หุ้นทอง
คุมต้นทุน จำกัดความเสี่ยง ทำอย่างไรจึงคุ้มค่าที่สุดในจุดที่เข้าลงทุน


 ทำอย่างไรจึงคุ้มค่าที่สุดในจุดที่เข้าลงทุน

จากวิกฤติ COVID-19 ส่งผลให้ SET Index ปรับตัวลดลงมาก นักลงทุนส่วนใหญ่ประสบกับภาวะขาดทุน และมักจะคิดว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะตัวเองเลือกหุ้นได้ไม่ดี หรือหาจังหวะในการลงทุนหุ้นได้ไม่เหมาะนัก

มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ และคุณนารินทิพย์ ท่องสายชล ต้องบอว่า แต่จริงๆ แล้วการบริหารเงินในการซื้อขาย หรือการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน (Money Management) ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญและส่งผลต่อการลงทุนของคุณ
 
 
ทำไมต้องบริหารเงินในการซื้อขาย
 
เพราะคุณไม่รู้ล่วงหน้าว่า ผลการซื้อขายจะเป็นอย่างไร อาจจะกำไรหรือขาดทุนก็ได้ คุณจึงต้องรู้จักบริหารความเสี่ยง และจำกัดความเสี่ยงในการซื้อขายแต่ละครั้ง ว่าคุณจะเสียเงินไม่เกินเท่าใด
 
โอกาสในการลงทุนมีเข้ามาตลอดเวลา ไม่มีใครรู้ว่าครั้งที่คุณตัดสินใจซื้อขายไป เป็นโอกาสที่ดีหรือไม่ดี ราคาหุ้นที่ซื้อจะขึ้นมากหรือน้อย ขึ้นเร็วหรือช้า หากผลออกมาเป็นขาดทุน และขาดทุนต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนทั้งหมดของคุณ คุณจึงต้องมีการกระจายโอกาสในการซื้อขาย โดยการบริหารเงินลงทุนที่จะซื้อขายในแต่ละครั้ง
 
แล้วทำไมถึงไม่ควรทุ่มสุดตัวในการซื้อขายแต่ละครั้ง
 
สมมติว่าคุณมีเงิน 100 บาท หากขาดทุน 10% หรือ 10 บาท จะเหลือเงิน 90 บาท ซึ่งการที่จะทำให้เงิน 90 บาทนั้น กลับมาเท่าทุน คือ 100 บาทเหมือนเดิม คุณจะต้องใช้เงิน 90 บาท ไปสร้างผลตอบแทนหรือผลกำไรให้ได้ 11.11% จึงจะกลับมาเท่าเดิม
 
สังเกตว่า เวลาขาดทุนแล้ว กว่าจะทำให้เงินกลับมาเท่าเดิมได้ ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ยิ่งปล่อยให้ผลขาดทุนเยอะ ล่วงเลยไปถึง 50% คุณจะเหลือเงินทุนเพียงครึ่งหนึ่ง ซึ่งคุณต้องสร้างผลตอบแทนให้ได้ถึง 100% จึงจะกลับมาเท่าทุน และนี่จึงเป็นสาเหตุว่า... ทำไมคุณจึงต้องจำกัดความเสี่ยง และไม่ควรทุ่มเงินลงไปสุดตัวในการซื้อขายแต่ละครั้ง
 
สูตรลับ 4 ขั้นตอน คุมต้นทุน จำกัดความเสี่ยง
 
การบริหารเงินในการซื้อขาย เป็นกระบวนการที่ช่วยคุณในการตัดสินใจว่า จะลงมือซื้อขายดีหรือไม่ ผลตอบแทนที่ได้รับคุ้มค่ากับความเสี่ยงไหม จะยอมเสี่ยงได้ครั้งละเท่าไหร่ รวมไปถึงจะแบ่งเงินในการซื้อขายแต่ละครั้งอย่างไร และควรซื้อเป็นจำนวนเท่าไหร่
 
ขั้นตอนที่ 1 : จะลงมือซื้อขายหรือไม่
 
เป็นการดูความคุ้มค่าในการลงทุน โดยเปรียบเทียบระหว่างกำไรที่คาดว่าจะได้รับ กรณีที่การซื้อขายครั้งนั้นเป็นกำไร (Reward) กับผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้น กรณีที่การซื้อขายครั้งนั้นขาดทุน (Risk) หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Reward to Risk Ratio : RRR
 
หาก Reward มีค่ามากกว่า Risk แปลว่ามีความคุ้มค่าที่จะเสี่ยง
หาก Risk มีค่ามากกว่า Reward แปลว่าไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยง หรือ “ได้ไม่คุ้มเสีย”
 
ตัวอย่าง สมมติคุณอยากซื้อหุ้น A ที่ราคา 30 บาท โดยราคาเป้าหมายที่น่าจะไปถึงและจุดตัดขาดทุนเมื่อวิเคราะห์จากกราฟอยู่ที่ 40 และ 25 บาทตามลำดับ
 
RRR     = (ราคาเป้าหมาย – ราคาที่จะซื้อ) / (ราคาที่จะซื้อ – ราคาที่จะตัดขาดทุน)
            = (40 – 30) / (30 – 25)
            = 10 / 5 = 2
 
แปลว่า ถ้าการซื้อขายหุ้น A ได้กำไร จะกำไร 10 บาท แต่หากขาดทุน จะขาดทุน 5 บาท ไม่ต้องคำนวณเป็นอัตราส่วนก็พอเห็นอย่างชัดเจนว่าผลตอบแทน (Reward) มากกว่าความเสี่ยง (Risk) ที่สัดส่วน 10 : 5 หรือ 2 : 1
 
ดังนั้น การซื้อขายหุ้น A ในครั้งนี้จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าพอที่จะเสี่ยง เพราะโอกาสจะได้กำไรมากกว่าโอกาสขาดทุน
 
แล้ว RRR เท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าคุ้มค่า
โดยทั่วไปค่า RRR ควรจะมากกว่า 2 เท่าขึ้นไปถึงจะถือว่าคุ้มค่า แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นสูตรสำเร็จเสมอไป เพราะหากอยากให้ชัวร์ๆ ก็ควรวิเคราะห์องค์ประกอบอื่นๆ เช่น % Win Ratio ด้วย
 
ข้อดีอย่างหนึ่งของการดูความคุ้มค่าในการลงทุน คือ คุณต้องหาระดับราคาตัดขาดทุนหรือจุด Stop Loss พูดง่ายๆ คือ ต้องรู้ว่าจุดตัดขาดทุนอยู่ตรงไหน แล้วอยู่ในราคาอะไร ซึ่งโดยทั่วไปเรามักไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องนี้กัน
 
ขั้นตอนที่ 2 : จะเสี่ยงครั้งละเท่าไหร่
 
เป็นการกำหนดจำนวนเงินสูงสุดที่พร้อมจะเสี่ยงขาดทุนในการซื้อขายแต่ละครั้ง (%Risk Exposure) ซึ่งส่วนมากจะกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์เทียบกับจำนวนเงินลงทุนทั้งหมด
 
ตัวอย่าง ถ้ามีเงินลงทุน 1,000,000 บาท และกำหนดว่าจะเสี่ยงขาดทุนในการซื้อขายแต่ละครั้งไม่เกิน 2% ของเงินลงทุน
 
เงินที่พร้อมจะเสี่ยงขาดทุนแต่ละครั้ง ไม่เกิน   
= 2% x 1,000,000
= 20,000 บาท
 
แปลว่า คุณจะยอมขาดทุนหรือจะเสี่ยงไม่เกินครั้งละ 20,000 บาท
 
แนวทางที่ใช้ในการหาเปอร์เซ็นต์ที่เหมาะสมของจำนวนเงินที่พร้อมจะเสี่ยงขาดทุนในแต่ละครั้งมีอยู่หลายวิธี สำหรับมือใหม่แนะนำว่า อย่าเสี่ยงที่จะขาดทุนเกินครั้งละ 2% ของเงินลงทุน

แต่สำหรับมือเก๋าที่ค่อนข้างมั่นใจ และมีการจดบันทึกการซื้อขายของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เช่น เวลาซื้อขายกำไรบ่อยไหม (%Win Ratio) หรือกำไรเฉลี่ยต่อครั้งเมื่อเปรียบเทียบกับผลขาดทุนเฉลี่ยต่อครั้งเป็นเท่าใด (Payoff Ratio) ก็แนะนำว่า อย่าเสี่ยงที่จะขาดทุนเกินครั้งละ 5% จะปลอดภัยที่สุด
 
ขั้นตอนที่ 3 : จะแบ่งเงินไปซื้อขายครั้งละเท่าไหร่
 
ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหุ้นมากมาย เราไม่รู้ว่า ราคาหุ้นตัวไหนจะขึ้นเร็ว หรือขึ้นช้า ตัวไหนซื้อแล้วจะกำไรหรือขาดทุน 
 
คุณจึงควรแบ่งเงินหรือจัดสรรเงินให้สามารถซื้อขายหุ้นได้หลายๆ ตัว ในหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งเงินประมาณ 10%-15% ของเงินลงทุนในการซื้อขายแต่ละครั้ง เพื่อช่วยกระจายโอกาสหรือทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนลดลง
 
แต่การกระจายการลงทุนที่ดี ก็ต้องไม่หลากหลายหรือกระจัดกระจายมากเกินไป เพราะจะทำให้ยากในการติดตามราคา แถมผลตอบแทนที่ได้ก็อาจไม่ดีนัก ฉะนั้นเลือกลงทุนในหุ้นที่คุณเข้าใจธุรกิจ และพอมีเวลาติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ประมาณ 8-10 หุ้นก็น่าจะเพียงพอแล้ว ซึ่งในการซื้อขายแต่ละหุ้นหรือแต่ละอุตสาหกรรม คุณยังสามารถทยอยซื้อขายแบบระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวได้ด้วย
 
ขั้นตอนที่ 4 : จะซื้อขายจำนวนเท่าใด
 
เป็นการคำนวณจำนวนหุ้นที่จะซื้อขายในแต่ละครั้ง โดยในขั้นตอนที่ 2 คุณจะได้จำนวนเงินที่พร้อมจะเสี่ยงขาดทุนในการซื้อขายแต่ละครั้ง ส่วนขั้นตอนที่ 3 คุณได้จำนวนเงินที่จะใช้ซื้อขายในแต่ละครั้ง

ดังนั้น เงินที่พร้อมจะเสี่ยงและเงินที่จะใช้ซื้อขาย อาจไม่ใช่เงินจำนวนเดียวกัน!! ซึ่งคุณจะนำจำนวนเงินใน 2 ขั้นตอนนี้มาคำนวณจำนวนหุ้นสูงสุดที่จะซื้อขายในแต่ละครั้ง
 
ตัวอย่าง สมมติคุณมีเงินลงทุน 1,000,000 บาท จะเสี่ยงขาดทุนครั้งละไม่เกิน 2% และจะซื้อขายหุ้นในแต่ละครั้งไม่เกิน 15% ของเงินลงทุน หากคุณอยากซื้อหุ้น A ที่ราคา 30 บาทต่อหุ้น โดยราคาตัดขาดทุนเมื่อวิเคราะห์จากกราฟอยู่ที่ 25 บาทต่อหุ้น คุณควรซื้อหุ้น A จำนวนกี่หุ้น?
 
 
กรณีที่ 1 พิจารณาจากเงินที่จะเสี่ยงขาดทุนในแต่ละครั้ง 
 
จำนวนหุ้นที่ซื้อได้ = เงินที่พร้อมจะเสี่ยงขาดทุนในแต่ละครั้ง / ผลขาดทุนต่อหุ้น
 
เงินที่พร้อมจะเสี่ยงขาดทุนแต่ละครั้ง ไม่เกิน 20,000 บาท (2% x 1,000,000)
ถ้าผลการซื้อขายครั้งนี้ขาดทุน จะขาดทุน 5 บาทต่อหุ้น (25 – 30)
ดังนั้น เราซื้อหุ้นได้ทั้งหมดไม่เกิน 4,000 หุ้น (20,000 / 5)
 
กรณีที่ 2 พิจารณาจากเงินที่จะใช้ในการซื้อขายในแต่ละครั้ง 
 
จำนวนหุ้นที่ซื้อได้ = เงินที่จะใช้ในการซื้อขายในแต่ละครั้ง / ต้นทุนในการซื้อต่อหุ้น
 
เงินที่จะใช้ซื้อขายในแต่ละครั้ง ไม่เกิน 150,000 บาท (15% x 1,000,000)       
ราคาหุ้นที่ต้องการซื้อ 30 บาทต่อหุ้น
ดังนั้น คุณซื้อหุ้นได้ทั้งหมดไม่เกิน 4,500 หุ้น (150,000 / 30)
 
จากนั้นนำค่าที่คำนวณได้จากทั้ง 2 กรณีมาเปรียบเทียบกัน และตัดสินใจซื้อขายตามจำนวนที่น้อยกว่า นั่นหมายความว่า... การตัดสินใจซื้อหุ้น A ในครั้งนี้ ควรซื้อสูงสุดไม่เกิน 4,000 หุ้น
 
โดยสรุปแล้ว คุณต้องใช้เงินซื้อหุ้นในแต่ละครั้ง 120,000 บาท (4,000 x 30) และมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูงสุดจากการซื้อขายครั้งนี้ 20,000 บาท (4,000 x 5)

คงพอเห็นแนวทางการบริหารเงินลงทุนในการซื้อขายหรือการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน (Money Management) กันมากขึ้นว่า คุณควรทำอย่างไรจึงจะคุ้มค่าที่สุดในจุดที่จะเข้าลงทุน ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือ การจดบันทึกผลของการซื้อขายแต่ละครั้งของตัวเอง เพื่อนำมาวิเคราะห์และเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะกับตนเองต่อไป โดยในภาวะวิกฤติเช่นนี้ การวางแผนซื้อหุ้นในแต่ละครั้งเป็นอย่างดีย่อมช่วยลดความเสียหาย และช่วยให้เราอยู่รอดปลอดภัยในตลาดหุ้นได้ในระยะยาว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.ย. 2563 เวลา : 09:06:27
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 9:54 pm