ตั้งแต่ต้นปี 2563 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายที่ส่งผลกระทบให้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความไม่แน่นอนและความผันผวนสูงขึ้นมาก ซึ่งสังเกตได้จากดัชนีชี้วัดความเสี่ยงหรือ volatility1 ของอัตราผลตอบแทน โดยในช่วงปลายเดือน ก.พ. 2563 นั้นค่า volatility ของ SET index ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 20-25% จากเดิมที่เคยอยู่ประมาณ 10-15% ซึ่งเป็นการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่สำคัญอื่นๆ (ภาพที่ 1)
ภาพที่ 1 ความผันผวนของ SET index เทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ
ที่มา: Bloomberg
เรื่องราว (theme) การลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำเพื่อลดความเสี่ยงของกลุ่มหลักทรัพย์ที่ลงทุน(portfolio) ได้รับความสนใจมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เนื่องจากมีความน่าสนใจอยู่หลายประการ เช่น การจัด portfolio ที่เน้นหุ้นที่มีความผันผวนต่ำนั้นมีลักษณะเป็น ‘rule-based’ ซึ่งกลยุทธ์นี้อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวิจารณญาณของผู้จัดการกองทุนในการเลือกหุ้น รวมถึงหลีกเลี่ยงอคติในการลงทุนที่เป็นข้อผิดพลาดโดยธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งการคัดเลือกหุ้นเข้า portfolio นั้นใช้ข้อมูลจากค่าความผันผวนในอดีตเท่านั้น อีกทั้งมีผลการศึกษาจำนวนหนึ่งพบว่ากลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำอาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในบางช่วงเวลาด้วย
การสร้างกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำนั้นไม่เพียงแต่คัดเลือกหุ้นที่มีความผันผวนต่ำเข้ามาอยู่ใน portfolio เท่านั้น แต่ยังให้น้ำหนักการลงทุนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นสำหรับหุ้นที่มีความผันผวนต่ำกว่าอีกด้วย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำให้ความผันผวนโดยรวมของกลุ่มหลักทรัพย์ที่ลงทุนมีค่าลดลงหรือต่ำกว่าความผันผวนโดยรวมของตลาด
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้พัฒนา เรื่องราว (theme) การลงทุนต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างเป็นดัชนีของ portfolio การลงทุนหลากหลายเรื่องราวการลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้และพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงในตลาดทุนไทย โดยใน SET Note ฉบับนี้จะขอนำเสนอ เรื่องราวการลงทุนที่เรียกว่า “SET Low Volatility” ที่ได้คัดเลือกหุ้นที่มีค่าความผันผวนต่ำที่สุด 40 ตัวในแต่ละช่วงเวลา และนำมาทดลองสร้างเป็นกลุ่มหลักทรัพย์เพื่อการลงทุน ซึ่งสะท้อนถึงแนวทางการลงทุนในสภาวะที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงแนวคิดการลงทุน กรอบระยะเวลาในการลงทุน หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ลงทุน รอบการปรับสมดุลกลุ่มหลักทรัพย์ที่ลงทุน รวมไปถึงการวัดผลการดำเนินงานของการลงทุน
SET Low Volatility: แนวทางการคัดเลือกหลักทรัพย์
หุ้นที่นำมาทดลองสร้างกลุ่มหลักทรัพย์เพื่อการลงทุน ต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้อย่างคล่องตัว เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (free-float) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้วของบริษัท มูลค่าการซื้อขายรายวันเฉลี่ยที่มากพอสมควร มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท รวมถึงมีการซื้อขายเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป
การลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Low Volatility ที่ทดลองสร้างขึ้น ได้คัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีผันผวนต่ำที่สุด 40 อันดับแรกในแต่ละช่วงเวลา และกระจายน้ำหนักการลงทุนโดยใช้วิธีการคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยส่วนกลับของความผันผวนซึ่งคำนวณจากค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของผลตอบแทนรายวันย้อนหลัง 1 ปี ของแต่ละหลักทรัพย์ ซึ่งการกระจายน้ำหนักการลงทุนโดยให้น้ำหนักการลงทุนสูง (ต่ำ) ในหุ้นความผันผวนต่ำ (สูง) เป็นแนวทางที่ใช้กันอย่างทั่วไปสำหรับการสร้างกลุ่มหลักทรัพย์เพื่อลงทุนหรือดัชนีที่ต้องการให้มีความผันผวนหรือความเสี่ยงโดยรวมต่ำกว่าตลาด2 นอกจากนี้ยังได้จำกัดน้ำหนักของแต่ละหลักทรัพย์ไม่เกินร้อยละ 10 ในทุกรอบที่มีการปรับสมดุล ซึ่งมีรอบระยะเวลาในการปรับทุกไตรมาส (quarterly rebalancing)
SET Low Volatility: การจัดกลุ่มหลักทรัพย์2และผลตอบแทนการลงทุน
การคัดเลือกหลักทรัพย์และการกระจายน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Low Volatility ได้ผลตามภาพที่ 2 ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีน้ำหนักสูงที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ประมาณ 70% ของกลุ่มหลักทรัพย์ ในขณะที่หลักทรัพย์ที่มีน้ำหนักมากที่สุด 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ มีสภาพคล่องสูง และกระจายตัวไปในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐานหรือธุรกิจที่ผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็นในการใช้ชีวิต โดยกลุ่มหลักทรัพย์ของ SET Low Volatility นี้มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างดี และหุ้นที่มีน้ำหนักสูงสุด 10 ตัวแรก มีสัดส่วนคิดเป็นเพียงประมาณ 33% ของทั้งหมด (ภาพที่ 3)
ในแง่ของการวัดผลตอบแทนรวมตามปีปฏิทินของการลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Low Volatility เปรียบเทียบกับดัชนีผลตอบแทนรวมของตลาด SET 100 Total Return Index (SET TRI) ดังที่แสดงในภาพที่ 4 (แกนซ้าย) พบว่า SET Low Volatility ให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงหรือมากกว่าในหลายๆ ปี ยกตัวอย่างเช่นในปี 2555 ผลตอบแทนรวมจากการลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Low Volatility เท่ากับ 47.54% ในขณะที่ดัชนี SET TRI มีผลตอบแทนรวมเท่ากับ 37.86% เป็นต้น
ผลตอบแทนของ SET Low Volatility ค่อนข้างมีความสม่ำเสมอในแง่ของผลตอบแทนส่วนเกินจากผลตอบแทนดัชนีอ้างอิง (Alpha) ซึ่งเป็นบวกถึง 8 ปีจาก 10 ปีย้อนหลัง ดังที่แสดงในภาพที่ 4 (แกนขวา) อีกทั้งในปีที่ดัชนีผลตอบแทนรวมของตลาดมีค่าติดลบ ( ได้แก่ ปี 2556, 2558, 2561 รวมถึง 2563(YTD)) การลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Low Volatility ยังให้ผลตอบแทนรวมที่สูงกว่าในทุกช่วงเวลาดังกล่าวอีกด้วย อาจจะพอชี้ให้เห็นว่า theme การลงทุนที่เน้นการลดความผันผวนสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในช่วงที่ตลาดมีความเสี่ยงในทิศทางขาลงได้
ภาพที่ 4 : ผลตอบแทนรวม (Total Return) และผลตอบแทนส่วนเกิน (Alpha) ตามปีปฏิทิน
หากวิเคราะห์ผลตอบแทนรวมแบบย้อนหลังตามช่วงเวลา พบว่า การลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Low Volatility
มีผลตอบแทนรวมใกล้เคียงหรือมากกว่าดัชนี SET 100 TRI ในหลายๆ ช่วงเวลาย้อนหลัง และที่สำคัญกว่านั้น เมื่อพิจารณาถึงค่าความเสี่ยงของผลตอบแทนหรือความผันผวนของผลการดำเนินงานต่อปี (SD) การลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Low Volatility มีค่าความเสี่ยงหรือ SD ที่ต่ำกว่า ดัชนี SET 100 TRI ในทุกช่วงเวลา (ภาพที่ 5) นอกจากนี้การลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Low Volatility มีอัตราส่วนระหว่างผลตอบแทนกับความเสี่ยงวัดจากค่า Adjusted Sharpe ratio (SRAdj)4 ที่ดีกว่าการลงทุนในดัชนี SET 100 TRI ในทุกช่วงเวลาอีกด้วย ซึ่งหมายถึงผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าต่อหนึ่งหน่วยความเสี่ยงจากการลงทุน เช่นใน 9 เดือนแรกของปี 2563 ที่ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 แต่ผลตอบแทนรวมของการลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Low Volatility อยู่ที่ -22.81% โดยมีค่าความเสี่ยง SD อยู่ที่ 30.65% ในขณะที่ดัชนี SET 100 TRI ลดลงอยู่ที่ -22.98% โดยมีค่าความเสี่ยง SD อยู่ที่ 34.97% จะเห็นว่าผลตอบแทนรวมของการลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Low Volatility นั้นให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพร้อมกับความเสี่ยงที่ต่ำกว่าจึงทำให้อัตราส่วน Adjusted Sharpe ratio ของ SET Low Volatility ดีกว่าดัชนี SET 100 TRI
ภาพที่ 5 : ผลตอบแทนรวม (Total Return) และความผันผวน (Standard Deviation) ย้อนหลังตามช่วงเวลา
ภาพที่ 6 : SET Low Volatility ผลตอบแทนรวม (Total Return) เปรียบเทียบกับดัชนี SET TRI
เมื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทนรวม (performance attribution) ย้อนหลัง 10 ปี (ภาพที่ 6) เปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัด พบว่า การลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET Low Volatility มีผลตอบแทนส่วนเกินจากผลตอบแทนดัชนีอ้างอิง (Alpha) เท่ากับ 57.92% โดยมาจากการจัดสรรเงินลงทุนตามกลุ่มอุตสาหกรรม (Allocation Effect) 32.62% ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนส่วนเกินมากที่สุด 5 อันดับแรก อาจจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
•กลุ่มที่ให้น้ำหนักมากกว่าน้ำหนักในดัชนีตลาด (over-weight) ได้แก่ ‘กลุ่มสาธารณูประโภค’ ‘กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ’ และ ‘กลุ่มอาหาร’ ซึ่งประกอบไปด้วย หลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจที่ผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็นในการใช้ชีวิต
•กลุ่มที่ให้น้ำหนักน้อยกว่าน้ำหนักในดัชนีตลาด (under-weight) ได้แก่ ‘กลุ่มพลังงาน’ และ ‘กลุ่มปิโตรเคมี’ ซึ่งประกอบไปด้วย หลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ใช้น้ำมันเป็นปัจจัยในการผลิตและอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำดัชนีการลงทุนที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกและแนวทางสำหรับ theme การลงทุนในรูปแบบต่างๆ และสอดคล้องกับพัฒนาการของตลาดทุน ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนที่หลากหลาย ทั้งนี้ theme การลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำนั้นถือเป็นตัวอย่างของ ‘rule-based investment’ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างแนวทางการลงทุนแบบ ‘active’ (การลงทุนโดยอาศัยวิจารณญาณของผู้จัดการกองทุนในการคัดเลือกหุ้นเพื่อแสวงหาผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาด) และ passive (การสร้างกลุ่มหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มีสัดส่วนสอดคล้องกับดัชนีอ้างอิง หรือ ‘benchmark’) โดย rule-based investment นี้ยังได้ผสานข้อดีระหว่างทั้งสองแนวทางข้างต้นเพราะได้นำ ‘ปัจจัย’ ที่ผู้จัดการกองทุนใช้ตัดสินใจในการลงทุนมาคัดเลือกหุ้นเข้า portfolio และได้ประยุกต์ใช้ข้อดีของสูตรการคำนวนหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการทำหน้าที่แทนผู้จัดการ
กองทุนในการปรับหุ้นเข้าออกจาก portfolio เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่ใช้วิเคราะห์ตามกรอบเวลาที่กำหนดโดยอัตโนมัติ
ใน SET Note ฉบับันี้ ได้นำเสนอ theme การลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ โดยใช้ volatility ของหุ้นรายตัวมาเป็นปัจจัยในการคัดเลือกหุ้นเข้าและออกจาก portfolio อย่างไรก็ตาม ‘rule-based investment’ สามารถใช้ปัจจัยอื่นมาพิจารณาในการสร้าง portfolio ได้เช่นกัน อาทิเช่น ผลการดำเนินงานของบริษัท มูลค่าของหลักทรัพย์ หรืออัตราส่วนทางการเงินต่างๆ สำหรับแบ่งกลุ่มและจัดลำดับหลักทรัพย์เพื่อสร้างเป็น theme ในการลงทุน นอกจากนี้ในยุคที่ข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ผู้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินจำนวนหนึ่งมีแนวโน้มใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปแบบ AI และ Machine Learning เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ และนำเสนอปัจจัยใหม่ๆ สำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผู้ที่สนใจดัชนีของกลุ่มหลักทรัพย์หรือการลงทุนที่สะท้อน theme ต่างๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นสามารถดูรายละเอียดและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่www.set.or.th/th/products/index/setindex_p1.html
จัดทำโดย
ฉัตรชัย ทิศาดลดิลก, ศิริยศ จุฑานนท์, พริษฐ์ เงาเบญจกุล
ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ข่าวเด่น