การตลาด
สกู๊ป ''โออิชิ''เชื่อแนวโน้ม ''ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น'' ยังดี ลุยเปิดแบรนด์ ''ซาคาเอะ'' เสริมทัพ


แม้ว่าภาพรวมธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในปีนี้จะอยู่ในภาวะชะลอตัว  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ แต่ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นก็ยังถือว่าเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดีเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ  เพราะคนไทยยังมีความชื่นชอบวัฒนธรรม และอาหารญี่ปุ่น เห็นได้จากจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นที่เปิดให้บริการในประเทศไทยที่มีมากว่า 3,000 สาขา 

จากข้อมูลขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร กรุงเทพฯ ระบุว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2543 และมีการขยายตัวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าปีนี้ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับวิกฤตโรคโควิด-19  แต่สถิติการนำเข้าวัตถุดิบอาหารจากญี่ปุ่นยังคงมีสูงคิดเป็นอันดับ7 ของโลก โดยในปี 2562 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้าอาหารญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ  39,500 ล้านเยน  หรือคิดเป็นมูลค่าเงินไทยกว่า 1,300 ล้านบาท
 
นอกจากนี้  ยังพบว่ามีร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยเปิดให้บริการมากกว่า 3,637 ร้าน เพิ่มขึ้นจาก 3,004 ร้าน ในปี 2561  แต่จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรก ประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบอาหารจากญี่ปุ่นลดลง 4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 หรือคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 20,130 ล้านเยน หรือคิดเป็นมูลค่าเงินไทยประมาณ 671 ล้านบาท
 
ปัจจุบันตลาดธุรกิจอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3.9 แสนล้านบาท เติบโตลดลงประมาณ 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562  โดยขณะนี้ร้านอาหารญี่ปุ่นเปิดให้บริการในประเทศไทยทั้งสิ้น 3,697 สาขา เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีร้านอาหารญี่ปุ่น 3,637 สาขา  ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อแยกย่อยออกมาจะพบว่า ร้านอาหารที่เปิดสาขาใหม่ ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารที่อยู่ในต่างจังหวัด แสดงให้เห็นว่าแม้จะต้องเผชิญกับวิกฤตโรคโควิด-19 แต่ธุรกิจอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยก็ยังมีแนวโน้มสดใส
 
จากโอกาสของธุรกิจที่ยังมีอยู่ดังกล่าวส่งผลให้บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจที่จะเปิดให้บริการร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์น้องใหม่เข้ามาทำตลาด โดยเซ็กเมนต์ที่ให้ความสนใจเข้าไปทำตลาดในครั้งนี้ คือ ตลาดพรีเมียม  เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังมีกำลังซื้อที่ดี
 
 
นายไพศาล อ่าวสถาพร  รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปิดให้บริการร้านอาหารญี่ปุ่นภายใต้แบรนด์ “ซาคาเอะ”  เข้ามาทำตลาดในครั้งนี้ จะทำให้กลุ่มธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิ มีความหลากหลายและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกเซ็กเมนต์  เพราะแบรนด์ “ซาคาเอะ” เป็นแบรนด์ที่สำคัญที่จะนำมามาเติมเต็มพอร์ทโฟลิโอ ของกลุ่มธุรกิจอาหารในอาณาจักรร้านอาหาร เครือโออิชิ ในปัจจุบัน ด้วยสโลแกน รสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ หนึ่งเดียวของชาบู-ชาบู และ สุกี้ ญี่ปุ่น
 
สำหรับทำเลที่ โออิชิ เลือกเป็นทำเลยุทธศาสตร์ในการประเดิมร้านอาหารแบรนด์ “ซาคาเอะ” คือ  “ปาร์ค ไลฟ์” (Parq Life) โครงการอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ ยูส ของบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ จำกัด(มหาชน)  บริษัทในเครือของตระกูลสิริวัฒนภักดี ซึ่งถือเป็นโครงการที่ตั้งอยู่บนทำเลระดับ “พรีเมียม โลเคชั่น” ของถนนพระราม 4
 
นายไพศาล  กล่าวต่อว่า  การเปิดแบรนด์ “ซาคาเอะ” เข้ามาทำตลาดในช่วงนี้  เพราะมองเห็นโอกาสจากกลุ่มผู้บริโภคระดับบน ที่ยังมีกำลังซื้อสูง เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  และโดยส่วนตัวก็มองว่าแบรนด์ "ซาคาเอะ" เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ธุรกิจร้านอาหารที่มีอนาคต  เพราะเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับบน  โดยภายในปี 2564 บริษัทมีแผนที่จะเปิดแบรนด์ “ซาคาเอะ” อีกไม่ต่ำกว่า 5 สาขาในโครงการอสังหาริมทรัพย์ของเครือทีซีซีฯ 
 
จากการเปิดตัวแบรนด์ “ซาคาเอะ” เข้ามาทำตลาด ส่งผลให้ปัจจุบันธุรกิจอาหารในเครือโออิชิ มีความหลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เริ่มจากร้านอาหารบริการด่วน (QSR) ร้านอาหารระดับกลาง (Casual Dining) ร้านอาหารระดับบน (Fine Dining) รวมไปถึงบริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน (Home Delivery)ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ตลาดแมส (Mass)  ที่มีค่าใช้งบประมาณในการรับประทานอาหารต่อหัวเฉลี่ยไม่เกิน 500 บาท ตลาดพรีเมียมแมส (Premium Mass) ที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวเฉลี่ยประมาณ 700+ บาท  และกลุ่มพรีเมียม (Premium)  ที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1,000+บาท
 
 
นายไพศาล กล่าวอีกว่า  การเปิดตัว “ซาคาเอะ” ถือเป็นการเดินไปตามยุทธศาสตร์ของบริษัทที่ต้องการเสริมความแข็งแกร่งพอร์ตโฟลิโอให้กับกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น และขยายธุรกิจให้กว้างขึ้น ภายใต้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุก  โดยมี สปินออฟแบรนด์ (Spin-Off Brands) เป็นแกนสำคัญในการขยายธุรกิจ  เพื่อเพิ่มโอกาสการขาย และเข้าถึงผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม ซึ่งการเปิดตัวแบรนด์ “ซาคาเอะ”  เข้ามาทำตลาดถือเป็นการสร้างแบรนด์ใหม่ เจาะตลาดใหม่ เซกเมนต์ใหม่ และจับกลุ่มเป้าหมายใหม่  
 
ปัจจุบัน โออิชิ มีร้านอาหารในเครือรวมทั้งหมด 10 แบรนด์  แบ่งเป็น กลุ่มร้านอาหารระดับพรีเมียม 3 แบรนด์ ประกอบด้วย ซาคาเอะ 1 สาขา โฮวยู 2 สาขา และโออิชิ แกรนด์ 1 สาขา  กลุ่มอาหารพรีเมียมแมส 3 แบรนด์  ประกอบด้วย โออิชิ อีทเทอเรียม 9 สาขา โออิชิ บุฟเฟ่ต์  10 สาขา โออิชิ บุฟเฟ่ต์ 10 สาขา  และนิกุยะ  11 สาขา  กลุ่มร้านอาหารระดับแมส  3 แบรนด์ ประกอบด้วย  ชาบูชิ 158 สาขา  โออิชิ ราเมน 53 สาขา และคาคาชิ 22 สาขา   กลุ่มร้านขนม 1 แบรนด์ คือ โอโยกิ 2 สาขา  นอกจากนี้ ยังมีบริการจัดส่งอาหารถึงบ้านอีก 2 แบรนด์ คือ โออิชิ เดลิเวอรี่  และโออิชิ คิทเช่น 1 สาขา
 
 
อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2564 มีการปรับตัวดีขึ้นกว่าปีนี้  เชื่อว่า โออิชิ ต้องเดินหน้าขยายธุรกิจร้านอาหารทั้งแบรนด์เก่าและแบรนด์ใหม่เพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน เพื่อผลักดันให้ปี 2564 มีรายได้เติบโตดีกว่าปี 2563 ที่มีรายได้สะดุดไปบ้าง จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา (ต.ค. 2562 – มิ.ย. 2563) ธุรกิจร้านอาหารของโออิชิ มีรายได้อยู่ที่ประมาณ  3,766 ล้านบาท ลดลง 1,621 ล้านบาท หรือ 30.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากได้ผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้ว่าขณะนี้ผู้บริโภคชาวไทยจะกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบปกติ 100% แล้ว  แต่ในด้านของกำลังซื้อก็ยังคงมีความน่าเป็นห่วง เพราะทั่วโลกยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก 
 

LastUpdate 09/11/2563 17:39:29 โดย : Admin
08-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 8, 2024, 3:42 am