ม.อ. SME D Bank ก.อุตฯ และ วช.ผนึกกำลังจัดมหกรรม"BCG เศรษฐกิจใหม่ประเทศไทยยั่งยืนInnovation bazaar" ครั้งที่ 2 เสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทย นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ปรับตัวเข้าสู่โลกธุรกิจยุคใหม่ แถมหนุนนักลงทุนช้อปไอเดียจับคู่ธุรกิจ และเปิดเวทีรอบสุดท้ายเฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรม
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)หรือ SME D Bank กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมจัดมหกรรม "BCG เศรษฐกิจใหม่ประเทศไทยยั่งยืนInnovation bazaar" ครั้งที่ 2 ณ สำนักงานใหญ่ SME D Bank
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า งานดังกล่าว จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ ม.อ. ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำไปใช้ต่อยอดพัฒนาเป็นธุรกิจนวัตกรรม และปรับปรุงกระบวนการอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมระดับชาติและนานาชาติ สามารถปรับตัวเข้าสู่โลกธุรกิจยุคใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวเสริมว่า การจัดงานทาง ม.อ. จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ผ่านการพัฒนาและประกวดรอบคัดเลือก ในกลุ่มสุขภาพ(Health) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม(BCG) ผ่านกระบวนการ Hackathon จำนวน 12 ผลงาน มาจัดแสดงเพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้สนใจ มาเจรจาจับคู่ธุรกิจนำไปใช้ต่อยอดเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกันจะมีการจัดกิจกรรม“Innovation Pitching”เฟ้นหาสุดยอดผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่นจาก 12 ผลงานที่มาจัดแสดงในวันดังกล่าวด้วย
นอกจาก12 ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มาแสดงแล้ว ทาง ม.อ. ยังอีกผลงานวิจัยและนวัตกรรมอื่น ๆ ที่ผ่านการพัฒนามาแล้ว อีกกว่า 40 ผลงาน แสดงในเว็บไซต์ http://innobazaar.org ผู้สนใจสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ หรือติดต่อเจรจาจับคู่ธุรกิจ รวมถึงเป็นช่องทางในการนำเสนอแนวคิด (Innovation Market Place) เพื่อหาความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป
นอกจากนั้น ภายในงานยังมีกิจกรรมน่าสนใจอื่น ๆ ได้แก่ การบรรยายพิเศษ เรื่อง “Innovation ecosystem : Now or Never” อีกทั้ง การลงนามความร่วมมือระหว่าง ม.อ. กับหน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) และบริษัทเอวีเอสอินโนเวชั่นจำกัด โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการส่งเสริมนวัตกรรมประกอบด้วย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์องค์การมหาชน (TCELS) และหน่วยงานเอกชน เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด บริษัท เอสเคโพลีเมอร์ จำกัด บริษัท โสมาภาอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อประสานพลังผลักดันผลงานวิจัยให้ไปสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม
งานครั้งนี้นับเป็นปีที่ 2 หลังประสบความสำเร็จจากการจัดงานเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีผลงานนวัตกรรมเข้าร่วมทั้งหมด 53 ผลงานใน 5 Cluster ได้แก่ การแพทย์, เกษตรและประมง, อาหารเพื่ออนาคต, พลังงาน และดิจิตอล ไอโอที โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไปรวม 37 กิจการเข้าร่วมเจรจาธุรกิจ จำนวน 65 กรณี มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท และคาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท โดยมีตัวอย่างแห่งความสำเร็จจากการจัดงานเมื่อปีที่แล้ว เช่น ผลงานโพรไบโอติกส์เพื่อใช้ป้องกันฟันผุ , การบำบัดน้ำเสียจากแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนโดยกระบวนการทางชีวภาพ , ซาโมเนลลาแบคเทอริโอเฟจสำหรับป้องกันและฆ่าเชื้อซาโมเนลลาในสัตว์ปีกและสุกร เป็นต้น
นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในวันนี้ถือเป็นการผลักดันการเชื่อมโยงองค์ความรู้และงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ยกระดับการแข่งขัน และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคอุตสาหกรรมไทย โดยมีเป้าหมายดำเนินการในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวน 7ด้าน ได้แก่ด้านยางพารา ด้านปาล์มน้ำมัน ด้านอาหาร ด้านแพทย์ สปา และพืชสมุนไพร ด้านดิจิทัล ด้านโลจิสติกส์ และด้านการพัฒนาธุรกิจ SMEs โดยกรอบความร่วมมือ จะเป็นการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อผลักดันการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย รวมถึงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำมาประยุกต์ ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านผู้เชี่ยวชาญ การพัฒนาบุคลากร ตลอดจนสื่อทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ และจะเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เกิดประโยชน์ต่อวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศไทย 4.0 อย่างมีศักยภาพ
ด้านนางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank มีภารกิจหลักในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการเติมความรู้คู่เงินทุน ซึ่งการจัดมหกรรมครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรม ก่อประโยชน์ในการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกยุค New Normal ขณะเดียวกัน หากต้องการเงินทุน ทาง SME D Bank พร้อมสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำไปใช้ขยายปรับปรุงกิจการหรือเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจต่อไป
ข่าวเด่น