เอสเอ็มอี
ฟิทช์ จัดอันดับเครดิต SME D Bank ระดับ ''AAA(tha)'' สูงสุดในประเทศ 8 ปีซ้อน


SME D Bank ได้รับจัดอันดับเครดิตจาก ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประจำปี 2563 อยู่ที่ “AAA(tha)” นับเป็นอันดับเครดิตสูงสุดภายในประเทศ ต่อเนื่อง 8 ปีซ้อน สะท้อนมีเสถียรภาพ และรัฐบาลพร้อมสนับสนุนเป็นกรณีพิเศษ อีกทั้ง ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทย โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจอ่อนแอจากผลกระทบของโควิด-19      


รายงานจาก บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศของ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank  ประจำปี 2563 อยู่ที่ “AAA(tha)” แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นอันดับสูงที่สุดสำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศ  และคงอันดับเครดิตระยะสั้นที่ “F1+(tha)” สะท้อนมุมมองของฟิทช์ ว่า  SME D Bank มีโอกาสสูงจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในกรณีที่มีความจำเป็น โดยพิจารณาจากบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการจากธนาคารพาณิชย์ได้เพียงพอ โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอ

ทั้งนี้ อันดับเครดิตภายในประเทศยังสะท้อนถึงสถานะทางกฎหมายของธนาคาร ซึ่งก่อตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติเฉพาะเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาล และเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อีกทั้ง ยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล และมีสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรงจากกระทรวงการคลังถึง 98.9%

รัฐบาลให้การสนับสนุน SME D Bank โดยการชดเชยดอกเบี้ยและชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากหนี้เสียสำหรับสินเชื่อภายใต้โครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี  อีกทั้ง กระทรวงการคลังสนับสนุนเพิ่มทุนให้ต่อเนื่อง รวมถึงให้การค้ำประกันหุ้นกู้ของ SME D Bank  ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของ SME D Bank  ในช่วงภาวะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย SME D Bank มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งการเลื่อนชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึง ให้เงินกู้ฉุกเฉิน
 

ด้าน นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า  การได้รับจัดอันดับเครดิตที่ ‘AAA (tha)’ ต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2563 หรือ 8 ปีซ้อนมาแล้ว  สะท้อนให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพเครดิตของ   SME D Bank และการมีบทบาทสำคัญในเชิงนโยบายต่อรัฐบาลตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งธนาคารตามกฎหมายให้เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อการพัฒนาเอสเอ็มอี  

ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น SME D Bank  ยิ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นกลไกของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่ได้รับผลกระทบ ผ่านมาตรการเติมความรู้คู่ทุน  โดย SME D Bank สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ช่วยเสริมสภาพคล่อง รักษาการจ้าง เช่น  “สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash”   ครอบคลุมช่วยเหลือทุกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งทางตรง และทางอ้อม อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 2 ปีแรก  ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน   และ “สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน”  นิติบุคคล  อัตราดอกเบี้ย เพียง 2.875%ต่อปี นาน 3 ปีแรก  และบุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ย เพียง 4.875%ต่อปี นาน 3 ปีแรก   ควบคู่กับมีมาตรการเติมความรู้เพิ่มศักยภาพ ยกระดับธุรกิจ ขยายตลาดใหม่ โดยเฉพาะผ่านอีคอมเมิร์ซ  ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง ช่วยให้เอสเอ็มอีเพิ่มรายได้ และสามารถปรับตัวก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปได้ด้วยดี

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 พ.ย. 2563 เวลา : 16:23:04
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 6:43 pm