การค้า-อุตสาหกรรม
'วีรศักดิ์' ปลื้ม! สินค้าโคเนื้อ-เกษตรอินทรีย์ไทยเนื้อหอม หนุนเกษตรกรอุบลฯ ใช้เอฟทีเอส่งออกไปตลาดโลก


‘วีรศักดิ์’ นำทีมพาณิชย์ลงพื้นที่อุบลราชธานี เล็งพัฒนาศักยภาพเกษตรกรโคเนื้อ-เกษตรอินทรีย์ พร้อมเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เน้นใช้นวัตกรรมและพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ผู้บริโภค ชี้อุตสาหกรรมโคเนื้อเป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลก หนุนใช้เอฟทีเอขยายตลาดส่งออก เชื่อสินค้าเกษตรไทยเข้มแข็ง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น 


นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 - 27 กันยายน ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อติดตามงานตามนโยบายกระทรวงพาณิชย์ ที่เน้นพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ให้เข้มแข็ง สามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหารือกับผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการกับศูนย์ฯ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปและอาหาร ที่สามารถจำหน่ายในตลาดอีสานใต้ได้ในราคาที่เพิ่มขึ้น 

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ ยังได้ร่วมหารือกับเกษตรกรโคเนื้อ และเยี่ยมชมศักยภาพของฟาร์มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มโคเนื้อคูเมือง อำเภอวารินชำราบ โดยได้สร้างความมั่นใจว่าอุตสาหกรรมโคเนื้อเป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลก ซึ่งอุบลราชธานีเป็นแหล่งเลี้ยงโคเนื้อ มากกว่า 300,000 ตัว และส่งออกไปตลาดสำคัญอย่างเวียดนามและกัมพูชา พร้อมทั้งแนะนำให้เน้นการผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ สร้างแปลงหญ้าหรือพืชอาหารชนิดอื่นเป็นของตนเอง เพื่อลดต้นทุนและสามารถควบคุมคุณภาพได้ 

นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์โนนกลาง อำเภอสำโรง ซึ่งเป็นต้นแบบของการรวมกลุ่มเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ มีผลผลิตหลากหลายชนิด เช่น ว่านหางจระเข้ ผักบุ้ง กวางตุ้งฮ่องเต้ สลัดใบแดง และคะน้า เป็นต้น โดยปัจจุบันสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาดกลุ่มคนรักสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าความเข้มแข็งของสินค้าเกษตร จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ให้ดีขึ้น 
 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เสริมว่า กรมฯ ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ดำเนินโครงการ “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อมุ่งเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี 13 ฉบับ ส่งออกไปตลาดคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ เช่น อาเซียน จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ได้ลดภาษีนำเข้าให้ไทยเหลือร้อยละ 0 เกือบทั้งหมด ยกเว้นอินเดีย คงเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 30 ประกอบกับสินค้าโคเนื้อและเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาดโลก จึงเป็นข้อได้เปรียบของไทยในการแข่งขันทางการค้า 

ทั้งนี้ ไทยส่งออกสินค้าโคมีชีวิตเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 6 ของโลก โดยในปี 2562 ไทยส่งออกโคมีชีวิตสู่ตลาดโลก 319 ตัน มูลค่า 189.33 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วงเดือน ม.ค.- ส.ค. 2563 ไทยส่งออกโคมีชีวิต 222 ตัน มูลค่ากว่า 127.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 12.55% คู่ค้าสำคัญของไทย ได้แก่ สปป.ลาว 93.71 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง 11.93%) เวียดนาม 15.83 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 1,541.63%) มาเลเซีย 6.77 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 10.93%) กัมพูชา 6.32 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 4,655.04 %) และเมียนมา 5.30 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 6,916.38%) ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกโคมีชีวิตของไทยในปีนี้เติบโตขึ้น เนื่องจากบางประเทศไม่สามารถนำเข้าโคเนื้อจากออสเตรเลียได้ จึงหันมานำเข้าจากไทยเพราะเชื่อมั่นว่าสินค้ามีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัย 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ก.ย. 2563 เวลา : 09:52:17
17-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 17, 2025, 10:15 pm