รองนายกและรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เตรียมถกประเด็นสำคัญผ่านระบบทางไกล ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ระหว่างวันที่ 10-15 พ.ย. นี้ หารือ RCEP โค้งสุดท้าย ทบทวนแผนงาน AEC การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) จัดทำกรอบฟื้นฟูหลังโควิด-19 พร้อมลงนาม MoU อำนวยความสะดวกสินค้าจำเป็น อาทิ อาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ประเดิมคุยสวิตเซอร์แลนด์สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (ดร.สรรเสริญ สมะลาภา) เข้าร่วมการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 10-15 พฤศจิกายนนี้ อาทิ การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 19 การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) และการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) เพื่อเตรียมการสำหรับผู้นำอาเซียนในการประชุมอาเซียนซัมมิท
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการประชุม AEC Council ครั้งที่ 19 เป็นการประชุมระดับสูงที่สุดของเสาเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานตลอดปีที่ผ่านมาของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อาทิ ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจที่เวียดนามในฐานะประธานอาเซียน ผลักดันให้สำเร็จในปีนี้ การทบทวนแผนงาน AEC ระยะครึ่งทาง การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) โดยในปีนี้ อาเซียนได้จัดทำกรอบฟื้นฟูและแผนดำเนินงานภายหลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากผู้นำเห็นชอบจะเริ่มดำเนินการตามแผนฯ ทันที
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ส่วนการประชุมเตรียมการของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยการดำเนินการมาตรการที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้าจำเป็น ภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของอาเซียนให้เข้มแข็ง เพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีสาระสำคัญ คือ หลีกเลี่ยงการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ที่ไม่จำเป็นและไม่สอดคล้องกับความตกลง WTO ในสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และกำหนดให้แจ้งมาตรการที่ประกาศใช้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่ง MoU ฉบับนี้จะมีอายุ 2 ปี และสามารถทบทวนได้ตามสถานการณ์ นอกจากนี้ จะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าสวิตเซอร์แลนด์เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสวิตเซอร์แลนด์
สำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ กับคู่เจรจา 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะหารือโค้งสุดท้ายก่อนการประชุมผู้นำอาร์เซ็ป ซึ่งความตกลงอาร์เซ็ปจะสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้าง ครอบคลุม และเป็นไปตามกฎกติกา รวมทั้งจะสร้างความแข็งแกร่งและรักษาความเชื่อมโยงให้กับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ทั้งนี้ ในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่ารวม 107,674 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 62,841 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 44,833 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับเดือน ม.ค. - ก.ย. 63 มีมูลค่าการค้ารวม 70,567 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 41,746 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 28,821 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ข่าวเด่น