หากบุคคลต้องการตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของตนเองทำได้โดยกรอกข้อมูลส่วนตัวลงไปที่งบการเงินส่วนบุคคล ซึ่งมี 2 งบ ได้แก่ งบดุล ซึ่งประกอบไปด้วย สินทรัพย์ และหนี้สิน หากเรานำสินทรัพย์หักหนี้สินออก ส่วนต่างนี้จะเรียกว่าความมั่งคั่ง
งบดุลนี้จะมีประโยชน์เพราะช่วยให้เรามองเห็นภาพว่า เมื่อเวลาผ่านไปความมั่งคั่งของเราเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะเพิ่มได้ก็ต้องทำให้สินทรัพย์เพิ่มขึ้น และหนี้สินลดลงเท่านั้น
สำหรับงบที่ 2 เรียกว่า งบรายได้รายจ่าย ที่หากนำองค์ประกอบ รายได้ลบด้วยรายจ่าย ส่วนต่างนี้เรียกว่า“เงินออม” เจ้าเงินออมนี่แหละจะเป็นพระเอกในการสร้างความมั่งคั่งเพราะหากนำไปเพิ่มสินทรัพย์หรือลดหนี้สินก็จะทำให้ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น เมื่อเราพอรู้จักงบการเงินส่วนบุคคลแล้ว ผมจะพาไปรู้จัก เทคนิคการตรวจสอบสุขภาพทางการเงินเบื้องต้น เพื่อให้เราพอรู้สถานะการเงินของเราว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร
เทคนิค #1 เราออมเงินน้อยไปไหม?
จากที่เราพอเข้าใจไปแล้วว่า การมีเงินออมที่เป็นบวก ยิ่งมากก็ยิ่งดี เพราะไปกระทบทำให้เรามีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น เมื่อมีรายได้ คนที่มีวินัยทางการเงินจึงมักจะเก็บก่อนใช้เสมอ แต่ก็ต้องทำให้เรามีรายได้คงเหลือพอการใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตของเราด้วย ทั้งนี้จะรู้ได้ไงว่าเดือนๆ หรือในปีหนึ่ง เราออมน้อยไปไหม ผมมีสูตรให้ไว้ตรวจสอบดังนี้ครับ
อัตราส่วนการออม = (เงินออม / รายได้) x 100
มาตรฐานบอกว่า อยากเห็นอัตราส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 10% แต่เปอร์เซ็นต์มากกว่านี้ก็ได้ โดยหลักการแล้ว ตอนเราอายุน้อยๆ รายได้เราน้อย แต่มีค่าใช้จ่ายยังสูง อย่างน้อยออมได้ 10% ของรายได้ ก็ถือว่าเก่งแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราเติบโตขึ้น เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีรายได้สูงขึ้น แม้ว่าจะมีภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวสูงขึ้น แต่คนที่มีสุขภาพการเงินดีจะสามารถบริหารจัดการได้ และหากสามารถทำให้อัตราส่วนการออมนี้สูงกว่า 10% ไปมากๆ โอกาสที่จะมีความมั่งคั่งสูงขึ้นก็จะยิ่งมีมาก
เทคนิค #2 เราควรมีบัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉินขนาดมากน้อยเพียงใด?
ชีวิตคนเรามีโอกาสเผชิญกับเหตุการณ์ฉุกเฉินในชีวิตได้ตลอดเวลา เหตุการณ์หลายอย่างที่เป็นความเสี่ยงเหล่านี้ เช่น การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ อัคคีภัย สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและประกันวินาศภัย เพื่อช่วยโอนความเสี่ยงภัยได้โดยจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย ผมแนะนำว่าหากรายรับเราสูงกว่ารายจ่ายมากๆ ที่จะเหลือเป็นเงินออมไปสร้างความมั่งคั่ง เราอาจยอมจ่ายค่าเบี้ยประกันเหล่านี้ เพราะหากเกิดภัย เราจะได้ไม่ต้องดึงความมั่งคั่งของเราออกมาชดเชยจนหมด
แต่ในที่นี้ผมจะขอกล่าวถึงเหตุการณ์ฉุกเฉินในชีวิตที่เรามักจะไม่คาดมาก่อน เช่น น้ำท่วมบ้าน แล้วพอน้ำลด เราต้องซ่อมแซมบ้านด่วน หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์โรคระบาด และส่งผลต้องหยุดงานทันที หากเราไม่มีเงิน “รองรัง” เอาไว้บ้าง ก็จะเกิดความลำบากของครอบครัวในการใช้ชีวิตได้
ผมมีเทคนิคการคำนวณขนาดของเงินออมเผื่อเหตุฉุกเฉิน ดังสูตรต่อไปนี้ครับ
อัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐาน = (สินทรัพย์สภาพคล่อง/ค่าใช้จ่ายดำรงชีวิตต่อเดือน)
ค่าของอัตราส่วนนี้จะออกมาเป็นจำนวนเดือน ซึ่งอธิบายว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินตามที่อธิบายข้างต้น เราจะมีเงินที่จะนำมาดำรงชีวิตต่อไปได้กี่เดือน ซึ่งตามมาตรฐานกำหนดไว้ประมาณ 6 เดือน ตอนที่เกิดการล็อคดาวน์ประเทศ เนื่องจาก COVID-19 คนไทยจำนวนมากต้องตกงาน ขาดรายได้จนถึงขั้นต้องเข้ารับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ แม้เงินช่วยเหลือจะเป็นสิทธิ์ที่ประชาชนที่เดือดร้อนควรได้รับความช่วยเหลือ
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนว่า การเก็บออมของคนไทยอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป เงินออมที่จะคอยช่วยรองรับเผื่อเหตุฉุกเฉินคงจะมีระดับที่น้อยเกินไป ผมมีคำแนะนำว่าในอนาคตเมื่อกลับมาในสภาพปกติแล้ว มีรายได้และคุมรายจ่ายให้เกิดเงินออมแล้ว อย่าลืมแบ่งเอาไปเก็บในบัญชีเงินออมเผื่อเหตุฉุกเฉิน เช่น ถ้าเราคำนวณว่า รายจ่ายดำรงชีวิตต่อเดือนของเรา คือ 10,000 บาท แปลว่า เราควรมีการเก็บเงินออมก้อนนี้ประมาณ 60,000 บาท เอาไว้รองรับเผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น เมื่อครบแล้วก็พัหเอาไว้อย่าไปยุ่งหากไม่เกิดเหตุการณ์ หากเกิดภาวะฉุกเฉิน เราค่อยนำออกมาใช้วิธีการดังกล่าวนี้จะช่วยลดความเสี่ยง และเกิดความมั่นคงในชีวิตได้ดีกว่า
เทคนิค #3 เราจ่ายเงินชำระหนี้สูงเกินตัวไหม?
แม้ว่าชีวิตคนเราจะมีหนี้บ้างก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เช่น หนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เป็นต้น และเมื่อมีหนี้ก็ต้องใช้ บางชนิดให้เราผ่อนใช้ทั้งต้นทั้งดอก ปัญหาของคนก็คือ บางครั้งภาระการจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยสูงเกินไป คำว่าสูงเกินไป หมายถึง เมื่อเทียบกับรายได้ มีอัตราส่วนที่สามารถเอาไปไว้ใช้ตรวจสอบได้ดังนี้
อัตราส่วนภาระชำระคืนหนี้สิน = (รายจ่ายคืนหนี้สิน / รายได้) x 100
ในระดับมาตรฐาน เราควรมีอัตราส่วนนี้ไม่เกิน 40% ซึ่งหมายถึง เมื่อเรารับรายได้มา 100 บาท เราควรจ่ายค่าใช้จ่ายที่เป็นการชำระคืนหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกิน 40 บาท เนื่องจากในชีวิตของเรายังมีค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ อีก รวมทั้งการออมด้วย การที่จะไปก่อหนี้จึงจำเป็นต้องดูภาระการผ่อนชำระหนี้ทั้งของเดิมและของใหม่ว่า เราจะสามารถผ่อนชำระไหวหรือไม่ คนที่มีสุขภาพการเงินไม่ดี ก็มักจะมีภาระหนี้ที่ไปกู้มามากเกินไป และส่งผลต่อความสามารถที่จะจ่าย ถ้านำรายได้เกือบทั้งหมดไปจ่ายแล้วจะเหลืออะไรดำรงชีพ และเลี้ยงครอบครัวได้
สรุปแล้วควรควบคุมอัตราส่วนนี้ให้ดีนะครับ นอกจากจะพยายามไม่ให้เกิน 40% ของรายได้แล้ว เมื่อเราเติบโตขึ้น รายได้มากขึ้นและทยอยชำระหนี้ไปแล้ว อัตราส่วนดังกล่าวนี้ก็ควรลดลงต่ำลงเรื่อยในขณะที่เราอายุสูงมากขึ้น
เทคนิค #4 เรามีโอกาสจะรวยบ้างไหม?
ถ้าถามว่ามีอัตราส่วนที่ไว้ใช้ตรวจสอบว่า เรามีโอกาสจะรวยบ้างไหม ผมมีให้ 2 อัตราส่วนครับ
อัตราส่วนสินทรัพย์ลงทุน = (สินทรัพย์ลงทุน / สินทรัพย์รวม) x 100
ซึ่งมาตรฐานบอกว่าควรมีค่าอัตราส่วนมากกว่า 50% ขึ้นไป ในอัตราส่วนนี้สัมพันธ์กับสิ่งที่ผมเคยพูดไป คนไทยควรเรียนรู้วิธีการนำเงินออมไปสะสมสินทรัพย์ลงทุน มากกว่าเก็บไว้ในสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือนำมาแปลงเป็นสินทรัพย์ส่วนตัว เพราะมีโอกาสได้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่า ช่วยทำให้การสะสมความมั่งคั่งมีมากกว่าคนที่ไม่ทำการสะสม สัญญาณที่บอกว่า เรามีโอกาสจะรวยก็คือ ค่าอัตราส่วนนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุของเรา และหากมากกว่า 50% ได้เท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น
อัตราส่วนอิสรภาพทางการเงิน = (รายได้จากสินทรัพย์ลงทุน / รายจ่าย)
อัตราส่วนนี้สัมพันธ์กับอัตราส่วนสินทรัพย์ลงทุน เพราะใครที่สะสมสินทรัพย์ลงทุนได้มาก ก็มีโอกาสจะได้รายได้จากสินทรัพย์ลงทุนได้มากตามไปด้วย เมื่อใดก็ตามที่รายได้จากสินทรัพย์ลงทุน เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า เป็นต้น มีค่าสูงกว่ารายจ่ายตาม Lifestyle ของเรา หรือค่าอัตราส่วนนี้มีค่ามากกว่า 1 ก็จะสามารถสรุปได้ว่า คนผู้นั้นมีอิสรภาพทางการเงินเกิดขึ้น เพราะโดยนัยก็คือ สามารถนำสินทรัพย์ประเภทอื่น ที่ไม่ใช่ “คน” ออกหาผลตอบแทนได้เกินกว่าค่าใช้จ่าย ซึ่งโดยนัย สรุปได้ว่า จะไม่ทำงานก็ได้ แต่ถ้ายิ่งทำงานก็จะยิ่งได้รับทั้งคุณค่าจากรายได้การทำงานและขนาดของเงินออมก็จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย
หวังว่า 4 เทคนิคง่ายๆ นี้ จะช่วยทำให้ทุกท่านเห็นวิธีตรวจสอบสุขภาพทางการเงินด้วยตนเอง ว่าจะอยู่ในระดับใด และหาวิธีปรับปรุงให้ดีต่อไป เพื่อชีวิตในอนาคตจะได้เกิดความมั่นคงทางการเงินอย่างแท้จริง
รศ (พิเศษ) ดร. กฤษฎา เสกตระกูล, CFP®
ข่าวเด่น