เอ็นไอเอ ประกาศผล ทีม Hyperm and CheckMate คว้ารางวัลชนะเลิศสุดยอดสตาร์ทอัพเกษตร (The Best AgTech Startup) และ Novy Drone ได้รางวัลชนะเลิศสุดยอดสตาร์ทอัพเกษตรขวัญใจมหาชน (The Popular AgTech Startup)) จากการร่วมโครงการ Inno4Farmers ในการจับคู่ 10 สตาร์ทอัพเกษตรสายดีพเทค หรือผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรเชิงลึกกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ 11 ราย เพื่อส่งต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ให้กับกลุ่มเกษตรกร และแก้ปัญหาของธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เอ็นไอเอ โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (ABC center) ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงประสานงานและขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมการเกษตร ได้ดำเนินโครงการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตรด้วยเทคโนโลยีเชิงลึก หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “Inno4Farmers” ซึ่งเป็นโปรแกรม Pre-acceleration เพื่อเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของไทย ให้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงในการพลิกโฉมการเกษตรโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเป็นโครงการแรกของไทยที่มีการร่วม co-creation ได้ร่วมทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร ที่ร่วมเป็นที่ปรึกษาแนะนำ พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหา(Pain Points) ของภาคเกษตรร่วมกัน เพื่อให้เกิดการต่อยอดเป็นลูกค้าคนแรกให้กับสตาร์ทอัพ หรือพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกันต่อไป ทำให้เกิดการขยายโมเดลการใช้งานจากธุรกิจส่งต่อไปยังเกษตรกรในเครือข่ายต่อไป
“ 10 สตาร์ทอัพเกษตรในที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการอย่างเข้มข้นเข้าร่วมโครงการ อยู่ในระยะเริ่มต้นที่มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่พัฒนาแล้ว พร้อมนำไปใช้งานและต่อยอดธุรกิจ ที่สำคัญคือ ต้องมีเทคโนโลยีเชิงลึกไปประยุกต์ใช้งานด้านการเกษตรใน 3 กลุ่ม ได้แก่ เทคโนโลยี Artificial Intelligent หรือ AI การใช้ Big Data, IoTและ Sensors รวมถึง หุ่นยนต์ (Robotics) และระบบอัตโนมัติ (Automation) จากนั้นมีจับคู่กับบริษัทพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการ 11 แห่ง เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาร่วมกัน โดยนำโซลูชั่นของสตาร์ทอัพไปพิสูจน์ทดลองการใช้งานจริง ในการตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาร่วมกัน”
ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือของเอกชนในครั้งนี้ถือว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เนื่องจากธุรกิจด้านการเกษตรขนาดใหญ่ในประเทศไทย ล้วนกำลังมองหาเทคโนโลยีเชิงลึกที่จะเข้ามาส่งเสริมระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงมองหานวัตกรรมที่จะช่วยลดความสูญเสีย และการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าที่ผ่านมา ดังนั้น NIA จึงได้ทำการจับคู่ (Co-creation) สตาร์ทอัพกับธุรกิจนวัตกรรมเกษตรทั้ง 11 ราย ตอบโจทย์ปัญหาของแต่ละธุรกิจ ประกอบด้วย 1) บริษัทบางซื่อโรงสีไฟเจียเม้งจำกัด และ 2)บริษัทสุนทรธัญทรัพย์จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจข้าว กับทีมสตาร์ทอัพ EASY RICE ผู้พัฒนาเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพข้าวด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ 3) บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจปศุสัตว์ กับทีมสตาร์ทอัพ HyPerm&CheckMate ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม AI สำหรับการตรวจวัดคุณภาพของตัวอสุจิ และตรวจจับภาวะเป็นสัดในปศุสัตว์ 4) บริษัท ทักษิณปาล์ม (2521) จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มครบวงจร กับทีมสตาร์ทอัพ Novy Drone อากาศยานไร้คนขับสำหรับการตรวจสอบป้องกันโรคและศัตรูพืช 5) บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ธุรกิจมันสำปะหลัง กับทีมสตาร์ทอัพ BSFR TECH เครื่องวัดปริมาณแป้งและคุณภาพของหัวมันสำปะหลังในแปลงปลูกแบบไม่ทำลายชนิดพกพา 6) บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำตาล กับทีมสตาร์ทอัพRodai Smart Farm เซ็นเซอร์วัดความชื้นในดินที่มีความแม่นยำสูงและทนทานต่อการใช้งาน 7) บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตข้าวโพดหวาน กับสตาร์ทอัพทีม OZT Robotics ผู้พัฒนาระบบ AI เพื่อตอบโจทย์ทางการเกษตร 8) บริษัทมานิตย์เจเนติกส์จำกัด ดำเนินธุรกิจฟาร์มสัตว์น้ำ กับทีมสตาร์ทอัพ Artificial anything เซ็นเซอร์แม่นยำสูงเพื่อตรวจสอบสารปนเปื้อนในของเหลวด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 9) บริษัทเอซีเคไฮโดรฟาร์มจำกัด ผู้ผลิตผักสลัด กับทีมสตาร์ทอัพ Energy of Thing ระบบประหยัดพลังงานไฟฟ้าสำหรับการเกษตร 10) บริษัท เกษมชัยฟู๊ดส์ จำกัดผู้ดำเนินธุรกิจฟาร์มเป็ดและไก่ กับสตาร์ทอัพทีมUpSquareระบบควบคุมการเลี้ยงไก่ไข่แบบอัตโนมัติ และ 11) ทีม Rim ระบบควบคุมและนำทางเรือรดน้ำไร้คนขับเพื่อการเกษตร ทดสอบในสวนขนาดใหญ่
นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือน กิจกรรมหลักของโครงการนี้ จะเร่งสร้างและยกระดับความสามารถของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ที่แก้ปัญหาด้านการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกผ่าน 3 กิจกรรมหลักได้แก่ 1) กิจกรรมการเรียนรู้ ที่จะปรับพื้นฐาน ตอบโจทย์ด้านต่างๆ ที่สตาร์อัพต้องการเสริมจุดแข็งและกำจัดจุดอ่อน 2) กิจกรรมการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้งด้านเทคโนโลยี สตาร์ทอัพด้านการเกษตรรุ่นพี่ และผู้ที่อยู่ในวงการสตาร์ทอัพ เพื่อให้คำแนะนำในการพัฒนานวัตกรรม ปรับมุมองของเทคโนโลยีและปรับรูปแบบธุรกิจให้นำมาใช้ในภาคเกษตรและสร้างโอกาสทางธุรกิจ และ 3) กิจกรรมการฝึกภาคปฏิบัติ เป็นการร่วมรังสรรค์ หรือ Co-creation โดยสตาร์ทอัพด้านเกษตรได้ลงมือทำงานจริงกับลูกค้าหรือบริษัทพันธมิตรทางธุรกิจ
ในวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาทาง เอ็นไอเอได้จัด Demo Day เพื่อให้สตาร์ทอัพได้นำเสนอผลงานการแก้ไขปัญหาทางการเกษตรในรูปแบบต่างๆ ต่อนักลงทุน หน่วยงานภาครัฐ บริษัท และพันธมิตรทางธรุกิจ เพื่อแสดงศักยภาพผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดผลจริงอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมแนวทางต่อยอดในอนาคต ได้ประกาศรางวัลชนะเลิศสุดยอดสตาร์ทอัพเกษตรที่มีการแก้ไขปัญหาที่ดีและพร้อมเติบโต (The Best Startup in AgTech Solutions & Growth Award) จาการตัดสินของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเกษตรและการลงทุน ได้แก่ Hyperm and ChekMate โดยเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการตรวจจับพฤติกรรมการเป็นสัดของปศุสัตว์ด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things; IoT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับภาวะเป็นสัดในปศุสัตว์ สำหรับในโคนมโดยมีความแม่นยำถึง 95% โดยใช้การวิเคราะห์และตรวจจับพฤติกรรมการเป็นสัดของโคนมเพศเมียโดยใช้หลักการเรียนรู้เชิงลึกในการวิเคราะห์สัญญาณที่บ่งบอกถึงอาการเป็นสัดของโค และตำแหน่งของโคนมคู่ที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ร่วมกับ แพลตฟอร์ม AI สำหรับการตรวจวัดคุณภาพของตัวอสุจิ ผลิตภัณฑ์น้ำเชื้อโคนมคัดคุณภาพพิเศษ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการคัดกรองเฉพาะตัวอสุจิที่มีชีวิต มีการเคลื่อนที่ดีและไม่เป็นอสุจิที่ผิดปกติ เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำเชื้อแช่แข็ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการผสมติดของโคนมเพศเมียให้เพิ่มมากขึ้น
และรางวัลชนะเลิศสุดยอดสตาร์ทอัพเกษตรขวัญใจมหาชน (The Popular AgTech Solutions & Growth Award) จากการตัดสินของผู้เข้าร่วมงาน ได้แก่ ทีม Novy Drone ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มาผนวกกับแนวคิดการพัฒนาโดรนทางการเกษตร ที่สามารถคิดริเริ่มและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นในการประยุกต์ใช้งานต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น โดรนรับบริการถ่ายภาพจากมุมสูง ทำแผนที่3มิติ ตรวจสอบเขตที่ดิน รับบริการบินโดรนขึ้นที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการได้ตอบโจทย์ที่สำคัญในการนับจำนวนต้นในแปลงการเกษตร เช่น ปาล์ม ยางพารา ผลไม้ ที่จะทำให้สามารถคำนวณผลผลิตในการวางแผนการตลาดได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น
“ทั้งนี้ สตาร์ทอัพด้านการเกษตร ยังมีจำนวนน้อยและยังขาดแนวทางการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ จึงหวังว่า “โครงการ Inno4Farmers ” จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างสตาร์ทอัพด้านเกษตรให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและเข้มแข็ง สร้างรูปแบบธุรกิจใหม่แบบ B2B ที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจเกษตรส่งต่อไปยังเกษตรกร เพื่อให้สตาร์ทอัพด้านการเกษตรสร้างนวัตกรรมบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่จะช่วยยกระดับก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเกษตรของประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว” นายธนารักษ์ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.thและ facebook.com/NIAThailand” และ facebook.com/ Inno4Farmers - The First AgTech Co-Creation Program
ข่าวเด่น