รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนร่วมประชุมไตรภาคีแบบเปิดกว้าง กับรองประธานคณะมนตรีแห่งสมาพันธรัฐสวิส และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ การศึกษา และการวิจัย หารือการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 พร้อมเน้นใช้เทคโนโลยีพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียน ส่งเสริมนวัตกรรมให้ภาคธุรกิจและการมีส่วนร่วมในระบบการค้าดิจิทัล
ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เข้าร่วมการประชุมไตรภาคีแบบเปิดกว้างระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน รองประธานคณะมนตรีแห่งสมาพันธรัฐสวิส และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ การศึกษา และการวิจัย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19
ดร.สรรเสริญ สมะลาภา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายเป็นครั้งแรก โดยที่ประชุมได้ร่วมหารือในประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียน เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าในศตวรรษที่ 21 การส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง MSMEs เข้าถึงห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศ และมีส่วนร่วมในระบบการค้าดิจิทัลมากขึ้น
“ในส่วนของไทย ยินดีที่สวิตเซอร์แลนด์ให้การสนับสนุนโครงการของอาเซียน เช่น ความร่วมมือด้านแรงงานผ่านคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) ซึ่งความร่วมมือเป็นไปอย่างต่อเนื่องด้วยดี รวมทั้งได้แสดงความพร้อมสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสมาพันธรัฐสวิสต่อไป” ดร.สรรเสริญ เสริม
ทั้งนี้ ในปี 2562 สมาพันธรัฐสวิส เป็นคู่ค้าอันดับที่ 16 ของอาเซียน มีมูลค่าการค้า 25.09 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1.3% ของการค้าทั้งหมดของอาเซียน และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 17 ของไทย มีมูลค่าการค้า 8,922 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 5,295 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 3,627 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและชิ้นส่วน รถยนต์และอุปกรณ์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น เครื่องประดับ รวมถึงทองคำและเงินแท่ง นาฬิกาและชิ้นส่วน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เนื้อและส่วนต่างๆ ของสัตว์ที่บริโภคได้ เป็นต้น
ข่าวเด่น