กลุ่มเอแอลที รับอานิสงส์ยุค New Normal ประเมินยอดใช้แบนด์วิดท์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในภูมิภาคเติบโตก้าวกระโดด 35-40% ต่อปี ชูศักยภาพเหนือคู่แข่ง หลังทุ่มงบลงทุนกว่าพันล้าน สร้างโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงรองรับการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตทั้งในและต่างประเทศ เผยมีสถานีเชื่อมต่อมากที่สุดในประเทศ 15 จุดครอบคลุมรอบแนวพรมแดน
นายสมชาย ตรีรัตนนุกูล รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดและการขาย บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เกทเวย์ จำกัด (IG) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT ที่ประกอบธุรกิจให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม สำหรับการบริการวงจรสื่อสารความเร็วสูง และบริการชุมสายอินเทอร์เน็ตทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดเผยว่าการล็อคดาวน์ของประเทศต่าง ๆ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าความต้องการใช้แบนด์วิดท์เพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกตเวย์ในภูมิภาคนี้จะเติบโตประมาณ 35-40% ต่อปี สะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดเจนของยุค New Normal ที่มีผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตติดต่อกันนานขึ้นและมากขึ้นกว่าปกติ
นายสมชาย กล่าวต่อว่าบริษัทฯได้รับอานิสงส์โดยตรงจากความต้องการใช้แบนด์วิดท์เพื่อการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทฯเป็นผู้ให้บริการเช่าใช้โครงข่ายสื่อสัญญาณความเร็วสูงเพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในรูปแบบเป็นเกตเวย์ทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศอาเซียนผ่านการเชื่อมต่อทางเคเบิลใยแก้วนำแสงภาคพื้นดินที่บริษัทฯได้ลงทุนสถานีเชื่อมต่อไว้ 15 จุดรอบพรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สถานีเชื่อมต่อไทย-เมียนมาร์ 5 จุด ไทย-สปป.ลาว 5 จุด ไทย–กัมพูชา 2 จุด และ ไทย-มาเลเซีย 3 จุด
โดยบริษัทฯได้มีการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายสื่อสัญญาณความเร็วสูง (DWDM) ต่อยอดจากโครงข่ายเส้นใยแก้วนำแสงของกลุ่มบริษัท ALT และพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นระยะทางรวมกันกว่า 12,000 กิโลเมตร ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท
“บริษัทฯมีจุดการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุดในขณะนี้ ซึ่งหลังจากการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2561 เป็นต้นมาได้มีลูกค้าที่เป็นบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำและบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในภูมิภาคกว่า 20 รายมาใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 คิดเป็นแบนด์วิดท์รวม 260 Gbit/s ในปี 2562 มีแบนด์วิดท์รวม 470 Gbit/s และเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2563 ซึ่งขณะนี้มีการใช้งานแบนด์วิดท์รวมแล้วกว่า 1 Tbit/s (1,000 Gbit/s)” นายสมชาย กล่าว
อย่างไรก็ตามจากการที่จุดภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในจุดที่เหมาะสมกับการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนอินเทอร์เน็ต (Digital Hub) จึงทำให้ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม นิยมมาใช้ไทยเป็นจุดแลกเปลี่ยนหรือเป็นทางผ่านไปยังประเทศมาเลเซียสิงคโปร์ และบริษัทฯถือว่ามีความได้เปรียบคู่แข่งเนื่องจากกลุ่มบริษัท ALT ได้ลงทุนสร้างโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงไว้หลากหลายเส้นทาง แต่ละเส้นทางมีความปลอดภัยสูง และมีจุดเชื่อมต่อจำนวนมาก ทำให้บริษัทฯสามารถออกแบบโครงข่ายได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าและสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็วถึงแม้ว่าจะอยู่ในสภาวะการล็อคดาวน์
ข่าวเด่น