ การเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะของกระทรวงพาณิชย์ เช่น โครงการสร้างความเข้มแข็งศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ที่ทำให้ร้านมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ลดต้นทุนคลังสินค้าและเพิ่มยอดขาย อีกทั้งสามารถสร้างเครือข่ายกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกทั่วประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมถึงกิจกรรมลดราคาสินค้าและเชื่อมโยงทางการตลาด”   

“ก้าวต่อไปมองว่า ‘ภูมิคุ้มกันด้านเศรษฐกิจ’ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นสามารถขับเคลื่อนไปได้ โดยจะมุ่งมั่นผลักดันร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นเป็นผู้นำเศรษฐกิจท้องถิ่นและผลักดันผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้เป็นภูมิคุ้มกันด้านเศรษฐกิจและเป็นเสาหลักที่สำคัญให้แก่เศรษฐกิจเมืองอุบลราชธานีต่อไป” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย  

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ก.ย. 2563 เวลา : 13:04:44
17-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 17, 2025, 10:12 pm