วิทยาศาสตร์
สดร. ชวนส่องดาวเคราะห์แดงอีกครั้ง 14 ตุลาคมนี้ ''ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์''


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดส่องดาวเคราะห์แดงอีกครั้ง 14 ตุลาคมนี้ “ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์” ปรากฏสีส้มแดง สุกสว่าง ทางทิศตะวันออก สังเกตด้วยตาเปล่าได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า เตรียมตั้งกล้องโทรทรรศน์ชวนประชาชนส่องพื้นผิวและขั้วน้ำแข็งอีกครั้ง ณ 4 จุด สังเกตการณ์หลักที่ เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา สงขลา ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย และจัดถ่ายทอดสดชมดาวอังคารแบบเต็มตาผ่านเฟซบุ๊คสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ


นายศุภฤกษ์  คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า ในวันพุธที่ 14 ตุลาคม 2563 ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Mars Opposition) หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคารจะเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ดาวอังคารจะโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกพอดี มีระยะทางห่างจากโลกประมาณ 62.7 ล้านกิโลเมตร ทำให้สามารถสังเกตการณ์ดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไป มองเห็นชัดเจนด้วยตาเปล่า ปรากฏสีส้มแดง สว่างสุกใส หากส่องผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะสังเกตเห็นพื้นผิวและขั้วน้ำแข็งได้
 
สดร. กำหนดจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวอังคารอีกครั้ง คืนวันพุธที่ 14 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ (081-8854353) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา และสงขลา รวมทั้งโรงเรียนเครือข่ายที่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์ 460 โรงเรียนทั่วประเทศ จึงขอเชิญชวนผู้สนใจมาร่วมสังเกตการณ์ดาวอังคารกันอีกครั้ง ส่องพื้นผิวและขั้วน้ำแข็งบนดาวอังคารผ่านกล้องโทรทรรศน์ รวมถึงวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจอื่น ๆ อาทิ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี ฯลฯ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังมี NARIT Facebook Live ถ่ายทอดสดดาวอังคารให้ชมแบบเต็มตา ผ่านทางเฟซบุ๊คสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARITPage) อีกด้วย
 
 
ในค่ำคืนดังกล่าว สดร. ยังเปิดให้เข้าชมนิทรรศการดาราศาสตร์และท้องฟ้าจำลองช่วงกลางคืน (Night at the museum) นิทรรศการชมฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับการเข้าชมท้องฟ้าจำลอง มีค่าธรรมเนียม : เด็ก 30 บาท ผู้ใหญ่ 50 บาท  สอบถามรอบฉายได้จากหอดูดาวภูมิภาคแต่ละแห่ง ดังนี้ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (081-8854353) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา (086-4291489) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา (084-0882264) และ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา (095-1450411)
 
ปกติแล้วดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกที่สุดทุกๆ ประมาณ 2 ปี 2 เดือน ในครั้งนี้ดาวอังคารเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา จากนั้นจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่จะถึงนี้ หลังจากนี้ดาวอังคารจะค่อยๆ ถอยห่างออกจากโลกไปเรื่อยๆ และจะเข้าใกล้โลกที่สุดอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2565 นายศุภฤกษ์กล่าวปิดท้าย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ต.ค. 2563 เวลา : 17:32:14
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:38 am