ลงทุนอย่างมั่นใจ พื้นฐานต้องรู้ ดูจังหวะเข้าออกให้เป็น
เนื่องจากสินทรัพย์ลงทุนที่จะให้คุณเข้าไปทำการลงทุน มีหลายประเภท ก่อนที่คุณจะต้องตัดสินใจเข้าไปซื้อหรือขาย คุณจำเป็นจะต้องแน่ใจว่า คุณเลือกของที่จะลงทุนได้อย่างถูกต้อง เป็นของดี ราคาเหมาะสม
และตอนที่คุณขาย ก็มีคนต้องการ ขายได้ไม่ขาดทุน ระหว่างการถือสินทรัพย์เหล่านี้ ก็ได้สร้างผลตอบแทนให้กับคุณได้อย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภท จะมีลักษณะเฉพาะต่างกัน ซึ่งจะต้องเรียนรู้กันต่อไป
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ และดร.กฤษฎา เสกตระกูล บอกว่า แต่ก็มีหลักการพื้นฐาน 2 ประการ ที่คุณควรรู้ก่อนการลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ตาม ได้แก่ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งทำให้เราสามารถวิเคราะห์ปัจจัยที่จะมีผลต่อสินทรัพย์นั้น ทั้งภายในและภายนอก เพื่อทำให้คุณเกิดความเชื่อมั่นในการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีได้อย่างมั่นใจ และการวิเคราะห์ทางเทคนิค ซึ่งเป็นเครื่องมือใช้บอกถึงจังหวะเข้าออกเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมในการซื้อขายสินทรัพย์ลงทุนนั้น
พื้นฐานต้องเรียนรู้
ในการลงทุนสินทรัพย์อะไรก็ตาม คุณต้องรู้หลักการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเกี่ยวกับสินทรัพย์นั้นซึ่งข้อมูลปัจจัยพื้นฐาน อาจสรุปได้ว่ามี 3 ระดับได้แก่ ข้อมูลระดับมหภาค ข้อมูลระดับอุตสาหกรรมและข้อมูลของ สินทรัพย์ลงทุนนั้นโดยตรง ดังรูปแสดงความสัมพันธ์ของข้อมูล 3 ระดับ ต่อไปนี้
หากลองประยุกต์ใช้กับกรณีตัวอย่างการซื้อบ้านจัดสรรเพื่อเก็งกำไรในอนาคต คุณจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ระดับ
ระดับมหภาค เราต้องดูว่าปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อภาพรวมของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ จะเป็นไปอย่างไร และจะส่งผลกระทบทางบวกหรือทางลบต่อสินทรัพย์ ที่คุณจะไปลงทุนอย่างไร
เช่น ในระยะสั้น คุณอาจคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกำลังจะถดถอย การซื้อบ้านจัดสรรในเวลานี้ อาจจะขาดทุนได้ เพราะราคาขายจะลดลง เพราะมีจำนวนบ้านจัดสรรออกมามากเกินไป การซื้อในตอนนี้และไปขายในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำอาจขาดทุนได้
ปัจจัยเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบทันที หรือในระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) ซึ่งคุณต้องคอยติดตามโดยตลอด นอกเหนือจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว ปัจจัยทางมหภาคอื่นๆ ก็ควรจะนำมาวิเคราะห์ด้วย เช่น โครงสร้างประชากรในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีประชากรสูงอายุมากขึ้น และต้องการที่พักอาศัยในเมืองมากขึ้น แต่ที่ดินมีจำกัด ดังนั้นในระยะยาว ความต้องการบ้านจัดสรรจะเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
ระดับอุตสาหกรรม กรณีตัวอย่างนี้คุณต้องวิเคราะห์ข้อมูลอุปสงค์และอุปทานของอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งรวมบ้านจัดสรรไว้ด้วย ด้านอุปสงค์เราต้องดูว่าโดยปกติผู้ซื้อบ้านใช้ปัจจัยอะไรบ้างในการซื้อบ้าน เพราะวันข้างหน้าเราก็ต้องขายให้กับผู้ซื้อคนอื่น ปัจจัยเหล่านั้น เช่น อัตราดอกเบี้ย ระดับเงินดาวน์และอื่นๆ เป็นอย่างไรในขณะนั้น และจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรในอนาคต
ในขณะที่ด้านอุปทานเราต้องดูว่าด้านบ้านจัดสรรมีมากเกินความต้องการหรือไม่ในภาพรวม และในแต่ละทำเล ต้นทุนการก่อสร้างเป็นอย่างไรในปัจจุบันหรืออนาคตการแข่งขันของหมู่บ้านในทำเลที่เราสนใจรุนแรงหรือไม่ และในอนาคตจะมีความเจริญเข้าถึงอย่างไร
ระดับสินทรัพย์ ที่คุณลงทุนการวิเคราะห์ข้อมูลระดับมหภาคและระดับอุตสาหกรรมนี้ ถือว่าเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลภายนอก ซึ่งอาจจะส่งผลทางลบหรือทางบวกต่อสินทรัพย์ที่คุณจะลงทุนว่ามีความน่าสนใจเพียงใด แต่ก็ยังไม่เพียงพอ คุณต้องวิเคราะห์ข้อมูลภายใน คือตัวสินทรัพย์ที่เราจะลงทุนด้วย
เช่นกรณีบ้านจัดสรรนี้ สมมติว่าคุณซื้อบ้านของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ A ก็ต้องวิเคราะห์ชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ มาตรฐานการสร้างของบริษัท A ต้องวิเคราะห์ทำเลที่ตั้งของบ้าน ความเจริญและโอกาสที่เติบโตในวันข้างหน้า ความสะดวกในการคมนาคม ความปลอดภัยจากอาชญากรรม สภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวก รูปแบบ และความแข็งแรงของบ้าน ฟังก์ชั่นการใช้สอย โอกาสการสร้างรายได้จากการเช่า ความคล่องตัวในกรขายต่อ ราคาของบ้าน เงินดาวน์และเงินกู้ที่ต้องใช้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ความสามารถในการผ่อนชำระเงินกู้ การคาดการณ์ราคาขายใสนอนาคต เป็นต้น
ในการวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานทั้ง 3 ระดับ อยากให้เห็นภาพว่า คุณอาจพบว่า มีทั้งปัจจัยทางบวกและทางลบที่เกิดขึ้นทั้ง 3 ระดับ แล้วคุณจึงค่อยนำมาประเมินในภาพรวมว่า ถ้าผลทางบวกมีมากกว่าก็เป็นข้อมูลสนับสนุนให้ตัดสินใจลงทุน
ทั้งนี้เรื่องการวิเคราะห์นี้เป็นศิลปะด้วย คงไม่สามารถนำจำนวนปัจจัยที่ส่งผลบวก มาเทียบกับจำนวนผลกระทบทางลบในเชิงปริมาณ เพราะความสำคัญและน้ำหนักของแต่ละปัจจัยอาจไม่เท่ากัน ซึ่งไม่สามารถอธิบายรายละเอียดในที่นี้ได้ ซึ่งคุณอาจไปหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานในการลงทุนได้
นอกจากนี้ คุณสามารถประยุกต์ใช้ได้กับการลงทุนในทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์การเงิน เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น แต่คุณอย่าลืมท่องไว้ว่า “พื้นฐานต้องรู้” ทั้งก่อนลงทุน ลงทุนไปแล้วหรือจะออกจากการลงทุนนี้ไปลงทุนอย่างอื่น
การดูจังหวะเข้าออกให้เป็น
คุณต้องใช้การวิเคราะห์ปัจัยพื้นฐานเข้ามาช่วยในการตัดสินใจลงทุน เพราะผลจากการวิเคราะห์ จะช่วยให้คุณพบสาเหตุว่า ทำไมสินทรัพย์นั้นถึงน่าสนใจเป็นของดี คุณจะมีเหตุผลมากขึ้นในการตัดสินใจ มีความมั่นใจมากขึ้น ที่จริงแล้วในการบวนการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ยังต้องตอบคำถามต่อด้วยว่า ของดีนั้นควรมีราคาเท่าไร เพื่อนำไปเทียบกับราคาตลาด และตอบว่า ของดีก็จริง แต่ราคาตลาดสูงเกินไปกว่าราคาจริง ก็ยังไม่ควรซื้อ และพยายามค้นหาของดีราคาถูกมีราคาตลาดต่ำกว่าราคาจริง
แม้ว่าคุณจะได้แนวทางในการซื้อหรือขายจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่คุณก็ต้องดูจังหวะด้วย เช่น ช่วงที่คุณได้ข้อสรุปจากการวิเคราะห์ ปัจจัยพื้นฐานว่า ควรขาย คำถามคือ ควรขายเดี๋ยวนี้ หรืออีก 1 ชั่วโมงข้างหน้า หรืออีก 2 วัน
จึงทำให้คุณต้องเรียนรู้หลักการที่ 2 คือ การวิเคราะห์ทางเทคนิค เพื่อช่วยสอนคุณให้รู้จังหวะเข้า (ซื้อ) หรือจังหวะออก (ขาย) การวิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นวิธีการศึกษาพฤติกรรมของผู้ซื้อผู้ขายสินทรัพย์ในตลาดผ่านกราฟราคาและปริมาณการซื้อขายในอดีต เพื่อทำนายแนวโน้มราคาของสินทรัพย์ในอนาคต โดยมีสมมติฐานว่าประวัติศาสตร์สามารถซ้ำรอยได้
ที่จริงแล้วการวิเคราะห์ทางเทคนิคมุ่งไปที่ผลสุดท้ายเลยว่าราคาของสินทรัพย์จะเปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งผลนี้ได้ดูดซับสาเหตุซึ่งมาจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมาแล้ว
การวิเคราะห์ทางเทคนิคเชื่อว่า การที่สินทรัพย์จะมีราคาขึ้นหรือลงในอนาคต ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน (ที่เป็นสาเหตุ) ว่าดีแค่ไหน และเหตุผลด้านอื่น ๆ เช่น จิตวิทยา เป็นความรู้สึก ข่าวลือ เป็นต้น
ส่วนผลสุทธิที่เกิดขึ้น จะเป็นตัวผลักดันให้อุปสงค์ (ด้านผู้ต้องการซื้อสินทรัพย์) และอุทาน (ด้านผู้ต้องการขาย) มีการเคลื่อนไหว ทำให้ราคามีการเปลี่ยนแปลงทิศทาง ซึ่งคุณสามารถใช้เทคนิคต่างๆ อธิบายและคาดการณ์ทิศทางของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งช่วยให้เราหาจังหวะเข้าซื้อ (เมื่อราคาลงมาต่ำสุด) หรือขาย (เมื่อราคาขึ้นไปสูงสุด) เพื่อแสวงหาต้นทุนการซื้อที่ต่ำ หรือขายที่ราคาสูง เป็นต้น
ผู้ลงทุนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเราใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคกับการลงทุนในหุ้นเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เลย คุณสามารถใช้หลักการนี้ประยุกต์ใช้กับการลงทุนในสินทรัพย์ทุกชนิด ถ้าเราทราบการเคลื่อนไหวของราคาและปริมาณซื้อขายในอดีตจนถึงปัจจุบัน ในเบื้องต้นหลักการสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคมีดังนี้
หัดสังเกตกราฟราคาและปริมาณการซื้อขาย
จากรูป เป็นกราฟราคาและปริมาณซื้อขายของหุ้นสามัญบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอดีต แกนนอนเป็นระยะเวลา แกนตั้งเป็นราคา และมีการแสดงปริมาณซื้อขายใต้กราฟราคาด้วย เพื่อให้ดูประกอบกัน ในบางช่วงราคามีแนวโน้มขึ้น และลง จนเห็นเป็นแนวโน้มได้ชัดเจนบางช่วงก็เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ ในช่วงที่หุ้นเป็นขาขึ้น ปริมาณซื้อขายก็จะดูหนาแน่นและสูง ส่วนกรณีราคาไม่ได้เคลื่อนไหวมากนัก แท่งปริมาณซื้อขายก็ไม่สูง เรียกว่าไม่คึกคักมากนัก
รู้จักแนวรับแนวต้าน
อันนี้เพราะราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวไปมา ถ้าเป็นขาลง ก็จะมีแนวรับคอยช้อนซื้อไว้เมื่อถึงระดับหนึ่งซึ่งผู้ซื้อ จะเห็นว่าตกลงมากแล้ว แล้วลงมาถึงจุดนี้ทีไรก็มีแรงดีดให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นทุกที ตรงนี้ก็กลายเป็น “แนวรับ” ในขณะที่เมื่อหุ้นขึ้นมาถึงราคานี้ทีไร ก็จะมีแรงขายดันออกมาให้ราคาตก เพราะจะมีผู้ขายที่เห็นว่าราคาสูงเกินไปก็ขายทำกำไรออกมา ดังนั้น ราคาหุ้นก็ผ่านจุดนี้ไปไม่ได้สักที จึงเรียกราคา ณ จุดนี้ว่า “แนวต้าน”
แต่บางครั้งราคาก็ทะลุแนวรับหรือแนวต้านได้ ซึ่งอาจจะเกิดจาดข้อมูลข่าวสารของปัจจัยพื้นฐาน หรือเกิดจากจิตวิทยาก็ตามที เช่น เมื่อลงไปที่แนวรับแล้วลงต่อไปอีก แนวรับนั้นก็กลายเป็นแนวต้าน ในทำนองเดียวกัน เมื่อขึ้นไปถึงที่แนวต้านกลับทะลุขึ้นต่อไปอย่างนี้ แนวต้านก็จะกลายเป็นแนวรับ
เทคนิคในการวิเคราะห์พอที่จะบอกคุณได้ว่า ตรงไหนเป็นแนวรับหรือแนวต้าน ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน เช่น คุณจะเข้าไปซื้อเมื่อราคาลกลงมาถึงแนวรับ ถ้าคุณเชื่อว่าจะผ่านแนวนี้ไปไม่ได้ และราคาจะดีดตัวสูงขึ้น ทำให้เมื่อเราขายจะทำกำไรได้ ในขณะที่เราจะเข้าไปขาย เมื่อราคาอยู่ ณ จุดแนวต้าน เพราะคาดว่าจะเป็นราคาสูงสุดในขณะนั้น จะทำให้คุณได้กำไรจากการขายได้
ไม่มีใครรู้อนาคต ดังนั้นการตัดสินใจของคุณอาจไม่ได้ผลอย่างที่คาด อาจจะเกิดการขาดทุนมากขึ้น หรือกำไรน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ก็ต้องบอกว่าทั้งการวิเคราะห์ทางเทคนิค และการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานไม่ได้การันตีว่าจะมีกำไรเสมอไป แต่ช่วยทำให้คุณตัดสินใจด้านการลงทุนอย่างมีหลักการมีเหตุผลเท่านั้น ดีกว่าเข้าไปซื้อขายแบบมั่วๆ
รู้หลักของเส้นแนวโน้ม
ในกรณีที่ต้องกำหนดจุดซื้อ จุดขาย คุณจะรู้ได้อย่างไรว่า ซื้อเมื่อใด ขายเมื่อใด นอกจากความรู้เรื่องแนวรับแนวต้าน และคุณต้องรู้เรื่องเส้นแนวโน้มด้วย ซึ่งมี 3 กรณีคือ เส้นแนวโน้มขึ้น (uptrend line) เส้นแนวโน้มลง (downtrend line) เส้นแนวโน้มเคลื่อนที่ไปข้างๆ (sideways)
เส้นแนวโน้มขึ้น เป็นสัญญาณบอกว่าราคาหุ้นกำลังขึ้น โดยพิจารณาจาก กราฟราคาและลากเส้นลากเส้นจากจุด 1 ไป 3 โดยให้ส่วนปลายเลยจุดที่ 3 ออกไป (uptrend line) หากราคาปรับตัวถึงจุดที่ 5 เป็นสัญญาณยืนยันของ Uptrend และหากราคาปรับตัวลงมาใกล้ Uptrend line อีกครั้ง ก็จะเป็นจุดในการตัดสินใจเข้าซื้อหุ้น เช่น จุดที่ 7 และอาจจะขายเมื่อราคาขึ้นไปถึงเส้นคู่ขนาน หรือถ้าเราเชื่อว่าจะขึ้นต่อไปอีกก็ยังไม่ขายก็ได้
เส้นแนวโน้มลง เป็นสัญญาณบอกว่าราคาหุ้นกำลังลง โดยพิจาณณาจากกราฟราคา และลากเส้นจากจุด 1 ไป 3 โดยให้ส่วนปลายเลยจุดที่ 3 ออกไป (downtrend line) ซึ่งเป็นจุดยอด ต่างจาก Uptrend line ที่เป็นจุดก้นบึ้ง จุดที่ 5 หากราคาหุ้นไม่สามารถข้ามเส้น Downtrend line ได้จะเป็นสัญญาณยืนยัน Downtrend line หากราคาปรับตัวขึ้นมาใกล้ Downtrend line อีกครั้ง ก็จะเป็นจุดในการตัดสินใจขายหุ้น
เส้นแนวโน้มเคลื่อนที่ไปข้าง ๆ เป็นสัญญาณว่า ราคาหุ้นจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะอาจไม่มีปัจจัยบวกหรือลบ มาทำให้ทิศทางเปลี่ยน จึงเคลื่อนตัวไปข้างๆ
Sideways มีลักษณะเคลื่อนไหวอย่างไม่มีทิศทาง ไม่ขึ้นอย่างเด่นชัดและไม่ลงอย่างเด่นชัด
Trend line กรณีที่เป็น Sideways จึงค่อนข้างราบเรียบขนานไปกับพื้นราบ ดังนั้นถ้าต้องการทำกำไรระยะสั้น อาจสั่งซื้อ ณ จุดที่ 6 และไปขาย เมื่อราคาไปแตะเส้นคู่ขนานด้านบน
เรียนรู้เครื่องมืออื่น ๆ ในการวิเคราะห์ทางเทคนิค
ในหลัก 3 ข้อที่ให้ไปถือว่าเป็นหลักพื้นฐาน ที่จริงแล้วมีเครื่องมืออีกหลายชนิดที่จะช่วยให้เราหาสัญญาณซื้อ หรือขาย หรือ แสดงสภาวะว่าควรเข้าไป หรือออกจากตลาด เช่น เครื่องมือที่บอกสัญญาณว่าแนวโน้มเดิมหมดไปแล้ว ราคาหลักทรัพย์กำลังกลับทิศที่เคยขึ้นกำลังจะลง หรือถ้าลงอยู่ก็กำลังจะขึ้น เครื่องมือนี้ เรียกว่า reversal patterns
ซึ่งมีเทคนิคย่อย ๆ อีกมากมาย หรือเครื่องมือบางชนิดบอกว่า ราคาหลักทรัพย์ยังอยู่ในแนวโน้มเดิม แต่กำลังพักตัว แล้วจะขึ้นหรือลงต่อไปตามแนวโน้มเดิม เครื่องมือนี้เรียกว่า continuous patterns หรือบางกรณีก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (moving average) เพื่อปรับราคาให้เรียบจะได้เห็นจุดตัดระหว่างราคาเฉลี่ยกับราคาจริง และค้นหาสัญญาณซื้อ หรือ ขายได้ เป็นต้น
เครื่องมือเหล่านี้ใช้ได้กับทุกสินทรัพย์ ถ้าท่านมีข้อมูลในอดีตเกี่ยวกับราคาและปริมาณซื้อขายสินทรัพย์ เพราะช่วยให้ท่าน ดูจังหวะเข้าออกในการลงทุนได้อย่างดี
ข่าวเด่น