สำหรับการลงทุนแล้ว คุณอาจต้องใช้วิธีรอดูข้อมูล รอดูสถานการณ์ก่อนว่า จะเกิดอะไรขึ้น หลังจากนั้นแล้ว คุณค่อยตัดสินใจ แต่ขณะที่อีกหลายคน อาจใช้วิธีมองภาพรวมทางเศรษฐกิจและคาดการณ์อนาคต ว่าจะส่งผลอย่างไร จากนั้นจะวิเคราะห์เพื่อหาโอกาสในการลงทุนต่อไป
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ และคุณนารินทิพย์ ท่องสายชล มองว่า การมองหรือคาดการณ์ไปในอนาคตนั้น ข้อมูลสำคัญที่ควรพิจารณา คือ ตัวบ่งชี้หรือสัญญาณทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะวิเคราะห์และพยากรณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในอนาคตได้
ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน โดยการวิเคราะห์แบบบนลงล่าง (Top Down Approach) คือ เริ่มจากการมองภาพรวมทางเศรษฐกิจลงมาสู่ภาพรวมอุตสาหกรรม และลงมาที่บริษัทหรือหุ้นรายตัว
โดยตัวบ่งชี้หรือสัญญาณทางเศรษฐกิจ (Economic Indicator) ที่สำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนมีดังนี้
1. GDP Growth Rate
GDP (Gross Domestic Product) เป็นดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ที่บอกถึงการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศในแต่ละปีว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าใด โดยหาก GDP เป็นบวก
หมายความว่า เศรษฐกิจภาพรวมมีการเติบโตขึ้นจากปีก่อน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี ขณะเดียวกัน หาก GDP เป็นบวก แต่เป็นบวกที่น้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แสดงว่า เศรษฐกิจมีการเติบโต แต่เติบโตในระดับที่ช้าลงเรื่อยๆ
ในทางกลับกัน หาก GDP ติดลบ หมายความว่า เศรษฐกิจโดยภาพรวมมีการหดตัวจากปีก่อน บ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้นหยุดชะงัก หรือชะลอตัว
จะเห็นได้ว่า GDP คือ ค่าที่ใช้วัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงมีความสำคัญต่อนักลงทุนและการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน เพราะไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายเล็กหรือรายใหญ่ ย่อมอยากจะลงทุนในประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ดี มีเสถียรภาพ และมีการเติบโตที่มากกว่า ดังนั้น GDP จึงเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ที่สำคัญ
2. อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate)
ตัวเลขการว่างงาน ตัวเลขนี้ในภาพรวมยิ่งน้อยยิ่งดี เพราะแปลว่าคนมีงานทำ แต่ที่สำคัญกว่าตัวเลขที่มากหรือน้อย คือ แนวโน้มการว่างงานนั้นเพิ่มขึ้นหรือลดลง เช่น อัตราการว่างงาน อยู่ที่ 1% หากเป็น 1% ไปเรื่อยๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีแนวโน้มสูงขึ้น อาจเริ่มมีปัญหา
ทั้งนี้ อัตราการว่างงานที่ต่ำ ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่จะบอกว่า เศรษฐกิจของประเทศนั้น กำลังขยายตัวไปในทิศทางที่น่าพอใจเสมอไป โดยตัวเลขอัตราการว่างงานที่ต่ำ อาจตีความในอีกมุมหนึ่งได้ว่า เพราะหาแรงงานได้ยากมากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างประชากรของประเทศกำลังวิ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็เป็นได้
3. เงินเฟ้อ (Inflation Rate)
เงินเฟ้อเป็นตัวเลขที่บอกว่าโดยภาพรวมแล้ว สินค้าและบริการต่างๆ ราคาแพงขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ (%) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ถ้าตัวเลขนี้เป็นบวกแสดงว่าสินค้ามีราคาแพงขึ้น และถ้าตัวเลขติดลบแสดงว่าสินค้ามีราคาลดลง
ตัวเลขเงินเฟ้อนี้ ถ้าจะให้ดีและถือว่าเป็นภาวะปกติ ไม่มีผลเสียหายต่อภาวะเศรษฐกิจ ต้องเป็นเงินเฟ้อแบบอ่อนๆ ซึ่งข้าวของอาจแพงขึ้นได้นิดหน่อย แต่ก็ไม่เกิน 5% เพราะเงินเฟ้อแบบอ่อนจะทำให้มีการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจทางด้านการลงทุน การผลิต การจ้างงาน และรายได้ประชาชาติได้
หากเงินเฟ้อขยับสูงขึ้น จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่หักเงินเฟ้อออก หรือที่เรียกว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ปรับลดลง เนื่องจากดอกเบี้ยที่เราได้รับ จะนำไปใช้ซื้อของได้น้อยลง เช่น หากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1.5% ต่อปี ขณะที่เงินเฟ้อหรือราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 1% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงหรือผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับจริงๆ จะอยู่ที่ 0.5% ต่อปี
เงินเฟ้อจึงมีผลกระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุน ทั้งผลตอบแทนที่อยู่ในรูปของดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ดังนั้น หากลงทุนควรลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหรือชนะเงินเฟ้อ เช่น หุ้น กองทุนรวม ทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
4. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)
ทำโดยการสำรวจความเห็นของผู้บริโภคจากแบบสอบถาม ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างว่า มีความคิดเห็นอย่างไร ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น มุมมองต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างไร มองว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือแย่ลง หรือมุมมองต่อการบริโภค จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นหรือไม่
จากนั้นจะนำผลสำรวจมาคำนวณดัชนี ดังนี้
ดัชนี = 50 หมายถึง ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจทรงตัวจากเดือนก่อน
ดัชนี > 50 หมายถึง ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าเดือนก่อน และมีแนวโน้มที่จะบริโภคมากขึ้น
ดัชนี < 50 หมายถึง ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นเชิงลบต่อเศรษฐกิจกว่าเดือนก่อน และมีแนวโน้มที่จะบริโภคน้อยลง
ข้อดีของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค คือ จะทันเหตุการณ์ ช่วยให้มองไปในอนาคตได้ เพราะถ้าตัวเลขออกมาไม่ดี ก็พอจะมองเห็นแนวโน้มของเศรษฐกิจในอนาคต อย่างน้อยๆ ภายในระยะเวลาอันใกล้ได้
ส่วนข้อเสีย คือ มุมมองความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้เร็ว ดังนั้น ตัวเลขนี้จะสามารถบอกอนาคตได้ในระยะสั้นเท่านั้น
5. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment Index)
เป็นดัชนีที่ใช้ประเมินสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้ตัดสินใจดำเนินนโยบายทางการเงิน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ ณ ช่วงเวลานั้น เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นทางธุรกิจของผู้ประกอบการ ว่ามีความเชื่อมั่นเป็นอย่างไร กำลังกังวลต่อภาวะธุรกิจอยู่หรือไม่
โดยสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการจากแบบสอบถาม ไปยังกลุ่มตัวอย่างธุรกิจขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ใน 6 องค์ประกอบ ได้แก่ การผลิต คำสั่งซื้อ การลงทุน ต้นทุนการผลิต ผลประกอบการ และการจ้างงาน
ดัชนี = 50 หมายถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจทรงตัวจากเดือนก่อน
ดัชนี > 50 หมายถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้นกว่าเดือนก่อน
ดัชนี < 50 หมายถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจแย่ลงกว่าเดือนก่อน
6. ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (Private Investment Index)
ดัชนีนี้ใช้ติดตามภาวะและประเมินแนวโน้มการลงทุนของภาคเอกชน ดังนั้น จึงเป็นดัชนีที่สะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศ สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยมีองค์ประกอบ 5 รายการ ได้แก่ พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง ปริมาณจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง (ปูนซีเมนต์ คอนกรีต กระเบื้อง) การนำเข้าสินค้าทุน ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักร/อุปกรณ์ในประเทศ และปริมาณจำหน่ายยานยนต์เพื่อการลงทุน
สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะขยายตัวหรือหดตัวได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะเวลาที่ผู้ผลิตขายของได้ เนื่องจากเห็นว่าผู้บริโภคมีการซื้อของ ขณะที่สินค้าคงเหลือก็เหลือน้อยลง ผู้ผลิตก็มีแนวโน้มที่จะสั่งของมาผลิตเพิ่มขึ้น มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น
ในทางกลับกัน หากผู้ผลิตขายของไม่ได้ ผู้บริโภคไม่ซื้อหรือซื้อน้อยลง สินค้าคงเหลือมีมากขึ้น ผู้ผลิตจำนวนมากก็จะชะลอการผลิต อาจสั่งเครื่องจักร สั่งสินค้าน้อยลง ก็เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะโตช้าลง
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจต้องการดูข้อมูลหรือดูตัวเลขของตัวบ่งชี้หรือสัญญาณทางเศรษฐกิจตามที่กล่าวข้างต้น สามารถดูได้ในเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ยกเว้นตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ต้องดูในเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์
การดูตัวบ่งชี้หรือสัญญาณทางเศรษฐกิจ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งยังมีมิติการมองภาพรวมทางเศรษฐกิจลงมาสู่ระดับอุตสาหกรรม และลงมาระดับบริษัทหรือหุ้นรายตัว
ข่าวเด่น