นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (Mr. Suthas Ruangmanamongkol, Group Chief Executive) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2563 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีแรงสนับสนุนมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ตามการผ่อนคลายของมาตรการปิดเมืองและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้ในไตรมาส 3/2563 เทียบกับไตรมาส 2/2563 เพิ่มขึ้น 21.2% อย่างไรก็ตาม หากเทียบผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2563 กับช่วงเดียวกันของปี 2562 ปรับตัวลดลง 14.2% หรือมีกำไรสุทธิ 1,612 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 4,427 ล้านบาท หรือลดลง 18.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน
“ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤต Covid-19 ในครั้งนี้มีความรุนแรง อาจต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมาฟื้นตัวในระดับปกติ ดังนั้น สิ่งที่ทิสโก้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ก็คือการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและบริหารจัดการความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพที่สุด โดยคุณภาพสินเชื่อเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังต้องติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง โดยสิ่งที่น่ากังวลจากนี้คือ การว่างงานและรายได้ที่ลดลง ที่อาจกระทบกับกำลังการใช้จ่าย ความสามารถในการชำระหนี้ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคตให้ยากลำบากขึ้น และเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้า ในไตรมาสนี้ทิสโก้จึงยังคงตั้งสำรองหนี้ในระดับสูงเช่นเดิม อย่างไรก็ดี ทิสโก้ยังคงดำรงอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่แข็งแกร่งที่ 22.6% พร้อมกับระดับเงินสำรองที่สูงมาโดยตลอด” นายสุทัศน์ กล่าว
สรุปผลประกอบการงานไตรมาส 3/2563 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2563
ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับไตรมาส 3 ปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,612 ล้านบาท ลดลง 14.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562 เป็นไปตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 โดยรายได้รวมลดลงเล็กน้อย แต่รายได้ค่าธรรมเนียมปรับตัวลดลงอย่างมากที่ 14.1% จากธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัยและค่าธรรมเนียมจากเงินให้สินเชื่อ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ลดลง สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) มีจำนวน 605 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีก่อนหน้า เป็นไปตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมีทิศทางที่ดีขึ้น จากการตั้งสำรองล่วงหน้าไปแล้วบางส่วน ตามมาตรฐานบัญชี TFRS 9
ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2563 กำไรสุทธิมีจำนวน 4,427 ล้านบาท ลดลง 18.1% เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2562 สาเหตุมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจจัดการกองทุนยังคงมีการเติบโตได้ดี ตามปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น และการออกกองทุนที่หลากหลายในสภาวะตลาดทุนผันผวน ในขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) สูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้า สะท้อนภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ 15.3%
สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 มีจำนวน 224,900 ล้านบาท ลดลง 1.4% จากไตรมาสก่อนหน้า จากการชะลอตัวของสินเชื่อทุกภาคธุรกิจตามภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังและเข้มงวดมากขึ้นตามความเสี่ยงที่สูงขึ้น ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.6% และมีระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) อยู่ที่ 196%
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 22.6% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.0% และ 4.6% ตามลำดับ
ข่าวเด่น