การค้า-อุตสาหกรรม
เวทีระดมสมอง ฟื้นเจรจา FTA ไทย-EU เชื่อ จะช่วยเศรษฐกิจไทยโต แต่ต้องปรับตัว และมีประเด็นที่ต้องขบคิด


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเวทีระดมความเห็นต่อการฟื้นเจรจา FTA ไทย-EU ผู้เข้าร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เกษตรกร นักวิชาการ สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม กว่า 200 คน ผลการศึกษา ชี้ ! FTA ไทย-EU ช่วยเศรษฐกิจไทยขยายตัว โอกาสส่งออกสินค้าไทยไปอียูสูงขึ้น แต่ภาคการผลิตและภาคธุรกิจต้องปรับตัว และมีบางประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการจัดสัมมนาระดมความเห็น เรื่อง “ไทยพร้อมหรือยังที่จะฟื้นการเจรจา FTA ไทย-EU?” เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ ว่า สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (Institute of Future Studies for Development หรือ IFD) ได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัยประโยชน์และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับไทยจากการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (อียู) 27 ประเทศ (ไม่นับสหราชอาณาจักร) โดยการลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการทั้งของไทยและอียูในระยะยาวจะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้ถึง 1.28% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.05 แสนล้านบาท โดยคาดว่าการส่งออกจากไทยไปอียูจะสูงขึ้น 2.83% หรือ 2.16 แสนล้านบาท และการนำเข้าจากอียูสูงขึ้น 2.81% หรือ 2.09 แสนล้านบาท โดยสินค้าส่งออกของไทยมีโอกาสขยายตัว เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น

“สำหรับการเสวนาหัวข้อ โอกาสขยายตลาดการค้า หรือ ต้นทุนที่จะต้องจ่าย ผู้เข้าร่วมมีความเห็นว่า การฟื้นการเจรจา FTA กับอียู จะช่วยขยายตลาดการค้าและการลงทุนของไทย สร้างแต้มต่อทางภาษี และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยกับสินค้าส่งออกจากประเทศที่มี FTA กับอียู อาทิ สิงคโปร์และเวียดนาม แต่ไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น และพัฒนามาตรฐานและคุณภาพการผลิตสินค้าไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานของสินค้าในตลาดอียู สำหรับภาคประชาสังคมยังคงห่วงใยในเรื่องการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงยาและการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบเพื่อแก้ไขข้อห่วงกังวลและเตรียมการเจรจาอย่างรัดกุมต่อไป โดยกรมฯ จะนำผลการศึกษาและความเห็นที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้ เสนอระดับนโยบายเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางพัฒนากองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (FTA) ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นางอรมน เสริม
 

ในปี 2562 การค้าไทย-อียู มีมูลค่า 38,227.93 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 7.92% ของการค้าไทยกับโลก เป็นการส่งออกของไทยไปอียู มูลค่า 19,735.86 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้าจากอียู 18,492.07 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ สำหรับในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. – มิ.ย. 2563) มีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 16,233.49 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 8,506.39 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 7,727.10 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับผู้สนใจสามารถรับชมการสัมมนาฯ ย้อนหลัง และร่วมแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ Facebook กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ก.ย. 2563 เวลา : 16:30:13
17-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 17, 2025, 10:17 pm